เรื่อง : โอปอล ศิริภัสษร
ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา
ลักษณะของเมียฝรั่ง แวบแรกในความคิดของท่านเป็นอย่างไร
เมื่อได้ยินคำว่า “เมียฝรั่ง” เชื่อว่าหลายคนอาจมีภาพจำบางอย่างปรากฏขึ้นในใจทันที โดยภาพจำของเมียฝรั่งที่ถูกสื่อตี กรอบจะมีผิวดำ ยากจน หวังรวยทางลัด หรือใด ๆ ก็ตามที่ถูกเชื่อว่าลักษณะแบบนี้คือเมียฝรั่ง แล้วเหตุใด พวกเรา ทั้งหลายถึงมีภาพจำเหล่านี้ได้คล้ายกัน บทความนี้จะพาท่านไปหาคำตอบเกี่ยวกับการประกอบสร้างภาพเหมารวมเมียฝรั่ง
ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อเป็นชนวนสำคัญที่ก่อเกิดการสร้างภาพตัวแทนของ “เมียฝรั่ง” ผ่านการสร้าง ตอกย้ำ ขยายภาพในรูปแบบต่าง ๆ และหนึ่งในสื่อที่ทรงพลังอย่างยิ่งคือเพลงลูกทุ่ง เนื่องจากเพลงลูกทุ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงวิถีชีวิตของคนไทยในทุกภูมิภาค ซึ่งสะท้อนเรื่องราวชีวิตจริงของคนในชนบท และมักบอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค
เพลงลูกทุ่งไม่ได้เพียงแต่เป็นความบันเทิง แต่ยังสะท้อนค่านิยมและมุมมองของสังคมที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น บทความนี้จะพาท่านไปพบกับเพลงลูกทุ่งที่มีบทบาทในการประกอบสร้างภาพเหมารวมเมียฝรั่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน
จากงานวิจัยของนายพันธกานต์ ทานนท์ เรื่อง “การสื่อสารภาพตัวแทนของผู้หญิงชนบทในเพลงลูกทุ่งที่ขับร้องโดย ตั๊กแตน ชลดา” พบว่าการสร้างภาพตัวแทนของผู้หญิงชนบทคือความยากจน ความลำบาก มีอำนาจต่อรองน้อยซึ่งนั่นทำให้กลยุทธ์ที่สำคัญในการเอาตัวรอดของผู้หญิงกลุ่มนี้การยืนหยัดต่อสู้ชีวิตด้วยการมี “ความหวัง” และหนึ่งในนั้นคือการแสวงหาเส้นทางชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งการเป็น “เมียฝรั่ง” ก็เป็นอีกทางในการมีความหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อพูดถึงภาพลักษณ์ของ “เมียฝรั่ง” ในสังคมไทย หนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนผ่านบทเพลงลูกทุ่งได้อย่างชัดเจนคือ “เจนจิรา” ของสาวมาด เมกะแดนซ์ ซึ่งเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2547 เพลงนี้เล่าเรื่องราวของหญิงสาวชาวอีสานชื่อเจนจิรา ผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับสามีชาวต่างชาติ โดยเนื้อเพลงเต็มไปด้วยการสะท้อนมุมมองของสังคมที่มีต่อผู้หญิงไทยที่มีความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติดังนี้
“ตอนอยู่บ้านนอกคอกนา คุณลุงคุณป้าคุณแม่คุณพ่อ เอ็นว่าอีเหี่ยนเลี้ยงเหา อ้วนปานยิ่งเพ้า ดำดำหม้อต้อ เตี้ยเตี้ย แหล่แหล่ปานตอ เดี๋ยวนี้หมู่เจ้าเห็นบ่ เปลี่ยนชื่อแล้วหนอ เป็นมิสเจนจิรา”
ตัวอย่างเนื้อเพลงข้างต้นเป็นการพูดถึงสาวอีสานในบริบทของการเปลี่ยนแปลง ทั้งลักษณะทางกายภาพของสาว อีสานที่มีสีผิวที่คล้ำดำ จมูกไม่มีลักษณะโด่ง รูปร่างที่อ้วนและส่วนสูงที่เตี้ย การที่ในเนื้อเพลงกล่าวถึงลักษณะทางกายภาพของสาวอีสาน เช่น ผิวคล้ำ รูปร่างอ้วน ส่วนสูงเตี้ย เป็นการเหมารวมว่าสาวอีสานที่มีรูปลักษณ์ตามที่กล่าวถึงในเพลงมักจะถูกมองว่าเป็น “คนบ้านนอก” หรือมีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีชีวิตที่ดีในเมืองใหญ่หรือต่างประเทศ
อีกบริบทคือการเปลี่ยนชื่อและคำนำหน้าชื่อ ในเนื้อเพลงส่วนนี้ถือเป็นประเด็นหลักของเพลงที่พูดถึงสาวอีสานที่ไปใช้ชีวิตต่างประเทศและได้มีการแต่งงานกับสามีฝรั่งจนได้รับการเปลี่ยนคำนำหน้าให้เรียกว่า “มิส เจนจิรา” ทั้งที่ก่อนหน้ามีเพียงแค่ เจนจิรา สะท้อนถึงความเชื่อในสังคมที่ว่าการมีชื่อและสถานะใหม่ที่ฟังดูสูงส่งเป็นสัญลักษณ์ของการได้รับการยอมรับหรือการยกระดับตัวเองในสังคม
