SocietyWritings

งานศพแบบมนุษย์นิยม: บอกลาอย่างไรสำหรับคนไร้ศาสนา

เรื่อง : รณรต วงษ์ผักเบี้ย

‘ความตาย’ เป็นคำที่ให้ความรู้สึกห่างไกลในขณะเดียวกันก็ใกล้ชิดกับเรามากกว่าที่คิด สุญญากาศแห่งความตายนั้นยากแท้หยั่งถึงเกินจิตสำนึกของมนุษย์คนหนึ่ง แต่มัจจุราชก็เฝ้ารอทุกชีวิตอยู่ทุกหัวมุมถนนเช่นกัน เมื่อร่างกายของเราหยุดทำงานและทิ้งไว้เพียงลมหายใจสุดท้าย บรรยากาศรอบตัวปกคลุมไปด้วยความโศกเศร้าของคนที่รัก สุดท้ายมนุษย์เราก็ปลดปล่อยความเศร้าและความทรงจำผ่านพิธีกรรมแห่งการบอกลาที่เรียกว่า ‘งานศพ’

วันปีใหม่เพิ่งจะผ่านพ้นมาไม่นาน ผู้คนนึกถึงการเริ่มต้นใหม่ ความสุขที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ การเริ่มต้นปีใหม่ที่ทำงานกับจิตใจเราอย่างมากแม้เป็นเพียงเส้นเวลาสมมติที่แบ่งกั้นปีนี้และปีที่แล้วเพียงชั่วข้ามคืน นอกจากจะเป็นช่วงที่ดีในการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ แล้ว ก็อาจจะยังเป็นเวลาที่ดีที่จะย้อนกลับไปใคร่ครวญถึงสิ่งที่อยู่คู่กับการเริ่มต้นคือการดับสูญหรือในที่นี้ก็คือความตาย และสิ่งที่มาคู่กับความตายเสมอก็คืองานศพ ถ้าหากงานปีใหม่เป็นดั่งการจุดพลุแห่งความหวัง งานศพก็เหมือนกับเปลวเทียนที่ลุกไหวในความทรงจำ ทั้งสองต่างเป็นช่วงเวลาที่เราหยุดและมองชีวิตจากมุมที่แตกต่าง

มนุษย์มีชีวิตเคียงคู่กับงานศพมานานแสนนานนับตั้งแต่สมัยของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลจนถึงยุคปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคืองานศพในวัฒนธรรมต่าง ๆ มักถูกผูกเข้ากับศาสนาด้วยความเชื่อโลกหลังความตายอย่างตัดกันไม่ขาด อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันผู้คนนับถือศาสนาน้อยลงทุกวัน และมีแนวคิดสสารนิยม (Materialism) เข้ามามีบทบาทแทน สสารนิยมเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าไม่มีจิตอยู่ภายในร่างกายของเรา ชีวิตมนุษย์ประกอบขึ้นจากวัตถุสสาร เมื่อตายไปก็เป็นเพียงการหยุดทำงานของร่างกายเท่านั้น โลกหลังความตายจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ดังนั้นการตายของผู้ไม่มีศาสนาก็อาจจะใช้คำว่า แล้วก็แล้วไป ไม่มีการชดใช้กรรมในนรกหรือเสพสุขเป็นนิรันดร์อยู่บนสรวงสวรรค์

หากลองมองให้ใกล้ตัว คนไทยส่วนใหญ่น่าจะมีความคุ้นเคยกับงานศพแบบพุทธ ซึ่งมีอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธนิกายเถรวาทที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างช้านาน เมื่อลองมองลึกเข้าไปอีกจะพบว่างานศพในแต่ละภาคยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน อย่างเช่นงานศพในภาคกลางมักจะจัดที่วัดและงานไม่ใหญ่โตมากนัก ขณะที่งานศพในภาคอีสานมักจะจัดที่บ้านเจ้าภาพและมีการกินเลี้ยง

