ArticlesSocietyWritings

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ

ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ

สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ‘The L Word’ ซีรีส์ว่าด้วยเลสเบียนโดยแท้นั้นเหมาะกับเธออย่างยิ่ง จนฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าในชีวิตจริงตัวนักแสดงเองคงต้องมีประสบการณ์ไม่ต่างจากตัวละครนัก ถึงได้ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก สีหน้า และแววตาออกมาได้ “so lesbian” ขนาดนี้

‘Jennifer Beals’ ฉันพิมพ์ชื่อของเธอผู้เป็นนักแสดงลงบนเสิร์ชเอนจิน ปรากฏข้อมูลพื้นฐานทั้งอายุ วันเกิด ประวัติการศึกษา ผลงานที่ผ่านมา ชื่อพ่อชื่อแม่ ชื่อสามี และลูก 1 คน…ช็อก เธอคงเป็นนักแสดงที่ดีจริงๆ จนทำให้ผู้ชมอย่างฉัน ‘คิดเอาเอง’ ว่าเจ้าตัวน่าจะเป็นเลสเบียนอย่างตัวละคร

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความคิดของฉันก็เริ่มเปลี่ยนไป ความคิดที่ว่าตัวละครเกย์ต้องแสดงโดยเกย์เท่านั้น แม้ในทางกลับกัน ผู้ชมบางส่วนทั้งต่างประเทศและไทยยังคงเรียกร้องให้ตัวละครเกย์ต้องแสดงโดยเกย์อยู่

บทเกย์กับอัตลักษณ์ทางเพศของนักแสดง

เบื้องหน้าของอุตสาหกรรมสื่อภาพเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบ มีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศปรากฏตัวอยู่ไม่น้อย แต่เบื้องหลัง เราแทบไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักแสดงเหล่านั้นคิดเห็นอย่างไรกับการแสดงบทบาทเหล่านี้

หลายครั้งเราอาจเห็นนักแสดงสเตรทที่รับบทเกย์ บางคนสวมบทบาทออกมาได้ดี แต่บางคนก็ไปไม่รอดสักเท่าไร จนผู้ชมตั้งคำถามว่า โลกนี้ไม่มีนักแสดงที่ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละครเหรอ ทำไมจึงไม่นำนักแสดงเกย์มารับบทเกย์จริงๆ 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้คนเข้าใจและเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น นักแสดงสเตรทที่เข้ามารับบทบาทเกย์เลยมักถูกจับจ้องว่าจะสร้างภาพจำไม่ดีผูกติดกับความเป็นเกย์ หรืออาจเข้าใจตัวละครเกย์เหล่านั้นได้ไม่ดีเท่านักแสดงที่เป็นเกย์จริงๆ…หรือเปล่า 

นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมซีรีส์ Yaoi (ชาย-ชาย) ในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว แจ้งเกิดให้นักแสดงชายหน้าใหม่จำนวนมาก ต่อมาในปี 2565 กระแสซีรีส์ Yuri (หญิง-หญิง) ก็เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน จนอาจเรียกได้ว่าไทยเป็นฮับของ ‘สื่อวาย’ (Yaoi-Yuri) เกิดกลุ่มแฟนคลับทั้งไทยและเทศ กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินจำนวนมาก

แม้ในจำนวนนักแสดงเหล่านั้น มีน้อยคนมากที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ แต่อุตสาหกรรมสื่อวายก็ยังเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งอาจเพราะความต้องการของผู้ชม รวมถึงได้รับการผลักดันจากหลายภาคส่วน ดังนั้น จะมองได้ไหมว่ามันคงไม่ได้ผิดอะไร หากนักแสดงจะใช้ความสามารถของตนมารับบทบาทเหล่านี้ และเป็นไปได้ไหมว่าอัตลักษณ์ทางเพศของนักแสดงอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อการแสดงบทบาทเกย์ แต่อยู่ที่การทำความเข้าใจตัวละครและถ่ายทอดเรื่องราวออกมาอย่างพิถีพิถันมากกว่า…หรือเปล่า

สเตรทก็รับบทเกย์ได้นะ

แม้ในไทยเราอาจไม่ค่อยได้ยินนักแสดงซีรีส์วายให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมองต่อบทบาทการแสดงมากนัก แต่ในต่างประเทศ กลับได้เห็นนักแสดงที่รับบทบาทเกย์ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้กันอยู่บ่อยๆ

