เรื่องและภาพ : ปาณัสม์ จันทร์กลาง
จากกรณีที่สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สภาฯ) ส่งหนังสือแจ้งถึงคณบดีทุกคณะ วิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา ว่าการบังคับให้แต่งชุดนักศึกษาเข้าสอบเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ ต่อมาพบว่านักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ใส่ชุดไปรเวทเข้าสอบ จำเป็นต้องเขียนใบคำร้องก่อนเข้าห้องสอบ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์เรื่องสิทธิการแต่งกายของนักศึกษานั้น
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 เวลา 9.30 น. ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า คณะฯ ไม่มีการห้ามนักศึกษาที่แต่งชุดไปรเวทเข้าสอบกลางภาค เพียงแต่ต้องเขียนใบคำร้องเสียก่อน จึงสามารถเข้าห้องสอบได้ตามปกติ แม้นักศึกษาจะให้เหตุผลว่าเป็นการแต่งกายสุภาพตามข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของมหาวิทยาลัย แต่การที่ข้อบังคับนั้นไม่ได้ระบุลักษณะของชุดสุภาพไว้ชัดเจน จึงสร้างความสับสนให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่คุมสอบ เนื่องจากแต่ละคนตีความคำว่าชุดสุภาพไม่เหมือนกัน ทางคณะฯ จึงใช้ประกาศ เรื่อง ข้อปฏิบัติในการแต่งกายในการสอบกลางภาคและสอบไล่ ของเมื่อปี 2549 ที่ระบุลักษณะของชุดสุภาพอย่างชัดเจน เพื่อความเข้าใจตรงกันของบุคลากรภายในคณะฯ และใช้เป็นระเบียบควบคู่ไปกับข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
“อาจารย์ (คณบดี) ไม่ได้ยึดติดกับชุดนักศึกษานะ แต่ยึดติดกับคำว่าชุดสุภาพ มหาวิทยาลัยควรมีไกด์ให้ว่าชุดสุภาพคืออะไร สุภาพของอาจารย์ สุภาพของเรา กับสุภาพของคนอื่นมันไม่เหมือนกัน เราแค่อยากให้เด็กได้แต่งชุดสุภาพให้เหมาะสมตามกาลเทศะ” คณบดี กล่าวและว่า ชุดสุภาพไม่จำเป็นต้องเป็นชุดนักศึกษา และเข้าใจว่าในตอนนี้ทางคณะฯ และนักศึกษากำลังตั้งคำถามเดียวกันว่า ชุดที่สุภาพ เหมาะสม และถูกกาลเทศะคืออะไร
คณบดี กล่าวว่า เคยมีแผนพูดคุยกับนักศึกษาเรื่องระเบียบการแต่งกายตั้งแต่ช่วงแรกของการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 1/2565 แต่มีเหตุการณ์นักศึกษาของคณะฯ ติดโควิดจำนวนมากจากการกลับมาเรียนออนไซต์ ทำให้แผนการพูดคุยถูกเลื่อนออกไป แต่เมื่อมีประเด็นเรื่องการแต่งชุดไปรเวทเข้าสอบกลางภาคเกิดขึ้น คณะฯ จึงเตรียมพูดคุยกับตัวแทนนักศึกษาจากแต่ละสาขา ชั้นปี โดยจะมีการพูดคุยหลังจากเสร็จสิ้นการสอบกลางภาค เพื่อหาข้อตกลงถึงลักษณะของชุดสุภาพ สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และใช้ร่วมกันต่อไป โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนสอบปลายภาค
ปัณณพัทธ์ จันทนางกูล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา เพราะข้อบังคับของมหาวิทยาลัยไม่มีการระบุเรื่องการแต่งกายเข้าสอบไว้ แต่คณะฯ ยังคงใช้ประกาศที่อ้างอิงจากข้อบังคับเก่าที่ถูกยกเลิกไปแล้วอยู่ ทำให้เขาเคยต้องเขียนใบคำร้องชี้แจงเหตุผล แม้ว่าคณะฯ ไม่ได้มีบทลงโทษ แต่ขั้นตอนการเขียนใบคำร้องก็ทำให้เสียเวลาในการสอบไปมาก คาดว่าการที่สภาฯ ส่งหนังสือแจ้งไปยังคณบดีทุกคน ว่าการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะคณะสายวิทยาศาสตร์
“อยากบอกเพื่อนๆ ว่า พวกเราทุกคนมีสิทธิ์บนร่างกายของตัวเอง อยากให้ทุกคนตระหนักไว้อยู่เสมอ ไม่งั้นมันจะเป็นช่องโหว่ให้คนอื่นมาลิดรอนสิทธิของเรา สุดท้ายแล้วก็จะทำให้เราไม่มีสิทธิเสรีภาพ และอยากบอกถึงคณะกรรมการนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ (กน.วศ.) ว่า นักศึกษาเลือกคุณมาเป็นผู้แทนพวกเขา แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทำไมถึงปล่อยให้นักศึกษาในคณะฯ เคลื่อนไหวกันเอง อุดมการณ์ของพวกคุณไม่ได้ยืนอยู่เคียงข้างนักศึกษาเหรอครับ ได้โปรดเถอะ ช่วยทำหน้าที่ให้สมกับเป็นผู้แทนนักศึกษาสักที” ปัณณพัทธ์ กล่าว
ด้าน ศิริวรรณ วรชัยยุทธ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีน มธ. กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นการใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบว่า สิ่งที่ต้องพูดคุยกันคือแนวคิดว่า ‘ความสุภาพ’ สำหรับนักศึกษามธ. นั้นคืออะไร เพราะแนวคิดของแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกัน เมื่อมีความสุภาพที่แตกต่างกันย่อมเกิดการถกเถียง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่มองว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นในห้องสอบ เนื่องจากบางครั้งการจัดสอบอาจไม่ใช่เรื่องระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาเสมอไป ดังนั้นจึงต้องมีกรอบบางอย่าง เพื่อป้องกันให้เกิดปัญหาขึ้นน้อยที่สุด นั่นคือชุดนักศึกษาที่เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าเป็นชุดสุภาพ