LifestyleWritings

รำคาญเรื้อรัง เสียงดังในเมืองใหญ่

เรื่องและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร

เสียงบิดมอเตอร์ไซค์บนท้องถนน

เสียงเร่งเครื่องรถยนต์ยามราตรี

อาจจะเป็นเสียงที่คุ้นเคยสำหรับคนที่อยู่ในบ้านติดถนนใหญ่ และคิดว่าไม่แปลกอะไรที่เสียงพวกนี้จะรบกวนชีวิตของเราสักหน่อย

แต่ใครจะรู้ บางทีนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยเวลาตื่นในตอนเช้า เพราะร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอก็ได้

วันนี้วารสารเพรสอยากชวนคุณมาสำรวจมลพิษทางเสียงในเมืองใหญ่ เสียงดังที่เกิดขึ้นแท้จริงส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร แล้วภาครัฐมีส่วนแค่ไหนในการลดมลพิษที่เกิดขึ้น

ไถหน้าจอลงไปอีกหน่อย แล้วคุณจะได้คำตอบ

แค่ไหนคือมลพิษทางเสียง?

            เสียง (Sound) เกิดจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ของมนุษย์ แม้แต่การหายใจยังก่อให้เกิดเสียง แต่เมื่อเสียงนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ มันจะกลายเป็นเสียงรบกวน (Noise) เมื่อเสียงรบกวนมีความดังที่มากเกินไปและยาวนานเกินไปก็จะกลายเป็นมลพิษทางเสียง (Noise Pollution) ในที่สุด 

องค์การอนามัย (WHO) ได้นิยามไว้ว่า เสียงในระดับที่ดังมากกว่า 65 เดซิเบลขึ้นไป จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มมลพิษทางเสียง ขณะที่เสียงที่ดังกว่า 75 เดซิเบล จะส่งผลกระทบกับสุขภาพของคนที่อยู่ในบริเวณนั้น และเสียงที่ดังกว่า 120 เดซิเบล จะสร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกายและระบบประสาทได้

กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่เคยหลับใหล (แต่หลับบ้างก็ดีนะ)

         ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองนอกจากจะรวบรวมความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกันแล้ว การที่เมืองรวบรวมผู้คนมากมายเอาไว้ ยังสร้างความวุ่นวายชวนปวดหัวให้ผู้อาศัย เสียงการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ สร้างความรำคาญ กลายเป็นเสียงรบกวนให้กับเพื่อนบ้านข้างเคียง และพัฒนาสู่การเป็นมลพิษทางเสียงในที่สุด

ในปี 2018 องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเสียงรบกวนไว้ว่า ระดับเสียงบริเวณริมถนนในช่วงเวลาปกติควรมีเสียงดังไม่เกิน 53 เดซิเบล และระดับเสียงบริเวณข้างถนนในช่วงเวลากลางคืนควรดังไม่เกิน 45 เดซิเบล ขณะเดียวกันระดับเสียงการทำกิจกรรมในช่วงเวลาพักผ่อน เช่น การเข้าร่วมคลาสออกกำลังกาย การชมคอนเสิร์ต หรือการฟังเพลงเสียงดังผ่านอุปกรณ์ส่วนตัว เป็นต้น ควรมีเสียงดังไม่เกิน 70 เดซิเบลตลอดวัน

         แต่ในรายงาน Frontiers 2022: Noise, Blazes and Mismatches ซึ่งจัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) ได้จัดอันดับเมืองที่เสียงดังมากที่สุดในโลก โดยแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเสียงและการจราจรในช่วงเวลากลางวัน พบว่า กรุงเทพมหานครถูกจัดอยู่ในอันดับ 9 ของเมืองที่เสียงดังที่สุดในโลก โดยมีค่าเฉลี่ยเสียงดังอยู่ที่ 99 เดซิเบล

         ขณะที่รายงานปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง ปี 2564 จากกรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์มลพิษเสียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า บริเวณพื้นที่ทั่วไปมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 55.5 เดซิเบลเอ แต่พื้นที่ริมถนนมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 65.8 เดซิเบลเอ และมีระดับเสียงเฉลี่ยกลางวัน – กลางคืนอยู่ที่ 72.9 เดซิเบลเอ ซึ่งเกิน 53 เดซิเบลเอ ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