ผมบลอนด์ ตาสีฟ้า เสียงทุ้มต่ำของ ‘Cate Blanchett’ เลสเบียนไอคอนชาวออสเตรเลีย เคยกล่าวไว้ในงาน Rome Film Festival 2018 ว่า “ฉันจะสู้สุดใจเพื่อสิทธิที่จะทำให้ผู้ชมเชื่อ และเพื่อแสดงบทบาทที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของฉัน” เธอเคยแสดงบทบาทเลสเบียนในภาพยนตร์อย่าง ‘Carol’ (2015) และ ‘Tár’ (2022) ซึ่งได้รับและเข้าชิงรางวัลมากมาย แม้ว่าเธอจะเป็นสเตรทที่แต่งงานและมีลูกแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้กระทบกับการแสดงมากฝีมือในบทบาทเกย์เลยสักนิด

รวมถึง Jennifer Beals นักแสดงสเตรทที่แสดงบทบาทเลสเบียนใน The L Word ได้ดีมากๆ ระบุว่า แม้เธอจะไม่ได้ทำการบ้านเกี่ยวกับ ‘การเป็นเลสเบียน’ มากนักในช่วงแรกที่รับเล่น แต่เธอก็ทำความเข้าใจกับอาชีพ นิสัย และความสัมพันธ์ของตัวละครเช่นเดียวกับที่ทำเมื่อรับบทบาทอื่น โดยเธอเล่าในรายการ ‘The Meredith Vieira Show’ ปี 2015 ว่า ซีรีส์เรื่องนี้ได้เปิดประตูให้เธอรู้จักโลกของเลสเบียน และทำให้เธอได้เป็นตัวกลางสะท้อนเรื่องราวของเลสเบียนผ่านสื่อกระแสหลักมากขึ้น ครั้งหนึ่งเธอเคยได้จดหมายจากแฟนคลับ “เด็กผู้หญิงเขียนมาขอบคุณซีรีส์ เพราะเธอได้เปิดตัวว่าเป็นเกย์กับที่บ้านและเพื่อนๆ และมันไม่มีอะไรแย่เลย” เธอพูดอย่างซึ้งใจ

นักแสดงทั้ง 2 คนนี้แสดงให้เห็นว่า แม้อัตลักษณ์ทางเพศของนักแสดงจะไม่ตรงตามตัวละคร แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะแสดงบทบาทเกย์ไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี

ในขณะที่ นักแสดงรุ่นเก๋าอย่าง ‘Tom Hanks’ เจ้าของบทบาท Gump ชายไอคิวต่ำในภาพยนตร์เรื่องดัง Forrest Gump (1994) กลับเห็นต่างออกไปหน่อย เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The New York Times ไว้ในปี 2022 เกี่ยวกับการแสดงบทบาททนายที่ถูกไล่ออกเพราะเป็นเกย์และเป็นเอดส์ ในเรื่อง ‘Philadelphia’ (1993) ว่า ทุกวันนี้ไม่มีนักแสดงสเตรทคนใดมีโอกาสได้เล่นบทบาทเกย์อย่างที่เขาเคยเล่นได้อีก และมันก็ควรเป็นเช่นนั้น “ตอนนี้เราไปไกลกว่านั้นแล้ว และผมไม่คิดว่าผู้คนจะยอมรับที่ให้สเตรทแสดงเป็นเกย์ได้อีก” เพราะในโลกปัจจุบัน ผู้คนต้องการให้นักแสดงเกย์รับบทบาทตัวละครเกย์มากกว่า แต่ก็ไม่ถึงกับกีดกันนักแสดงสเตรทที่จะมารับบทบาทเหล่านี้

ตัวละครก็คือตัวละคร 

ที่ผ่านมา ฉันไม่ได้มีแรงดึงดูดอยากดูหนัง ดูซีรีส์เพราะนักแสดงชายเท่าไร ยกเว้นซีรีส์อยู่เรื่องหนึ่ง จำได้ว่าตอนนั้นน่าจะกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา ก่อนนอนฉันเปิดโทรทัศน์ช่องโปรดดูเป็นปกติ วันนั้นมีซีรีส์เรื่องใหม่มาแทน เปิดตัวด้วยหนุ่มหล่อ (มาก) คนหนึ่ง ตาสีฟ้า สันกรามคมชัดพร้อมกับหนวดบางๆ ผมสีบรูเน็ตต์ถูกจัดทรงอย่างไม่เป็นทางการนัก ในชุดสูทสวมพอดีตัว ชายคนนี้รับบทเป็นโจรหนุ่มพราวเสน่ห์และมากความสามารถที่ทำงานให้ FBI และใช้ความหล่อหลอกจับโจร (โจรจับโจร) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาฉันติดซีรีส์เรื่องนี้งอมแงม นั่งรอดูอยู่หน้าโทรทัศน์ทุกๆ คืน

