เขียน : ศิรประภา จารุจิตร
ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชี้กรุงเทพฯ เสี่ยงมีพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 6 ปี เพราะฝนที่ตกหนักกว่าเดิมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้านนายกสมาคมวิศวกรเสนอมาตรการรับมือน้ำท่วม 3 ด้าน ได้แก่ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ณ อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์จัดงานเสวนา เดโมแครต ฟอรั่ม ครั้งที่ 2 ในหัวข้อทางรอดกรุงเทพฯ : วิกฤติน้ำท่วม เนื่องจากเล็งเห็นว่าน้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในทุกปี และอาจส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงต่อการจมน้ำ เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ
เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ในอนาคตสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ จะทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝน โดยเฉพาะหากฝนตกในปริมาณ 50 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หายากในระยะ 100 ปีที่ผ่านมา และกรุงเทพฯ อาจจะประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กว้าง โดยจะมีระดับน้ำท่วมสูงถึง 50 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร หากไม่สามารถวางแผนการรับน้ำและจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เสรี กล่าวต่อว่า น้ำเหนือจากลุ่มเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสถานการณ์น้ำทะเลหนุนที่มีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น คาดการณ์ว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเหมือนปี 2554 ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงเข้าใกล้สถานการณ์น้ำท่วม โดยในปี 2573 พื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วมในกรุงเทพฯ จะขยายตัวมากขึ้น และในปี 2593 จะมีระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงและมีน้ำเหนือปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯ มีลักษณะกลายเป็นแซนด์วิชที่ล้อมรอบด้วยไปด้วยน้ำทะเลและน้ำฝน จากนั้นในปี 2613 จะกินพื้นที่เพิ่มขึ้น จนจะถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมดในปี 2643
ชวลิตย์ จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาวะโลกเดือดทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ตั้งแต่ปลายปี 2566 เช่น จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.เชียงใหม่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนในระดับที่สูงกว่า 300 มม. ขึ้นไป จึงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัด
ชวลิตย์ กล่าวด้วยว่า กทม. ต้องมีมาตรการจัดการด้านน้ำฝน ต้องมีระบบการพยากรณ์ล่วงหน้า และเตือนภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมมีระบบพร่องน้ำล่วงหน้า มีแก้มลิงเพื่อเก็บน้ำแล้วค่อยระบายออกหรือนำมาใช้ประโยชน์ ตลอดจนสร้างระบบระบายน้ำตามแรงโน้มถ่วง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ และการทำข้อตกลงในการระบายน้ำข้ามเขตการปกครองล่วงหน้าระหว่างหน่วยงานรัฐฯ และสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
ชวลิตย์ กล่าวว่า มาตรการต่อมาคือการจัดการด้านน้ำเหนือ คือต้องมีการควบคุมน้ำจากแม่น้ำลำคลองในพื้นที่น้ำเหนือที่ไหลมาสู่กรุงเทพฯ โดยสร้างคันปิดล้อมทางน้ำ และทางเบี่ยงน้ำออกไปจากพื้นที่เสี่ยง ไปจนถึงการระบายน้ำผ่านพื้นที่บางแห่งที่มีความเสี่ยงน้อยลง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการท่วมขังในเมือง
ชวลิตย์ ยังกล่าวอีกว่า มาตรการสุดท้ายคือสร้างคันกั้นน้ำริมตลิ่งเพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุน ที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมชายฝั่งและพื้นที่ต่ำที่มีการเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งในช่วงฤดูน้ำท่วม รวมถึงการติดตั้งบานปิดปากปลายท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของน้ำทะเลเข้าระบบระบายน้ำของเมือง
“ปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถแก้ไขได้ในวันเดียว เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างระบบระบายน้ำที่ทันสมัยและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น หากเราไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เราจะไม่สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้” ชวลิตย์กล่าว