เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง
ผู้ช่วยเลขาฯ คณะกรรมการด้านการขนส่งฯ สภาผู้บริโภคย้ำข้อเรียกร้องให้รื้อระบบตรวจสอบสภาพรถใหม่เพื่อเรียกความไว้วางใจจากประชาชนและเปลี่ยนรถที่มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุออก พร้อมผลักดันสัญญาจ้างฉบับสภาผู้บริโภคให้กระทรวงศึกษาฯ นำไปบังคับใช้ เพื่อกันปัญหารถไม่ได้คุณภาพ
จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เกิดเหตุไฟไหม้บนถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคจัดแถลงข่าวและมีข้อเรียกร้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 5 ข้อ คือ
1. ยกเลิกการใช้งานรถโดยสารสองชั้น
2. เพิ่มวงเงินประกันภัยให้มากขึ้นเป็น 30 ล้านบาท
3. รถโดยสารทุกคนต้องไม่มีอุปกรณ์ที่ติดไฟได้
4. รื้อระบบตรวจสอบสภาพรถ
5. เสนอให้กระทรวงศึกษาฯ ใช้สัญญามาตรฐานในการจัดจ้างรถโดยสารที่ทางสภาจัดทำ
เมื่อวานนี้ (3 ตุลาคม) คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องการให้มีการรื้อระบบการตรวจสอบสภาพรถใหม่ทั้งหมด เนื่องจากกระบวนการตรวจสภาพรถในปัจจุบันไม่โปร่งใสมากพอจนทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ
“มีการฮั้วกัน มีการยอมกัน ตรวจจริงไม่จริง ตรวจด้วยตาเปล่า บางครั้งก็ตรวจผ่านๆ ไป หรือตอนไปตรวจก็เอาอุปกรณ์ครบ ตรวจเสร็จก็เอาอุปกรณ์ออก หรือแม้แต่เคสล่าสุดซึ่งเขาจดทะเบียนไว้ว่ามีถังแก๊สแค่ 3 ถัง แล้วทำไมถึงมี 11 ถัง ตอนตรวจทำไมไม่พบ ตอนไม่ตรวจทำไมมีเพิ่ม” คงศักดิ์กล่าว
คงศักดิ์กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ทางสภาฯ เห็นตรงกันคือควรจะมีการปรับเปลี่ยนรถที่มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดอุบัติเหตุอย่างรถโดยสารสองชั้น “รถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงมากกว่ารถชั้นเดียวถึง 6 เท่า แล้วในแต่ละปีช่วงหลังมานี้รถสองชั้นเกิดอุบัติเหตุมาตลอด แม้จะน้อยครั้ง แต่เวลาเกิดเหตุทีก็มีความรุนแรงเยอะ เพราะฉะนั้นมันถึงเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านแล้วไหม เช่นยกเลิกแล้วให้รัฐบาลมีนโยบายให้เปลี่ยนเป็นรถชั้นเดียวได้หรือไม่”
ผู้ช่วยเลขาฯ คณะกรรมการด้านการขนส่งฯ กล่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ทางสภาฯ ได้นำสัญญาจ้างขนส่งผู้โดยสารของสภาผู้บริโภคไปเสนอแก่กระทรวงศึกษาฯ เพื่อเกิดการบังคับใช้ในการจัดจ้างรถสำหรับการทัศนศึกษา โดยสัญญานี้จะเป็นเครื่องมือคัดกรองผู้ให้บริการที่มีคุณภาพและจะช่วยให้ผู้ว่าจ้างได้รถและคนขับที่เข้ากับความต้องการ
คงศักดิ์กล่าวว่า ในบางพื้นที่อาจยังไม่สามารถใช้สัญญาจ้างนี้ได้ เนื่องจากเนื้อหามีความครอบคลุมเกินไปจนไม่มีผู้ให้บริการคนไหนสามารถทำตามได้ “ถ้าเรามีเครื่องมือที่ดีแบบนี้แล้ว หน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงคมนาคมก็ต้องร่วมกันยกระดับพัฒนารถที่จะมาให้บริการด้วย คือมันไม่ใช่แค่มีเครื่องมืออย่างเดียวแล้วทุกอย่างจะโอเค แต่มันต้องมีความร่วมมือจากส่วนอื่นด้วย”
คงศักดิ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ต้องเสนอการเพิ่มวงเงินประกันภาคบังคับให้สูงขึ้นเป็น 30 ล้านด้วย เพราะต้องการให้มีเงินมากเพียงพอสำหรับกรณีที่รถโดยสารขนาดใหญ่และมีจำนวนคนเยอะเกิดอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงมาก เพื่อไม่ให้ญาติผู้เสียชีวิตต้องเฉลี่ยเงินค่าประกันจนไม่สามารถรับเงินเต็มจำนวนที่ควรจะได้รับ “ในอดีตเคยมีเคสที่วงเงินไม่พอ แล้วยิ่งเหตุการณ์ในช่วงหลังที่รถก็ใหญ่ขึ้น คนนั่งเยอะขึ้น เกิดเหตุแต่ละครั้งรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งมาครั้งนี้ก็อีกเช่นเดียวกัน เราจึงคิดว่าข้อเสนอนี้ควรถูกนำไปทบทวนอีกครั้ง”
ผู้ช่วยเลขาฯ คณะกรรมการด้านการขนส่งฯ กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดครอบครัวผู้เสียชีวิตก็ควรจะได้เงินขั้นต่ำจากเงินประกันภาคบังคับ รวมถึงถ้าหากทำประกันภาคสมัครใจก็ควรจะได้รับมากกว่านั้น “อย่างน้อยถ้าคุณเสียชีวิตจากรถโดยสารสาธารณะคุณก็ต้องได้ 5 แสน อันนี้โดยหลักการนะ ซึ่งเราไม่อยากให้ใครได้หรอก แต่โดยหลักการก็ต้องได้ 5 แสน หรือหากทำประกันภาคสมัครใจด้วยอย่างน้อยก็ต้องได้ 1 ล้าน”