         “กรุงเทพมหานคร เมืองที่ไม่เคยหลับไหล” 

ประโยคนี้ดูเหมือนว่าจะจริง ยิ่งดึกยิ่งคึกคัก ยิ่งดึกยิ่งเสียงดัง ตีสองตีสามเสียงเคาะกระทะจากคุณป้าร้านอาหารตามสั่งในซอยก็ยังคงดังขึ้น พร้อมกับเสียงผัดอาหารส่งกลิ่นหอมกรุ่นมาถึงหน้าห้องนอน เรียกน้ำย่อยคนนอนไม่หลับอย่างไม่นึกสงสาร

         ถ้าการพยายามนับแกะเพื่อสะกดจิตให้หลับคือการต่อต้าน ฉันขอเลือกการเดินออกจากบ้านไปสั่งข้าวกะเพราหมูกรอบกับป้าเขา!

อ่าว! โซลเพื่อนรัก เธอก็เสียงดังเกินค่าเฉลี่ยเหมือนกันนี่

         กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ถึงแม้จะมีพื้นที่เพียง 605.25 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรมากถึงประมาณ 9.4 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ และมีความแออัดมากกว่า ด้วยความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่อยู่ที่ 15,560.7 คน/ตารางกิโลเมตร ก็ทำให้โซลเผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกับกรุงเทพฯ

ในปี 2021 ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เสียงจากพื้นที่ทั่วไปในโซล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้ระบุว่า พื้นที่ A (โรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่สีเขียว) มีระดับเสียงเฉลี่ยตอนกลางวันอยู่ที่ 57 เดซิเบลเอ และระดับเสียงเฉลี่ยตอนกลางคืนอยู่ที่ 51 เดซิเบลเอ ถัดมาคือพื้นที่ B (ที่พักอาศัยทั่วไป พื้นที่กึ่งที่อยู่อาศัย) มีระดับเสียงตอนกลางวันอยู่ที่ 58 เดซิเบล และระดับเสียงเฉลี่ยตอนกลางคืนอยู่ที่ 51 เดซิเบล ต่อมาคือพื้นที่ C (พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่กึ่งอุตสาหกรรม) มีระดับเสียงเฉลี่ยตอนกลางวันอยู่ที่ 62 เดซิเบลเอ และระดับเสียงเฉลี่ยตอนกลางคืนอยู่ที่ 56 เดซิเบลเอ

ขณะที่พื้นที่ริมถนนในโซล พื้นที่ A และพื้นที่ B (โรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่สีเขียวที่พักอาศัยทั่วไป พื้นที่กึ่งที่อยู่อาศัย) มีระดับเสียงเฉลี่ยตอนกลางวันอยู่ที่ 69 เดซิเบลเอ และระดับเสียงตอนกลางคืนอยู่ที่ 66 เดซิเบลเอ ส่วนพื้นที่ C (พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่กึ่งอุตสาหกรรม) มีระดับเสียงเฉลี่ยตอนกลางวันอยู่ที่ 70 เดซิเบล และระดับเสียงเฉลี่ยตอนกลางคืนอยู่ที่ 66 เดซิเบล

เมืองเสียงดัง ปัญหาเรื้อรังคนอยู่

            สหภาพยุโรป หรือ European Union (EU) เห็นว่ามลพิษทางเสียงเป็นปัญหาที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และกลุ่มประเทศสมาชิกควรให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ ทำให้เกิดเป็น the Environmental Noise Directive (END) ซึ่งเป็นข้อกำหนดในการแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียง โดยข้อมูลการคาดการณ์ในปี 2017 ซึ่งรายงานบน END ระบุว่า คนในทวีปยุโรปอย่างน้อย 18 ล้านคนรู้สึก “รำคาญอย่างมาก” ต่อเสียงรบกวนบนท้องถนน และมีคนจำนวนกว่า 5 ล้านคนที่ถูกรบกวนเวลานอนหลับจากเสียงรบกวนอย่างยาวนานบนท้องถนนนี้