นอกจากนี้ในตอนท้ายของเพลงมีเนื้อเพลงที่ว่า “แต่ก่อนดูถูกดีนัก เดี๋ยวนี้รู้จักกันแล้วใช่ไหม มีแฟนเป็นฝรั่ง มังค่า หอบเงินดอลล่าร์ขนมาเมืองไทย อย่าเรียกว่าเหี่ยนอีกเด้อ อย่าเอ็นว่าดำอีกนะ รู้ไว้ด้วยล่ะ ว่าฉันเปลี่ยนชื่อใหม่”
เนื้อเพลงส่วนนี้ทำให้เห็นมุมมองภาพของการเหมารวมว่าการเป็นเมียฝรั่งมักจะโดนดูถูก และเป็นที่พูดถึงว่าเมียฝรั่งเป็นผู้หญิงที่แสวงหาผลประโยชน์จากการแต่งงานกับสามีเพื่อหาเงินและมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยมองว่าเธอแต่งงานเพื่อที่จะได้วีซ่าหรือสัญชาติ หรือเพื่อหนีความยากจนหรือสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี นี่คือการมองในเชิงอคติ โดยไม่คำนึงถึงความรักหรือความสัมพันธ์ด้านอื่น
เพลงมิสเจนจิราเป็นแค่หนึ่งตัวอย่างจากหลาย ๆ เพลงที่ปรากฎภาพเหมารวมเมียฝรั่งเท่านั้น เพราะยังมีเพลงลูกทุ่งเพลงอื่นอีกมากมายที่มีการสร้าง ตอกย้ำ และขยายภาพตัวแทนอยู่
แม้ว่าเพลงลูกทุ่งในอดีตที่เปลี่ยนผ่านมายังปัจจุบันยังคงปรากฏภาพเหมารวมของเมียฝรั่งอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถลบภาพนั้นออกไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมของเราไม่ได้เปลี่ยนไป
ปัจจุบันเพลงลูกทุ่งบางเพลงได้มีการสร้างสารที่สื่อถึงการพยายามทลายกรอบภาพเหมารวมเดิมของเมียฝรั่ง จากอดีตที่ถูกจำกัดด้วยค่านิยมที่เชื่อมโยงกับเรื่องเงินและการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันเริ่มมีการนำเสนอแง่มุมความสัมพันธ์กับคนต่างชาติที่หลากหลายมากขึ้น โดยสะท้อนถึงมิติอื่น ๆ เช่น การมีความรักให้กัน ความเท่าเทียม และการใช้ชีวิตร่วมกัน
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเพลง “เมียฝรั่งก็มีหัวใจ” เผยแพร่ปี พ.ศ. 2566 ของครูวารี สัจจะวริทธิ์ เพลงนี้มีมุมมองใหม่ในการเปลี่ยนอคติด้านลบที่สังคมไทยมีต่อผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติและย้ายไปใช้ชีวิตต่างประเทศ เนื้อเพลงเน้นย้ำถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และสะท้อนความรู้สึกจริงของผู้หญิงเหล่านี้ที่มีความรักและความตั้งใจที่จะสร้างชีวิตคู่เช่นเดียวกับทุกคน
โดยในเพลงมีเนื้อหาว่า “แต่ก่อนตัวไทย กะบ่มีไผมาตั้งคำถาม”
เนื้อเพลงข้างต้นสะท้อนถึงการที่สังคมไทยไม่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างคนไทยด้วยกัน แต่เมื่อเกิดการแต่งงานกับชายต่างชาติ สังคมกลับตั้งคำถามและให้ความสนใจเป็นพิเศษ นี่สะท้อนถึงการมีอคติหรือมุมมองที่แตกต่างกันในสังคมเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ โดยมักมองว่า “เมียฝรั่ง” ต้องมีจุดประสงค์บางอย่างเช่นเงิน เป็นต้น
นอกจากนี้เนื้อเพลงที่ว่า “ฝรั่งกะคน เขาบ่อได้รวยล้นฟ้า”
เนื้อเพลงท่อนนี้เป็นการพูดถึงภาพจำหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแต่งงานกับสามีต่างชาติที่มักถูกมองว่าเป็น การแต่งงานเพื่อหวังรวยจากสามีต่างชาติเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนที่แต่งงานกับสามีฝรั่งแล้วจะมีชีวิตที่หรูหรา เพราะชาวต่างชาติเองก็ไม่ได้รวยกันทุกคน
อีกทั้งเนื้อเพลงที่ว่า “บางคนภาษาบ่อได้ พออยากฮ้องไห่ ต้องไปเรียนต่อ”