เขาน่าจะเป็นนักแสดงชายคนแรกที่ฉันตกหลุมรัก

แต่ไม่ใช่ เขาคือนักแสดงเกย์คนแรกที่ฉันตกหลุมรักต่างหาก

‘Matt Bomer’ คือโจรคนนั้นจากซีรีส์ ‘White Collar’ เขารับบทนักแสดงนำได้ดีตลอด 6 ซีซัน จับคนดูอย่างฉันไว้อยู่หมัด จนต้องกลับมาดูอีกครั้งตอนขึ้นมหาวิทยาลัย ความรู้สึกต่างออกไป เมื่อรู้ว่าเขาเป็นเกย์และแสดงบทบาทที่ต่างไปจากชีวิตจริงออกมาได้อย่างมืออาชีพ มันมากกว่าแค่ความหล่อหรือไม่หล่อ แต่มันคือความสามารถทางการแสดงที่ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครออกมาได้อย่างแพรวพราว

นี่คงพอจะบอกได้ว่า ไม่ใช่แค่สเตรทที่เล่นบทเกย์ได้ แต่เกย์ก็เล่นบทสเตรทได้เช่นกัน เพราะเหตุผลสำคัญก็คือ พวกเขาเป็น ‘นักแสดง’

‘Luke Evans’ นักแสดงที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ ให้สัมภาษณ์กับ The Telegraph ในปี 2022 ว่า เขาไม่เห็นด้วยว่านักแสดงต้องรับบทที่ตรงกับเพศของตัวเองเท่านั้น “ในมุมมองของผม อย่างแรกเลย ผมคงไม่มีเส้นทางอาชีพอย่างทุกวันนี้ หากเกย์ต้องเล่นแต่บทเกย์ และสเตรทต้องเล่นแต่บทสเตรท” 

สำหรับเขา สิ่งสำคัญสุดที่จะทำให้คนคนหนึ่งได้ทำงาน คือความสามารถ โชค และจังหวะเวลา ไม่ใช่เรื่องอื่น 

แล้วตอนนี้ไทยเป็นอย่างไร

ย้อนกลับมามองที่ไทย อาจพูดได้เต็มปากว่าต่างจากฝั่งตะวันตกและอเมริกาอยู่มาก เพราะเราไม่ค่อยได้เห็นนักแสดงสื่อวายออกมาพูดถึงประเด็นเหล่านี้อย่างจริงๆ จังๆ เว้นเสียแต่จะเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตที่มีการพูดถึงเพียงเล็กๆ น้อยๆ เหตุผลหนึ่งอาจเพราะคนไทยบางกลุ่มชอบดราม่า บางอย่างผิดก็ว่าไปตามผิด แต่บางอย่างให้ความรู้หรือคำแนะนำกันได้ ก็กลับไปจอดรถทัวร์ลงเสียก่อนอย่างนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากนักแสดงหน้าใหม่จะระวังทุกคำพูดจนแทบไม่พูดอะไรเลย อย่าว่าแต่ประเด็นที่ค่อนข้างซับซ้อนเช่นนี้

นอกจากนี้ ที่นักแสดงในไทยยังไม่ค่อยเปิดตัวอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งอาจมาจากความคาดหวังของแฟนคลับกับกระแสที่อาจลดลง หากได้ทราบว่าคู่จิ้นที่ตนใฝ่ฝันไม่ใช่คู่จริง หรือไม่มีทางเป็นคู่จริงได้ 

อย่างในกรณีของ ‘ฟรีน – สโรชา จันทร์กิมฮะ’ นักแสดงสาวจากซีรีส์เรื่อง ‘ทฤษฎีสีชมพู’ (2022) ซึ่งจุดกระแสซีรีส์ Yuri ในไทย เกิดกลุ่มแฟนคลับทั้งไทยและเทศ จนกระทั่งมีข่าวเรื่องความสัมพันธ์กับนักแสดงชาย และแม้อีกฝ่ายจะออกมาชี้แจงว่าหลังจากเกิดเหตุ พวกเขาก็โฟกัสเรื่องงานเป็นหลัก แต่กลับมีแฟนคลับบางส่วนรู้สึก ‘ผิดหวัง’ และรู้สึก ‘โดนหลอก’ จากคอนเทนต์โปรโมตซีรีส์คู่กับ ‘เบ็คกี้ – รีเบคก้า อาร์มสตรอง’ ที่ชวนให้เหล่าแฟนคลับคิดไปไกล แม้ทั้งคู่จะพูดเสมอว่าเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ‘ฉันพี่น้อง’ ก็ตาม

ทั้งสองกลับมาแสดงร่วมกันอีกในซีรีส์แนวย้อนยุคเรื่อง ‘ปิ่นภักดิ์’ (2024) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลักดันสินค้าและบริการไทยสู่สากล หรืออีกนัยหนึ่งคือใช้ซีรีส์ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เช่น อาหารชาววัง เพื่อสร้างการรับรู้และเม็ดเงินเข้าประเทศ 