สำหรับผู้ที่เติบโตมาในภาคอีสานคงจะคุ้นเคยกับงานศพแบบพุทธอีสานไม่มากก็น้อย พุทธอีสานในบริบทของงานศพหมายถึงการจัดงานศพโดยมีความเชื่อแบบพุทธผสมรวมกับความเชื่อแบบพราหมณ์และผีของพื้นถิ่นเข้าด้วยกัน อย่างเช่นประเพณีการจัดงานศพในจังหวัดมหาสารคาม เมื่อมีคนตายแล้วสมาชิกในครอบครัวก็จะมีพิธีอาบน้ำและแต่งตัวให้ศพเพื่อชะล้างให้ผู้ตายบริสุทธิ์ อีกทั้งอาจมีการจุดพลุหรือประทัดเพื่อแจ้งข่าวการตายให้ชาวบ้านทราบทั่วกัน งานศพในภาคอีสานมักจะจัดที่บ้านของผู้ตาย มีการสวดพระอภิธรรมตอนเย็นโดยจะสวดเป็นเวลา 3 5 7 หรือ 9 วันตามกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ หลังจากสวดพระอภิธรรมเสร็จในแต่ละครั้งก็จะมีการเลี้ยงอาหารแขกเหรื่อผู้มาร่วมงานก็เป็นอันเสร็จในแต่ละวัน หลังจากสวดพระอภิธรรมครบตามวันแล้ว จะมีการแห่จูงศพไปที่วัดเพื่อทำพิธีฌาปนกิจ ในระหว่างทางจะหว่านข้าวสารและข้าวตอกแตก (ข้าวเปลือกที่นำไปคั่วให้แตกคล้ายข้าวโพดคั่ว) หรืออาจจะหว่านกัลปพฤกษ์ร่วมด้วย เมื่อแห่ศพมาที่วัดแล้วจะเคลื่อนศพรอบเมรุสามรอบ จากนั้นครอบครัวและญาติรดน้ำหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าวซึ่งเชื่อว่าเป็นน้ำที่มีความบริสุทธิ์ ต่อมาก็เคลื่อนศพขึ้นสู่เมรุ สวดบังสุกุลและเทศน์อานิสงส์ตามด้วยการเล่าประวัติผู้ตาย จนกระทั่งถึงพิธีฌาปนกิจก็จะนำร่างผู้ตายเข้าเตาเผาศพแล้วจึงให้ผู้เข้าร่วมวางดอกไม้จันทน์ เมื่อสัปเหร่อจุดไม้ขีดสุดท้ายเป็นอันเสร็จสิ้นในวันพิธี วันต่อมาจึงทำพิธีเก็บอัฐิก็เป็นอันจบขั้นตอนสุดท้าย ส่วนการจัดการกับอัฐินั้นบางครอบครัวอาจเก็บไว้ในธาตุที่วัด หรือบางครอบครัวอาจนำไปลอยอังคารก็ได้ อย่างไรก็ตามอาจมีรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเพณีของหมู่บ้านหรือจังหวัดนั้น ๆ

คนไทยอาจจะเคยเห็นงานศพแบบพุทธจนชินตาตั้งแต่เล็กจนโต แต่หากลองกางแผนที่โลกออกมา ก็จะพบงานศพรูปแบบใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมากมาย

นอกจากนั้นภายใต้โลกที่ขับเคลื่อนด้วยโลกาภิวัตน์และระบบทุนนิยมก็เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าผู้คนทั่วโลกโดยเฉพาะในโลกตะวันตกเริ่มมองหาการจัดงานรูปแบบใหม่อาจไม่ได้ยึดโยงกับศาสนาเท่าใดนัก เพื่อปรับตัวเข้ากับคุณค่าแบบใหม่ที่พวกเขายึดถือ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวโน้มการจัดงานศพในสหราชอาณาจักร จากการสำรวจของเว็บไซต์ Funeral Guide ในปี 2023 พบว่าชาวสหราชอาณาจักรกว่า 64.62% ต้องการจัดงานศพไม่อิงศาสนา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 51.61% ในปี 2022 นอกจากนี้ผลสำรวจยังบอกเราว่าผู้ทำแบบสำรวจส่วนมากต้องการงานศพที่มีความเรียบง่ายน่าเคารพ และมีบางส่วนต้องการงานศพที่สนุกสนานแต่งแต้มด้วยสีสัน

ข้อมูลดังกล่าวน่าจะกำลังส่งสัญญาณให้ทราบว่าโลกยุคใหม่อาจจะต้องการการบอกลาที่มีความหมายต่อบุคคลมากกว่าจะอยู่ใต้เสียงสวดมนต์อย่างที่เคยเชื่อและปฏิบัติมาเป็นเวลายาวนานหรือไม่

มีงานศพรูปแบบหนึ่งที่โฟกัสไปที่การยกย่องและบอกลาผู้ตาย มากกว่าที่จะยึดติดอยู่กับพิธีกรรม นั่นคือ ‘งานศพแบบมนุษย์นิยม’ (humanist funeral) เป็นงานศพที่ไม่อิงกับศาสนาที่มุ่งเน้นไปที่การบอกลาผู้ตายอย่างสมเกียรติไปพร้อม ๆ กับเฉลิมฉลองชีวิตที่ผ่านมาของผู้ตาย นำโดยผู้ประกอบพิธี (celebrant) ซึ่งผู้ประกอบพิธีจะเข้าไปพูดคุยกับครอบครัวหรือตัวผู้ตาย (ก่อนที่จะตาย) เพื่อร่วมกันออกแบบงานศพให้เหมาะสมกับผู้ตายมากที่สุด ทำให้ตัวงานศพสามารถมีพิธีการได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้ตายหรือครอบครัวต้องการ กลิ่นอายบรรยากาศจึงมีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์อย่างมาก บางคนอาจจะจัดงานคล้ายกับพิธีในศาสนาแต่ตัดส่วนที่เป็นศาสนาออกไป ในบางงานอาจจะจัดพิธีในโทนที่ร่าเริงและมุ่งเน้นไปที่การเฉลิมฉลองการมีชีวิต อาจจะจ้างวงดนตรีหรืออ่านบทกลอนบอกลาก็ยังได้ ไม่ว่าพิธีจะออกมาหน้าตาแบบไหน สิ่งสำคัญคือตัวพิธีจะสะท้อนตัวตนของผู้ตายออกมาอย่างลึกซึ้ง

