เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย และ สิทธิเดช สายพัทลุง
รถตู้สาธารณะที่ให้บริการที่มธ. 6 ใน 10 คันไม่ผ่านมาตรฐานของกรมขนส่งทางบก ทั้งไม่มีถังดับเพลิงภายในรถ เข็มขัดนิรภัยใช้งานไม่ได้ และไม่มี GPS สำหรับติดตามตำแหน่ง ด้านรองอธิการฯ ศูนย์รังสิตเผยว่า การตรวจครั้งล่าสุดไม่ได้ตรวจรถตู้ทั้งหมดเนื่องจากปัญหาด้านกำลังคน แต่สามารถช่วยกันส่งเรื่องร้องเรียนได้ และพร้อมจะแจ้งกับทางกรมขนส่งเพื่อให้แก้ไขทันที ส่วนเรื่องการสุ่มตรวจครั้งถัดไปยังไม่มีกำหนด ด้านนายท่ารถตู้เสริมนอกจากประเด็นสภาพรถแล้ว อยากให้ตรวจเรื่องสารเสพติดของคนขับด้วย
.
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 23 รายจนเกิดคำถามถึงความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะอื่นๆ รวมถึงรถตู้โดยสารประจำทางที่ให้บริการภายในพื้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (อมธ.) ร่วมกับกองบริหารศูนย์รังสิต ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยภายในรถตู้โดยสารที่ท่ารถตู้โดยสารภายในมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองบรรณาธิการ Varasarn Press ได้สุ่มลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของรถตู้โดยสารประจำทางและอุปกรณ์ฉุกเฉินระหว่างวันที่ 8 ต.ค. จนถึง 15 ต.ค. 2567 บนรถตู้จำนวน 10 คัน (สาย ต.85 อนุสาวรีย์ชัยฯ 3 คัน, สาย ต.118 BTS หมอชิต 3 คัน และสาย 1008 ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต 4 คัน) พบว่า มีรถที่ไม่มีถังดับเพลิงหรือมีจำนวนน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด(ไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง) จำนวน 6 คัน มีรถที่มีเข็มขัดนิรภัยแต่ไม่สามารถใช้งานได้ 2 คัน ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานรถโดยสารของกรมการขนส่งทางบก
ผู้สื่อข่าวรายงานต่ออีกว่า การตรวจสอบตำแหน่งจีพีเอสของรถตู้จากแอปพลิเคชัน DLT GPS ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับติดตามตำแหน่งของรถโดยสารสาธารณะโดยใช้ทะเบียนรถ ในจำนวนนี้มีรถ 5 คันที่ไม่สามารถติดตามตำแหน่งได้ และมี 1 คันที่เมื่อนำทะเบียนไปติดตามตำแหน่ง กลับพบว่าในแอปพลิเคชันแสดงตำแหน่งของรถคันอื่น ไม่ตรงกับทะเบียนรถจริง
ธีร เจียศิริพงษ์กุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิต มธ. กล่าวว่า การตรวจครั้งล่าสุดเป็นเพียงการตรวจแบบสุ่ม ซึ่งไม่สามารถตรวจดูได้ครบทุกคันเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องกำลังคนที่เข้าไปตรวจ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด แต่นักศึกษาสามารถช่วยร้องเรียนกับทางกองบริหารศูนย์รังสิตได้ แล้วทางกองบริหารฯ จะแจ้งปัญหานี้กับทางกรมการขนส่งอีกที
“มหาลัยไม่มีกฎระเบียบสำหรับบังคับใช้ มหาลัยเพียงจัดหารถซึ่งรถต้องได้มาตรฐานตามขนส่ง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน เราก็จะรายงานไปที่ขนส่ง ส่วนเขาจะดำเนินการยังไงต่อไปอันนี้ไม่สามารถการันตีได้ แต่อย่างมากสุดคือเราสามารถสุ่มตรวจคันเดิมที่ถูกแจ้งไปได้” ธีรกล่าวและว่า ยังไม่สามารถบอกกำหนดการสุ่มตรวจครั้งถัดไปได้ในตอนนี้ เพราะจำเป็นจะต้องพูดคุยกับทีมงานก่อน แต่จะพยายามทำให้เร็วที่สุด
ด้านจิตติมา รู้คุณ นายท่ารถตู้สาย ต.118 (มธ.ศูนย์รังสิต – BTS หมอชิต) ฝั่งมธ. กล่าวว่า ในด้านของผู้ประกอบการจะมีการตรวจสภาพรถเป็นประจำจึงไม่ห่วงอะไร แต่ที่ยังมีความกังวลอยู่คือเรื่องสารเสพติด
“เรื่องยาเสพติด อยากให้มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานไหนก็ได้ ไม่เกี่ยงว่าของทางมหาวิทยาลัยหรือกรมการขนส่งทางบกมาสุ่มตรวจยาเสพติดช่วงเช้าก่อนที่คนขับรถตู้จะเริ่มนำรถออกวิ่ง เพราะว่าช่วงเช้าคนขับจะต้องมารวมตัวกันที่วินก่อนเริ่มออกให้บริการ” จิตติมากล่าว
บรรณานุกรม
รถโดยสารมาตรฐาน 2 (จ), กรมการขนส่งทางบก, เรียกใช้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 จาก https://inspect.dlt.go.th/web-upload/173x1e9b24be8d9e68f41fdefd25bab9384b/tinymce/406-7f91711d0f4a1f5e7e305bdff80a96a1/%E0%B8%A1-2(%E0%B8%88).pdf