Art & CultureWritings

Disco Elysium ณ สรวงสวรรค์อันสูญสลาย

เรื่อง: นิชดา พูลเพชร

ภาพ: ZA/UM

เหล่าผู้ล้างแค้นอาศัยอยู่ในกระจก นั่นคือที่อยู่ของพวกนาง

แม้แต่ในน้ำที่ใสสะอาดที่สุด หากลึกมากพอก็จมลงไปได้

Reflections โดย R.S. Thomas

บทกลอนบนห้วงสีดำสนิทกะพริบวาบขึ้นในความฝัน ผู้ล้างแค้นคือใครกันนะ?

คุณตื่นขึ้นมาในห้องพักที่ถูกรื้อทำลายจนไม่เหลือชิ้นดี บนพื้นมีขวดเหล้าเปล่านอนอยู่ หน้าต่างบานใหญ่แตกเป็นเสี่ยง ๆ บนพื้นมีเทปเพลงที่ถูกดึงกระชากออกจากแกนหมุน คุณใช้ความสามารถของคุณที่คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมี สร้างภาพจำลองเหตุการณ์ขณะที่หน้าต่างแตก ดูจากร่องรอยความเสียหาย และรองเท้าหนังส้นสูงสีเขียวสดที่หายไปข้างหนึ่ง คุณนั่นแหละเป็นคนโยนรองเท้าออกไปนอกหน้าต่างจนมันพัง

คุณเริ่มค้นหาเสื้อผ้าของคุณที่กระจัดกระจายไปทั่วห้อง เน็กไทของคุณห้อยต่องแต่งลงมาจากพัดลมเพดาน มันเรียกขอความช่วยเหลือจากคุณ คุณได้ยินเสียงมันแน่ ๆ คุณเอื้อมมือขึ้นหยิบเจ้าเน็กไทพูดมากลงมาจากบนนั้น จากนี้ไปมันคือเพื่อนยากที่จะคอยรัดคอคุณเมื่อคุณพูดจาไม่เข้าท่า

คุณก้าวเท้าออกจากห้องสู่ระเบียง คุณเห็นผู้หญิงคนหนึ่งสวมชุดจัมพ์สูทสีเงินประกายวิบวับยืนสูบบุหรี่อยู่ เธอบอกคุณว่าเธอชื่อคลาสเย และเมื่อคืนคุณร้องว่า “ฉันไม่อยากเป็นสัตว์นรกแบบนี้อีกแล้ว” พร้อมกับเปิดเพลง Smallest Church in Saint-Saën วนซ้ำไปซ้ำมา

แล้วก็ คุณเป็นตำรวจ

คุณเดินลงจากชั้นสองมายังชั้นล่าง มีผู้ชายใส่แว่นกับเสื้อแจ็กเก็ตสีส้มยืนรอคุณอยู่

“สวัสดี ผมคิม คิตสึรากิ ร้อยโทจากเขตที่ 57 คุณคงมาจากเขตที่ 41 สินะ”

หากวินาทีนี้อาคารแห่งนี้ถูกโจมตี – หากหน้าต่างทุกบานแตกกระจาย และโลกทั้งใบล่มสลายลงต่อหน้าคุณ – ชายคนนี้จะกระโจนเข้าขวางมัจจุราชเพื่อช่วยชีวิตคุณไว้ คุณมั่นใจในข้อนี้ แต่ตอนนี้เขากำลังรอฟังชื่อคุณอยู่

ยินดีต้อนรับ

ข้อความส่วนบนนั้นมาจากเกม Disco Elysium ซึ่งเป็นวิดีโอเกมแนวสวมบทบาทโลกเปิด (open world role-playing game) โดยค่ายอิสระ ZA/UM ซึ่งเพิ่งทำเกมนี้ออกมาเป็นเกมแรกตั้งแต่ก่อตั้งสตูดิโอ ตัวเกมออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2562 และเพิ่งมี

อัปเดต the final cut เพิ่มเสียงพากย์เต็มเรื่องและภารกิจใหม่เมื่อต้นปีนี้ โดยคุณ – ผู้เล่น – สวมบทเป็นตำรวจจากเขตที่ 41 ผู้ตื่นมากับอาการเมาค้าง และความทรงจำที่สูญสลายไป คุณต้องไขปริศนาการตายของชายไม่ทราบชื่อที่ถูกแขวนคออยู่หลังโรงแรม whirling-in-rags ให้ได้… หรือไม่ก็ได้

