เรื่องและภาพ: ปาณัสม์ จันทร์กลาง
หัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติรวมพลนักศึกษาหน้าประตูเชียงราก 1 ยืนยันข้อเรียกร้อง เปิดประตู 24 ชั่วโมงเพื่อความสะดวกและปลอดภัยของนักศึกษา พร้อมนัดหมายฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมพูดคุยบ่ายโมงวันนี้ ด้านหัวหน้าผู้ดูแลความปลอดภัยและจราจร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ชี้เพิ่งมีมาตรการอนุโลมให้เข้าออก 1 เลน 24 ชั่วโมงชั่วคราวจนกว่าจะมีมาตรการใหม่
จากเหตุการณ์เมื่อประมาณ 2:00 น. ของวันที่ 27 ตุลาคม มีนักศึกษามธ. ศูนย์รังสิต ขี่รถจักรยานยนต์ชนท้ายรถบรรทุก เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 1 คน บริเวณถนนพหลโยธินขาออก ช่องทางคู่ขนานหน้ามธ. ศูนย์รังสิต ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในช่วงบ่าย วันเดียวกัน องค์การนักศึกษามธ. ส่งสารแสดงความเสียใจและต้องการผลักดันให้มีการขยายเวลาเปิดประตูเชียงรากเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก เพราะเมื่อประตูเชียงราก 1 และ 2 ปิด นักศึกษาจึงจำเป็นต้องเข้าทางประตูพหลโยธินซึ่งเป็นฝั่งถนนใหญ่และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และพรรคโดมปฏิวัติได้ประกาศนัดรวมพลที่ประตูเชียงราก 1 เวลา 22:30 น. ในวันเดียวกัน เพื่อเรียกร้องและกดดันให้มีการขยายเวลาเปิดประตูเชียงราก 1
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนถึงเวลารวมพล 30 นาที มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาพร้อมรับเรื่องร้องเรียน และได้มีการเปลี่ยนมาตรการของคืนวันที่ 27 โดยจากเดิม ประตูเชียงราก 1 ขาเข้าปิดเวลา 23:00 น. และขาออกปิดเวลา 01:00 น.ของอีกวัน เป็นขยายเวลาเปิดประตูขาเข้า 1 เลนเป็นทางเข้าออกได้จนถึง 5:00 น. แทน
นัสรี พุ่มเกื้อ หัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติ ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อเรียกร้องในการชุมนุมครั้งนี้คือ ต้องการให้ประตูเชียงราก 1 เปิดให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์สามารถเข้าออกได้ 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักศึกษา และต้องการให้มธ. เร่งดูแลไฟส่องสว่างและคุณภาพถนนด้วย โดยฝากประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีอำนาจในการต่อรองมากกว่ากลุ่มนักศึกษา หากทางผู้บริหารไม่ทำตามข้อเรียกร้อง ก็จะมีการชุมนุมกดดันต่อไป
นัสรี กล่าวว่า ในการรวมตัวครั้งนี้มีเรื่องไม่พอใจทั้งหมด 2 เรื่อง หนึ่งคือมาตรการที่ออกมาล่าช้า โดยต้องมีการรวมตัวกันก่อนจึงจะมีมาตรการตามออกมา และสองคือการแก้ปัญหาของมธ. ที่เปิดให้รถจักรยานยนต์วิ่งขึ้นทางเท้าหลังจากปิดประตูเชียงราก ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทางเท้าในช่วงที่มีรถมอเตอร์ไซค์ขี่เข้ามาได้
“ไม่ว่าคุณเป็นใครก็ตาม แต่ถ้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย คุณก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าทางเชียงราก หรือสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่สุดก็คือสิทธิ์ในความปลอดภัย มันไม่ได้เป็นแค่เรื่องประตูเปิดหรือปิด แต่มันเป็นเรื่องความปลอดภัยที่คนจะสัญจรเข้าออกได้ ฝั่งเชียงรากคือฝั่งที่นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ หอพัก ร้านอาหารอยู่ตรงนี้ แต่คุณ (มธ.) ดันไปเปิดประตูพหลฯ ซึ่งมันไม่สมเหตุผลเท่าไหร่” นัสรี กล่าว
ทวีศักดิ์ อินกว่าง หัวหน้าผู้ดูแลความปลอดภัยและจราจร มธ. กล่าวว่า ผู้บริหารมีการอนุโลมเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา โดยจัดทำช่องทางพิเศษบริการนักศึกษา 24 ชั่วโมง แต่เมื่อได้พูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาที่มารวมตัวกันแล้ว จึงเปลี่ยนเป็นการเปิดประตูขาเข้า 1 เลนเป็นทางเข้าออก โดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแลการจราจรสวนเลน โดยจะดำเนินมาตรการนี้ต่อไปจนกว่าจะมีมาตรการใหม่จากผู้บริหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกลุ่มนักศึกษาพูดคุยกับตัวแทนผู้รับผิดชอบแล้ว มีการนัดหมายพูดคุยระหว่างตัวแทนนักศึกษากับผู้บริหารเพื่อแก้ปัญหาภายในวันนี้ (28 ต.ค.) เวลา 13:00 น. ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หากประตูเชียงราก 1 ปิดและต้องเดินทางไปยังประตูพหลโยธิน 1 ซึ่งเปิด 24 ชั่วโมง จะต้องเดินทางเข้าถนนพหลโยธินซึ่งเป็นถนนใหญ่ 4 เลน เป็นระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร แต่ถ้าหากจุดหมายคือหอในจะต้องเดินทางเพิ่มอีก 2 กิโลเมตร รวมเป็นระยะทางกว่า 4.5 กิโลเมตรจึงถึงจุดหมาย ในอีกด้านหนึ่ง หากเริ่มจากประตูพหลโยธิน 1 กลับไปยังหอพักที่อยู่บริเวณถนนเชียงราก จะต้องเดินทางอย่างน้อย 7.5 กิโลเมตร โดยต้องไปถึงจุดกลับรถ 2.5 กิโลเมตร และไปต่ออีก 3.5 กิโลเมตรเข้าสู่สามแยกตลาดบางขัน และใช้ระยะทางอีก 1.5 กิโลเมตรขึ้นทางยกระดับเพื่อเข้าสู่ถนนเชียงราก อีกทั้งถนนพหลโยธินเป็นถนนสายหลักที่มีรถบรรทุกสัญจรด้วยความเร็วสูง ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะนักศึกษาที่เดินทางจากประตูพหลโยธิน 1 มายังบริเวณถนนเชียงราก