เนื้อเพลงท่อนนี้กล่าวถึงความยากลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างประเทศ โดยเฉพาะการเรียนภาษาที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการสื่อสารและทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวหรือห่างไกลจากบ้านเกิด โดยแสดงให้เห็นถึงความลำบากในชีวิตของเมียฝรั่งที่ต้องเผชิญ ซึ่งเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อภาพจำเมียฝรั่งที่ว่ามีชีวิตที่สบายเพราะว่าได้สามีต่างชาติ
เพลงลูกทุ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเมียฝรั่งทั้งสองเพลงสะท้อนถึงจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมที่ว่าเมียฝรั่งเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากสามีต่างชาติเพื่อฐานะที่ดีขึ้น
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้หญิงที่มีลักษณะดังกล่าวที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งสะท้อนความจริงในบางแง่มุมของสังคม แต่ในขณะเดียวกัน การเหมารวมเช่นนี้ไม่ควรถูกยกให้เป็นมาตรฐานหรือกรอบตายตัวสำหรับการเป็นเมียฝรั่ง เนื่องจากชีวิตของผู้หญิงแต่ละคนมีความหลากหลายและซับซ้อนกว่าที่วาทกรรมดังกล่าวพยายามจะสื่อ
โดยงานวิจัยของสุภาภรณ์ งามวัน เรื่อง “พลวัตภาพเหมารวมของผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ” ผลการวิจัยเปิดเผยว่าภาพเมียฝรั่งในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต ในอดีตมักถูกมองว่าเป็นผู้หญิงยากจน เป็นเมียเช่า แต่ในปัจจุบันคือคนกล้าต่อสู้ ท้าทายชีวิต พร้อมจะเผชิญอนาคตที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับการที่เพลงลูกทุ่งในปัจจุบันเริ่มนำเสนอถึงเมียฝรั่งในแง่มุมใหม่มากขึ้น เช่น การปรับตัวในชีวิตต่างแดน ปัญหาชีวิตคู่ หรือความเป็นจริงของความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีแค่ความสุขตามที่ผู้คนคิด
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ถือเป็นการท้าทายภาพ จำเดิมของ “เมียฝรั่ง” ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในสังคม เพราะจะช่วยให้เกิดมุมมองอื่น ๆ ที่หลากหลายเกี่ยวกับเมียฝรั่ง ไม่จำกัดอยู่ในกรอบเดิม
สุดท้ายนี้การที่เพลงลูกทุ่งเริ่มพูดถึงเรื่องราวของเมียฝรั่งในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เป็นสิ่งที่ช่วยลดการเหมารวมและทำให้คนเข้าใจมุมมองใหม่ ๆ ได้ แม้ภาพจำแบบเดิมอาจจะยังอยู่ แต่ถ้าเราเปิดใจฟังและมองเห็นความหลากหลายของชีวิตผ่านเพลงเหล่านี้ ก็จะช่วยให้เราเข้าใจและยอมรับความจริงของสังคมได้มากขึ้น และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงความคิดในทางที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
รายการอ้างอิง
พันธกานต์ ทานนท์.(2559).การสื่อสารภาพตัวแทนของผู้หญิงชนบทในเพลงลูกทุ่งที่ขับร้องโดย ตั๊กแตน ชลดา.(วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). https://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5807010037_6930_4858.pdf
วารี สัจจะวริทธิ์. (2566). เมียฝรั่งก็มีหัวใจ.
https://youtu.be/wn_vwmQ-uR8?si=Apie2SZ-D2yfXnnD
สาวมาด เมกะแดนซ์. (2547). เจนจิรา. เมกะแดนซ์ เรคคอร์ด https://youtu.be/YfOenMoiQ6w?si=5DWGuU7rZy1s4HR6
สุภาภรณ์ งามวัน. (2548). พลวัตภาพเหมารวมของผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ.(วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/digital/api/DownloadDigitalFile/download_digi/113957/?path=thesis/gv/0022/01%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87.pdf