“ความตาย เซ็กซ์ ภาษี ดิสโก้ ไม่มีอะไรเกินขอบเขตในโลกใบนี้” คือหนึ่งในคำโฆษณาตัวเกมจากเว็บไซต์ทางการ ด้วยระบบบทสนทนาที่พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษของตัวเกมทำให้ผู้เล่นมีตัวเลือกในการปฏิสัมพันธ์กับตัวละครและโลกของเกมอย่างแทบไม่มีที่สิ้นสุด และด้วยตัวบทของเกมที่มีถึง 1 ล้านคำ ทำให้การเล่นในแต่ละคนแทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะการให้อิสระกับผู้เล่นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้เอง ทำให้ Disco Elysium กวาดรางวัลไปได้จากหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น PC Gamer 2019 Game of the Year หรือ BAFTA 2020 ที่ได้ไป 3 รางวัล ได้แก่ รางวัล debut game, narrative และ music

แล้วเกมนี้มันมีอะไรดี ถึงกวาดมาได้ทั้งรางวัลเวทีใหญ่ ทั้งฐานแฟนคลับเหนียวแน่นที่เกินครึ่งไม่คุ้นเคยกับเกมแนวนี้มาก่อน (รวมถึงตัวเราเองด้วย) เราขอตอบว่า ทุกด้าน

งานภาพของเกมทำเลียนแบบฝีแปรงบนภาพวาดสีน้ำมัน ผนวกเข้ากับแสงเงาและสภาพอากาศในแต่ละวันผันเปลี่ยนไปอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้เกมนี้ให้ความรู้สึกต่างจากเกมอื่น ๆ ในยุคนี้ที่เน้นความสมจริงของภาพเข้าไว้ก่อนโดยสิ้นเชิง

ด้านเสียง ตัวละครทุกตัว (ยกเว้นตัวผู้เล่น) มีเสียงพากย์แตกต่างกันไปตามลักษณะนิสัยและเชื้อชาติ ในขณะที่เพลงประกอบซึ่งประพันธ์โดยวงโพสต์ร็อกจากอังกฤษ Sea Power ก็ประกอบด้วยดนตรีหลากหลายแนว หลากหลายอารมณ์ ตั้งแต่เพลงบรรเลงกีตาร์สบาย ๆ ที่เปิดในโรงแรม whirlings ไปจนถึงเพลงอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ที่เปิดในผับของพวกเด็กค้ายา

และด้านที่สำคัญที่สุด – เนื้อเรื่อง ตัวเกมปล่อยให้ผู้เล่นสามารถทำอะไรก็ได้ แทบทุก ๆ เควสต์มีวิธีการแก้ไขมากกว่า 1 วิธี คุณอาจกลายเป็นตำรวจผู้เก่งกาจที่สุดในเมือง หรือคุณจะไม่สนใจในคดี เอาเวลาไปลงกับการเก็บขวดขายเพื่อเอาเงินมาซื้อเหล้าก็ยังได้ หรือจริง ๆ คุณไม่จำเป็นต้องไปยุ่งกับศพคนตายที่ห้อยต่องแต่งอยู่หลังโรงแรมเพื่อไขคดีเลยด้วยซ้ำ

แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะทำอะไรก็ได้เสียทีเดียว อย่าลืมว่าคุณไม่ได้ฉายเดี่ยว แต่มีร้อยโทคิม คิตสึรากิคอยติดสอยห้อยตามคุณอยู่ด้วย เขาเป็นเพื่อนตำรวจของคุณในคดีนี้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขาเป็นเหมือน ‘เข็มทิศ’ ให้ชีวิตงง ๆ ของคุณ เป็นวิธีที่ตัวเกมใช้บังคับให้คุณทำงานตำรวจสายสืบให้สำเร็จลุล่วง แน่นอน คุณจะไม่สนใจเขาเลยก็ได้ หรือถ้าคุณอยาก คุณจะทำให้เขาเกลียดขี้หน้าคุณไปเลยก็ยังได้ แต่คุณอยากจะให้คน ๆ นี้ – คนที่พร้อมยอมตายเพื่อคุณแม้ไม่เคยเจอกันมาก่อน – ผิดหวังในตัวคุณจริง ๆ เหรอ