การสนับสนุนนี้เอง มีส่วนทำให้โปรดักชันของซีรีส์ออกมาสวยงาม และอาจมองได้ว่าเป็นการดันเพดานอุตสาหกรรมสื่อวายให้สูงยิ่งขึ้น ในอีกมุมหนึ่ง การกลับมาร่วมงานกันของทั้งสองในซีรีส์ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากรัฐด้วยแล้ว เราอาจมองได้ว่า องค์ประกอบเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของนักแสดงอาจเป็นปัจจัยรอง คือไม่ต้องคำนึงถึงมากเท่ากับความสามารถด้านการแสดงและกระแสตอบรับของผู้ชม

เมื่อนักแสดงมีหน้าที่ ‘แสดง’ ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครให้ผู้ชมรู้สึกตาม…ไม่ใช่ถ่ายทอดเรื่องราวส่วนตัวพวกเขาเอง ดังนั้นนอกจากอัตลักษณ์ทางเพศของนักแสดงแล้ว ผู้ชมก็ควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นด้วย เพราะบางทีเพศอาจไม่สามารถการันตีความสามารถทางการแสดงได้

และเมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็ถูกแล้วไม่ใช่หรือ ที่ตัวละครเกย์ไม่ต้องแสดงโดยนักแสดงเกย์เสมอไป 

อ้างอิง

BBC. (20 ตุลาคม 2018). Cate Blanchett defends straight actors playing LGBT roles. เข้าถึงได้จาก bbc: https://www.bbc.com/news/newsbeat-45926322

Entertainment Weekly. (15 มิถุนายน 2022). Tom Hanks says he couldn’t do Philadelphia today as a straight man — ‘and rightly so’. เข้าถึงได้จาก ew: https://ew.com/movies/tom-hanks-couldnt-do-philadelphia-today-straight-actor/

Windy City Times. (22 ตุลาคม 2012). HRC gala honors Jennifer Beals, 2012 Ally for Equality. เข้าถึงได้จาก windycitytimes: https://windycitytimes.com/2012/10/22/hrc-gala-honors-jennifer-beals-2012-ally-for-equality/

The Meredith Vieira Show. (19 กันยายน 2015). Jennifer Beals on The L Word, Proof & Her Clothing Line. เข้าถึงได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=MZmlqbQV5A4

OUT. (21 พฤศจิกายน 2023). Matt Bomer Turned Down Barbie to Land Role on Fellow Travelers. เข้าถึงได้จาก out: https://www.out.com/gay-entertainment/matt-bomer-ken-barbie-reasons

OUT. (21 พฤศจิกายน 2023). Matt Bomer Turned Down Barbie to Land Role on Fellow Travelers. เข้าถึงได้จาก out: https://www.out.com/gay-entertainment/matt-bomer-ken-barbie-reasons

People. (3 พฤศจิกายน 2022). Luke Evans Says He ‘Wouldn’t Have Had a Career’ If Gay Actors Could Only Play Gay Roles. เข้าถึงได้จาก people: https://people.com/movies/luke-evans-says-he-wouldnt-have-a-career-if-he-could-only-play-gay-characters/

THE STANDARD. (9 กันยายน 2024). ปิ่นภักดิ์ ละมุนละไมเหมือนเทพนิยาย ซีรีส์ยูริไทยกับความตั้งใจส่งออก Soft Power. เข้าถึงได้จาก thestandard: https://thestandard.co/opinion-the-loyal-pin/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Articles

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

Articles

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

Articles

Blackstar : คำร่ำลาจาก (เหล่า) มนุษย์ตาสองสีผู้มาจากต่างดาว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพบในสักวัน ทั้งของครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ความตายของตัวเองที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาทุกวินาที โดยเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะมาถึงตัวของเราเมื่อไหร่ จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวที่ทำให้ไม่อยากจะใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้อีกต่อไป แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่ง ชายผู้แม้ความตายจะมาเคาะประตูหน้าห้อง ...

Writings

วัวหายล้อมคอก ไฟไหม้ฟาง กับการแก้ปัญหาของรัฐไทย 

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ‘วัวหายล้อมคอก’ และ ‘ไฟไหม้ฟาง’ สำนวนที่เข้ากันดีกับการแก้ปัญหาในสังคมของรัฐไทย ที่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนจึงค่อยมาคิดหาวิธีแก้ไข หรือไม่ก็ตั้งท่าจะแก้ไขแต่ไม่ทำอะไรจริงจัง จนมันก็สายเกินจะแก้ปัญหาตรงหน้าให้ทันท่วงที ...

Articles

The substance: การฉายซ้ำของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการติดหล่มความงาม มองข้ามความจริง และ Ageism ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร “You were amazing” “เธอ ‘เคย’ ยอดเยี่ยม” คือคำเขียนในการ์ดที่ถูกแนบมาพร้อมดอกไม้ช่อโต ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save