นอกจากนั้นแล้วยังมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่ามลพิษทางเสียงส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการผิดปกติทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะวิตกกังวล เป็นต้น นอกจากกลุ่มอาการผิดปกติทางจิตแล้ว มลพิษทางเสียงอาจกระตุ้นให้เกิดกลุ่มโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม หรือเกิดความผิดปกติในระบบเผาผลาญของร่างกายได้ ด้วยผลกระทบที่เพิ่มขึ้นนี้เองจึงทำให้เกิด The Zero Pollution Action Plan ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติเพื่อลดปัญหาที่เกิดจากเสียงรบกวนทางถนน 30%ภายในปี 2030

ประชาชนรำคาญ รัฐต้องจัดการ

ในรายงาน Frontiers 2022: Noise, Blazes and Mismatches จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) ได้เสนอแนวทางการลดมลพิษทางเสียงในเมืองไว้ ซึ่งมีหลากหลายวิธีที่กรุงเทพฯ หรือเมืองต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้เลยทันที ตัวอย่างเช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต้นไม้บนเกาะกลางถนน หรือการปลูกพืชบนหลังคา นอกจากจะสามารถดูดซับเสียงรบกวนได้แล้ว ยังสามารถลดอุณหูมิอาคารได้อีกด้วย หรือการสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าในเมือง ซึ่งจะช่วยลดเสียงรบกวนที่เกิดจากรถเครื่องยนต์สันดาปได้โดยตรง ทั้งยังเป็นเครื่องยนต์ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์

ในปัจจุบัน ภาครัฐของหลายประเทศเร่งสนับสนุนนโยบายเพื่อความยั่งยืนหลากหลายด้าน เพื่อพัฒนาเมืองและสังคมให้น่าอยู่ ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน โดยกรุงเทพมหานคร (BMA) ภายใต้การดำเนินงานของชัชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เริ่มดำเนินโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว 8 โครงการ ซึ่งใน 8 โครงการ มีโครงการที่สามารถบรรเทาปัญหามลพิษทางเสียงได้ 4 โครงการ คือ โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งปัจจุบัน มีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกไปแล้ว 408,922 ต้น ถัดมาคือโครงการสวน 15 นาที มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มสวนสาธารณะ 500 แห่งทั่วกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันมีกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะอยู่แล้ว 203 แห่ง ยังเหลือสวนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุง 131 แห่ง และยังคงมอหาพื้นที่สำหรับสร้างสวนสาธารณะใหม่อีก 166 แห่ง ต่อมาคือโครงการแปลงที่ของประชาชนและเอกชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว โดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาที่ดิน 4 แปลง เป็นพื้นที่กว่า 84 ไร่ และโครงการสุดท้ายคือโครงการถนนสวย 50 เขต ซึ่งจะพัฒนาสิ่งแวดล้อมโดยการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ริมถนนอย่างเหมาะสม โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการ 14 เขต

ด้านสภากรุงเทพมหานครก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการลดมลพิษอันเกิดจากรถยนต์ โดยที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ…หรือกฎหมายรถเมล์อนาคต ซึ่งจะมีผลให้รถประจำทางในกรุงเทพฯ ทั้งหมดต้องเปลี่ยนจากรถเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถไฟฟ้าภายใน 7 ปี

 ขณะเดียวกันรัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้แสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ควรเร่งแก้ไข  ยังอนุมัติงบประมาณกลางเพื่ออุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าอีก 1 พันล้านบาท จากเดิม 3 พันล้านบาท เพื่อเป็นส่วนลด 150,000 บาท ให้ค่ายรถนำไปทำโปรโมชั่นลดราคารถยนต์ไฟฟ้าเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

แต่ถึงอย่างไร การแก้ปัญหาโดยการสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้าก็ดูจะไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดนัก หากภาครัฐพยายามผลักดันให้ระบบคมนาคมมีประสิทธิภาพ สะดวก ทั่วถึงทุกพื้นที่ ขอความร่วมมือประขาชนในการงดการใช้เสียงดังหลังสี่ทุ่มเป็นต้นไป หรือการกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรมระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ชุมชนให้ชัดเจน ก็จะสามารถลดมลพิษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตได้

บรรณานุกรม

European Environment Agency. (2022, December 8). Noise signals . Retrieved from eea.europa.eu: https://www.eea.europa.eu/publications/zero-pollution/health/signals/noise#roadtraffic