ตัวเกมเล่นไม่ยาก เรียกว่าแม้แต่ผู้ที่ไม่เคยเล่นวิดีโอเกมมาก่อน ก็สามารถเล่นได้เลย ทุก ๆ การกระทำในเกมนำเสนอผ่านบทสนทนา คุณสามารถบังคับตัวละครให้พูดหรือกระทำบางอย่างได้ด้วยการทอยลูกเต๋า 6 ด้าน จำนวน 2 ลูก หากแต้มออกมารวมกับค่าสกิล (ค่าความสามารถ) และตัวแปรอื่น ๆ แล้วมากกว่าแต้มที่กิจกรรมนั้นต้องการ ถือว่าสำเร็จ แต่ถ้าหากทอยลูกเต๋าไม่สำเร็จ ก็สามารถไปทำอย่างอื่น เก็บค่าประสบการณ์ไปก่อน ค่อยกลับมาทอยใหม่ก็ได้ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกการทอยจะมีโอกาสครั้งที่ 2 ดังนั้นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับโชคของคุณคือสกิล

ในเกมนี้ คุณมีสกิล 24 อย่าง แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ความฉลาด จิตใจ ร่างกาย และสมรรถนะ ทุกการทอยลูกเต๋าผูกติดกับหนึ่งใน 24 สกิลนี้ เพราะฉะนั้นทุกสกิลมีความสำคัญในสถานการณ์ที่ต่างกันไป ทุก ๆ สกิลของคุณมี ‘ตัวตน’ ของตัวเอง พวกมันสามารถพูดคุยและคอยชี้แนะคุณไปในทิศทางต่าง ๆ (ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทางที่ดีเสมอไป) แต่คุณจะเชื่อคำพูดของพวกมันหรือไม่นั้นอยู่ที่การตัดสินใจของคุณ

นอกจากสกิล คุณยังมีตัวแปรอื่น ๆ ที่จะช่วยเสริมสกิลของคุณอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่คุณเลือกใส่ สารเสพติดที่คุณเลือกเสพ หรือ ‘ความคิด’ ที่คุณเลือกจำฝังไว้ในหัว ความคิดเหล่านี้มีตั้งแต่อุดมการณ์ทางการเมือง เรื่องไร้สาระที่ทำให้คุณรู้สึกค้างคาใจ ไปจนถึงอดีตที่คุณพอจะใช้สมองพัง ๆ ของคุณนึกขึ้นมาได้ ความคิดเหล่านี้ นอกจากจะเสริมสกิลของคุณ ยังส่งเสริมลักษณะนิสัยของคุณไปในเวลาเดียวกันอีกด้วย เช่น ถ้าคุณเลือกเก็บความคิด ‘inexplicable feminist agenda’ คุณจะกลายเป็นคนที่คอยพูดย้ำ ๆ เกี่ยวกับสิทธิสตรี (โดยไม่สนว่าคนเขาอยากฟังไหม)

ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้คุณเอาตัวรอดได้ในอิลิเซียม

“มีคำเรียกขานอย่างน่าเอ็นดูอยู่คำหนึ่งที่ใช้เรียกโลกใบนี้ – อิลิเซียม”

คำว่าอิลิเซียม มีที่มาจากตำนานเทพปรัมปรากรีก เป็นชื่อเรียกสรวงสวรรค์ของฮีโร่ผู้วายชนม์ อิลิเซียมคือชื่อของจักรวาลที่เกม Disco Elysium ดำเนินอยู่ (นอกจากเกมนี้แล้ว ยังมีนิยายชื่อ Sacred and Terrible Air เขียนโดย Robert Kurvitz ที่ดำเนินเรื่องอยู่ในจักรวาลเดียวกัน) ทีมผู้สร้างเกมกล่าวไว้ว่า พวกเขาใช้เวลากว่า 13 ปีไปกับการเล่นเกมกระดานในจักรวาลนี้ ก่อนจะออกมาเป็นอิลิเซียมในปัจจุบัน