ในสารคดี A Humanist Funeral (สามารถรับชมได้ทาง YouTube) แสดงให้เราเห็นงานศพของ ‘แคธี’ ซึ่งถูกจัดขึ้นคล้ายกับพิธีทางศาสนาคริสต์แต่ตัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาทิ้งไปทั้งหมด ภายในงานมีการเปิดรูปภาพและวิดีโอของเธออันเปี่ยมไปด้วยชีวิตและความทรงจำ สุดท้ายปิดพิธีด้วยเสียงทรัมเป็ตในทำนอง ‘Last Post’ อันเป็นทำนองที่จะเล่นในงานศพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ หลังจากเผาศพ เถ้ากระดูกของเธอถูกนำมาโปรยที่สวนบ้านของเธอเคียงข้างเถ้ากระดูกของสามีผู้เป็นที่รัก งานศพของแคธีมีน้ำเสียงของการบอกลาพร้อมเฉลิมฉลองชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยหัวใจ

นอกจากนี้งานศพแบบมนุษย์นิยมยังเปิดโอกาสให้ผู้ตายเลือกวิธีกำจัดศพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฝังตามธรรมชาติให้ศพกลายเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงผืนดินดังได้กลับสู่รากเหง้า เช่น การฝังศพใต้ต้นไม้ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งในปัจจุบันก็มีบริษัทสตาร์ตอัปหลายเจ้าพยายามพัฒนาวิธีการเปลี่ยนศพให้กลายเป็นปุ๋ย โดยญาติสามารถนำกลับไปใส่กระถางต้นไม้ที่บ้านก็ยังได้ หรือการบริจาคร่างกายก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่อยากทำประโยชน์ให้โลกแม้จะตายไปแล้ว

ผมในวัยย่างยี่สิบเอ็ดปีผู้ไม่นับถือศาสนาเคยครุ่นคิดถึงหน้าตาของงานศพตัวเองหลายครั้ง ลองจินตนาการภาพงานศพเล็ก ๆ ที่เปิดหนังที่เราชอบดู เพลงที่ชอบฟัง ให้ครอบครัวและเพื่อนฝูงมานั่งกินอาหารคล้ายงานสังสรรค์โต๊ะจีน บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นชวนระลึกถึง และมีความเป็นไปได้อื่น ๆ ตามแต่ละคนจะเลือกสรร น่าเสียดายที่ในประเทศไทยตอนนี้ยังหาผู้รับจัดงานศพในลักษณะนี้ได้ยาก เพราะทางเลือกในการจัดงานศพและจัดการศพในประเทศไทยยังไม่ได้หลากหลายมากนัก อาจจะเป็นเพราะศาสนาพุทธที่ฝังรากลึกลงในวัฒนธรรมประเพณีของไทยอย่างแนบแน่น บวกกับวัฒนธรรมของไทยที่มักจะยึดติดกับตัวพิธีจนมองข้ามคุณค่าที่แท้จริงอย่างการบอกลา อีกทั้งการไม่นับถือศาสนาก็ยังคงเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ดังนั้นผมมองว่าการเพิ่มตัวเลือกให้มากขึ้นจึงสำคัญ เพราะมันจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้แก่สังคมเข้าใจแนวคิดที่แตกต่าง พร้อมสร้างค่านิยมใหม่ ๆ และช่วยให้ค้นพบสิ่งที่เหมาะสมกับคุณค่าที่ตนยึดถือ

ผมหวังว่าท่ามกลางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนี้ประเทศไทยจะมีทางเลือกในการจัดงานศพอย่างงานศพแบบมนุษย์นิยมหรือรูปแบบอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อที่จะสอดรับกับความหลากหลายในยุคใหม่ พร้อมมอบการจากลาที่มีความหมายที่ไม่ใช่ผ่านพิธีกรรมแบบเดิม แต่ผ่านเรื่องราวชีวิตที่ไม่เหมือนใครของผู้ล่วงลับ