หนึ่งในจุดขายของ Disco Elysium คือโลกที่เปิดกว้างและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ในขณะที่เกมแนวเดียวกันอื่น ๆ วางเนื้อเรื่องไว้กับสถานที่หรือช่วงเวลาหนึ่ง ๆ จักรวาลอิลิเซียมนั้นมีประวัติศาสตร์ถึงกว่า 6,000 ปี หากตัวละครของคุณมีสกิล encyclopedia (อยู่ในหมวดความฉลาด) มากพอ คุณจะสามารถปลดล็อกประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้ ผ่านระบบความคิดของตัวเอง

อิลิเซียมถูกห้อมล้อมด้วยสสารไร้สี ไร้กลิ่น เหมือนเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มและขวางกั้นระหว่างทวีปต่าง ๆ ไว้ คนในโลกเรียกสสารนี้ว่า เพล (pale) ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าแท้จริงแล้วเพลคืออะไร แต่ที่รู้แน่ ๆ คือ มันอันตราย เพลคือที่ที่ความจริงสูญสลาย ระยะทางวกวน รูปทรงบิดเบี้ยว คำและตัวเลขกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมไร้ความหมาย คนทั่วไปที่เผลอเอาตัวเข้าไปอยู่ท่ามกลางเพล จะถูกเพลทำลายสำนึกรู้ในความจริงไปเรื่อย ๆ ความทรงจำของคนแปลกหน้ากลับคุ้นเคย ผสมปนเปกับความจริงของตัวเองจนแยกออกจากกันไม่ได้

อีกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับเพลคือ มันกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ และในวันหนึ่ง มันจะกัดกินโลกทั้งใบไปจนหมดสิ้น

ในเมืองที่ตัวละครของคุณยืนอยู่ – ย่านมาร์ติแนส เขตควบคุมเรวาโชล – นั้นก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและอาบเลือดเช่นกัน 50 ปีก่อนเรวาโชลเกิดการปฏิวัติโดยคอมมิวนิสต์ เพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ ทำให้กลุ่ม coalition of nations กลุ่มประเทศมหาอำนาจ ใช้ยุทโธปกรณ์กวาดล้างกลุ่มผู้ปฏิวัติ จนเรวาโชลต้องยอมเสียเอกราช กลายเป็นเขตควบคุมให้ประเทศอื่น ๆ รุมทึ้งเอาผลประโยชน์ไป

50 ปีผ่านไปแล้ว บาดแผลจากการปฏิวัติอันล่มสลายยังคงหลอกหลอนเรวาโชลอยู่

ผีหลอนหลอก

หนึ่งในแนวคิดหลักที่ Disco Elysium นำมาใช้เป็นเครื่องมือเล่าเรื่อง คือ hauntology

Hauntology เป็นแนวคิดปรัชญาว่าด้วยสภาวะที่อดีตอันสิ้นสุดไปแล้ว กลับมากระทบกับปัจจุบันราวกับผีที่หลอกหลอน แนวคิดนี้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกโดย Jacques Derrida นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ในหนังสือ Specters of Marx เมื่อปี 2536 โดย ‘ผี’ ที่ Derrida พูดถึงในที่นี้ คือลัทธิมาร์กซิสม์และคอมมิวนิสต์ ที่ตายไปพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อ 2 ปีก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะถูกตีพิมพ์นั่นเอง ต่อมาในช่วงยุค 2000 (หลังปี 2543) Mark Fisher นักเขียนชาวอังกฤษ นำแนวคิด hauntology มาใช้อธิบายดนตรีที่มีลักษณะโหยหาเวลาอันไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่แค่อดีตแต่ยังรวมถึง ‘อนาคตที่ล่มสลาย’ – ภาพวาดฝันถึงอนาคตที่ถูกช่วงชิงไปโดยระบอบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism)

กล่าวได้ว่า แทบทุกองค์ประกอบของ Disco Elysium นั้นสร้างขึ้นบนรากฐานแนวคิด hauntology ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนา ดนตรีประกอบ แม้กระทั่งการกล่าวถึง ‘ผู้ล้างแค้น’ จากบทกลอน reflections ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ผู้เล่นได้เห็นเมื่อเริ่มเกม ผู้ล้างแค้นในที่นี้ ก็คือสัญลักษณ์แทนการหลอกหลอนจากอดีตนั่นเอง

แน่นอน ตัวละครของคุณเองก็กำลังหลีกหนีจากความผิดเช่นกัน แม้จะไม่เหลือความทรงจำแล้วว่าตัวเองทำอะไรผิดไป อดีตที่หายไปก็ยังคงหลอกหลอน กัดกร่อนในความรู้สึก เสียงเพลงดิสโก้ที่เขาเคยเต้นคู่กับใครบางคนยังคงดังอยู่ในหัว ร่องรอยความเสียหายจากอาวุธสงครามยังคงเห็นได้รอบ ๆ เรวาโชล

สวรรค์ที่สูญสลาย

Disco Elysium เป็นเกมเกี่ยวกับการสูญเสีย

ตัวละครของคุณสูญเสียตัวตนไปกับเหล้าและหัวใจที่แตกสลายไปพร้อมกับหน้าต่างกระจกสีในโบสถ์ที่ถูกทิ้งร้างอยู่สุดปลายทางของย่านมาร์ติแนส เมืองเรวาโชลสูญเสียอำนาจอธิปไตยไปพร้อมกับความหวังที่จะได้หลุดพ้นจากความอดอยากของผู้คน อิลิเซียมค่อย ๆ สูญเสียแผ่นดินไปเรื่อย ๆ ผู้คนในเมืองสูญเสียบางอย่างที่สำคัญเหลือเกินไป – เด็กติดยาสูญเสียผู้ทำหน้าที่พ่อ คนขับรถสูญเสียโอกาสที่จะได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว คลาสเย ผู้หญิงใส่ชุดสีเงินระยับคนที่คุณเจอเป็นคนแรก เธอเองก็สูญเสียบางคนไปเหมือนกัน

แต่ที่มากกว่าเรื่องการสูญเสีย Disco Elysium เป็นเกมเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับช่องว่างในหัวใจ หลังจากได้สูญเสียสิ่งสำคัญไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ตัวละครของคุณต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตต่อไป แม้ว่าช่องว่างนั้นจะกว้างเกินกว่าเขาจะสามารถเติมเต็มได้ด้วยเสื้อผ้า ยา หรือความคิดบ้า ๆ ที่คิดขึ้นมาได้ก็ตาม ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ เขาและมนุษย์โลกทุกคน ก็ยังหนีจากการหลอกหลอนของเหล่าผู้ล้างแค้น – ของอดีตที่แม้จบสิ้น แต่ก็ยังคอยหลอกหลอนอย่างไม่สิ้นสุด – ไม่ได้

Disco Elysium อยากให้คุณดิสโก้ต่อไปให้ถึงที่สุด หักหน้าความหลังที่ยังหลอกหลอน ก่อนที่โลกจะสูญสลายไปในวันหน้า

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
4
Love รักเลย
4
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Features

สารบัญปัญหาสำนักพิมพ์

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง และ สิทธิเดช สายพัทลุง สำนักพิมพ์ น. สถานที่ดำเนินธุรกิจจัดพิมพ์และจำหน่ายตำราหรือหนังสือ สารคดี ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

Articles

Blackstar : คำร่ำลาจาก (เหล่า) มนุษย์ตาสองสีผู้มาจากต่างดาว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพบในสักวัน ทั้งของครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ความตายของตัวเองที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาทุกวินาที โดยเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะมาถึงตัวของเราเมื่อไหร่ จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวที่ทำให้ไม่อยากจะใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้อีกต่อไป แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่ง ชายผู้แม้ความตายจะมาเคาะประตูหน้าห้อง ...

Articles

The substance: การฉายซ้ำของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการติดหล่มความงาม มองข้ามความจริง และ Ageism ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร “You were amazing” “เธอ ‘เคย’ ยอดเยี่ยม” คือคำเขียนในการ์ดที่ถูกแนบมาพร้อมดอกไม้ช่อโต ...

Writings

จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง, ชวิน ชองกูเลีย และ ศิรประภา จารุจิตร จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ คำนำ งานหนังสือ ...

Articles

Look Back: มองย้อนไป…กับหัวใจที่ต้องเดินหน้าต่อ

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘Look Back’ “ถ้าตอนนั้นทำอีกแบบหนึ่ง มันจะเป็นยังไงนะ?” ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save