อ้างอิง

What is a humanist funeral?

https://thematter.co/social/simple-and-peaceful-funeral-trend/158227

https://www.funeralguide.co.uk/blog/funeral-survey-2023-uk-publics-perfect-funeral

https://www.matichonweekly.com/column/article_220157

รู้จัก Human Composting ตายแล้วเป็นปุ๋ย ทางเลือกใหม่ของการจัดการศพอย่างยั่งยืน 

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Articles

ผม (ไม่) เคย เฉยชากับความตาย

เรื่องและภาพประภาพ: Amphea Warning : บทความชิ้นนี้มีการพูดถึงเนื้อหาของการพยายามอัตวินิบาตกรรมและการสูญเสียของคนใกล้ตัว โปรดอ่านอย่างระวัง ‘อาม่า’ ของผมเสียไปตั้งแต่ตอนที่ผมอยู่ในวัยประถม แม้ช่วงบั้นปลายชีวิต เธอจะเริ่มหลงลืมลูกหลานและอารมณ์รุนแรงไปบ้าง แต่สำหรับลูกทั้ง 8 คนแล้ว เธอยังคงเป็นคนที่ทุกคนในครอบครัวรักมากที่สุดคนหนึ่ง ส่วนผมนั้นไม่ได้มีความทรงจำเกี่ยวกับอาม่ามากนัก ...

Articles

ออกเดินทางมาแล้วแต่ยังไกลจุดหมาย : ตอนนี้ Universal Design พาคนพิการเดินทางไปได้เท่าไหนในไทย

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เป็นเวลาหลาย 10 ปีมาแล้วที่คนพิการต้องเรียกร้องสิทธิต่างๆ ทั้งในประเด็นสิทธิในการเข้าทำงาน มุมมองด้านลบที่คนพิการเคยถูกมองว่าไม่มีความสามารถ หรือเคยทำกรรมไว้จึงพิการ และปัญหาความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขาหลังจากที่ต้องสูญเสียทักษะบางอย่างไป การเดินทางเองก็เป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ที่คนพิการต้องพบเจอและมีการเรียกร้องมาเป็นเวลานาน จนมีกฎหมายเกี่ยวกับ Universal Design ...

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

โลกกำลังจะแตก เรายังควรแย่งวัฒนธรรมกันอยู่ไหม?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ชัยชนะของพรรคฝ่ายขวาในหลายประเทศทำให้เห็นการกลับมาของแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบัน ด้านประเทศไทยเองถึงแม้กลุ่มที่นิยามตนเองว่า ‘หัวก้าวหน้า (Progressive)’ ซึ่งเป็นแนวคิดการเมืองแบบฝั่งซ้ายจะเริ่มมีพื้นที่และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทว่าหากพิจารณาตามจุดประสงค์ของการเกิดกลุ่มแนวคิดนี้ ก็อาจยังไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจและความต้องการต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะหากประเทศไทยเต็มไปด้วยกลุ่มคนหัวก้าวหน้าจริงเราคงไม่ได้เห็นคนในสื่อสังคมออนไลน์ตบตีแย่งชิงวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน “รักกันไว้เถิด ...

Articles

Car-Centric City: เมืองที่รถยนต์ใหญ่กว่าคน

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย หากคุณเป็นคนที่ไม่ได้ขับรถ คุณอาจเคยหงุดหงิดเวลาที่ต้องมาเดินหลบรถยนต์เวลาเดินอยู่ในซอยแคบๆ จนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาทนเสี่ยงตายอยู่บนสภาพถนนแบบนี้ หรือหากคุณเป็นคนที่ขับอยู่ตลอด คุณอาจเคยหงุดหงิดที่ต้องมาทนรอคนเดินข้ามทางม้าลาย และไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนจึงออกมาเรียกร้องหาทางเท้า ทางจักรยานที่ดี เพราะจะทำให้คุณใช้เวลาบนรถนานขึ้นเนื่องจากต้องสูญเสียเลนถนนไปเพื่อสร้างทางเท้าเพิ่มเติม ทั้ง 2 เหตุการณ์อาจเป็นมุมมองที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในคนคนเดียวกันแต่ก็มีที่มาไม่ต่างกัน นั่นเป็นเพราะเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่ง ...

News

อาจารย์รัสเซียศึกษา มธ. คาดสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์พลังทำลายล้างสูง หวังเจรจายุติต้นปีหน้า

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย อาจารย์รัสเซียศึกษา มธ. ชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่รุนแรงเพิ่มขึ้นจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์พลังทำลายล้างสูง เพราะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อฝ่ายใด และคาดว่าสงครามจะจบลงด้วยการเจรจาไม่ให้ยูเครนเข้าร่วม NATO ตามที่รัสเซียต้องการ เมื่อวันที่ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save