Iberdrola. (n.d). Noise pollution: how to reduce the impact of an invisible threat?เข้าถึงได้จาก Iberdrola.com: https://www.iberdrola.com/sustainability/what-is-noise-pollution-causes-effects-solutions

Korean Statistical Information Service. (2023, July 27). Population density by Population Census (Y 1966 – 2022). Retrieved October 25, 2023, from Kosis.kr: https://kosis.kr/statHtml/statHtml.do?orgId=101&tblId=DT_1IN1502&vw_cd=MT_ETITLE&list_id=A11_2015_1&scrId=&language=en&seqNo=&lang_mode=en&obj_var_id=&itm_id=&conn_path=MT_ETITLE&path=%252Feng%252FstatisticsList%252FstatisticsListIndex.do

Korean Statistical Information Service. (2023, July 27). Population, Households and Housing Units (Y2015 – 2022). Retrieved October 25, 2023, from Kosis.kr: https://kosis.kr/statHtml/statHtml.do?orgId=101&tblId=DT_1B08024&conn_path=I2&language=en

UN Environment Programme. (2022, February 17). Frontiers 2022: Noise, Blazes and Mismatches. Retrieved from unep.org: https://www.unep.org/resources/frontiers-2022-noise-blazes-and-mismatches

Wikipedia. (25 ตุลาคม 2566). กรุงเทพมหานตร. เรียกใช้เมื่อ 25 ตุลาคม 2566 จาก Wikipedia: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3

World Health Organization. (2019, January 30). Environmental noise guidelines for the European Region. Retrieved from who.int: https://www.who.int/europe/publications/i/item/9789289053563

กรมควบคุมมลพิษ. (2564). สถานการณ์และการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงของประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เข้าถึงได้จาก air4thai.pcd.go.th: http://air4thai.pcd.go.th/webV2/download.php

กรุงเทพธุรกิจ. (27 กันยายน 2566). ครม.เคาะงบกลางฯเพิ่มพันล้าน อุดหนุนมาตรการให้ส่วนลด ‘รถยนต์ไฟฟ้า’. เข้าถึงได้จาก bangkokbiznews.com: https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1090652

ไทยรัฐออนไลน์. (4 ตุลาคม 2566). สภา กทม. ผ่านร่างรถเมล์อนาคต เปลี่ยนเป็นรถ EV ทั้งหมดภายใน 7 ปี. เข้าถึงได้จาก thairath.co.th: https://www.thairath.co.th/news/politic/2730470

환경부. (2022). “환경통계연감 2022 (제35호).” 세종특별자치시: 환경부. library.me.go.kr: https://library.me.go.kr/#/search/detail/5888832?offset=1에서 검색됨

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Lifestyle

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

Features

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store) ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ  ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ...

Features

หนังสือดี อยาก ‘หลอก’ ต่อ โดย ยมทูตในห้องนอน

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ยมทูต น. ผู้นำคนตายไปยังบัลลังก์พระยมเพื่อรอคำตัดสิน. ยมทูต น. ผู้ดำเนินเรื่องจากวรรณกรรมเยาวชน ‘จอมโจรขโมยหนังสือ’ โดยได้รับหน้าที่เป็นยมทูตของ ลีเซล ...

Articles

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ คำทำนาย: เครื่องมือพยุงจิตใจในสภาวะหมดศรัทธาในตนเอง?

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ในทศวรรษที่ 21 โลกกำลังหมุนไปพร้อมกับการพัฒนาของวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligent หรือ AI) ...

Writings

ไขรหัสลับ ‘หน้าตั๋วรถเมล์’ เศษกระดาษบ่งชี้ที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญา

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เมื่อเรานั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าจะเป็นภาพจำก็คงเป็นระบบ ‘ตั๋ว’ รถเมล์ ทั้งเสียง ‘แก๊บๆ’ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าให้เตรียมเงินจ่ายค่าโดยสารได้แล้ว พร้อมกับตั๋วม้วนยาวที่มีตัวเลขล้อมอยู่เต็มไปหมดและการฉีกตั๋วอย่างฉับไวที่ดูไปก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าทำไปทำไม ดูเผินๆ จะไม่ค่อยเห็นประโยชน์อะไรของตั๋วนอกจากจะเป็น ‘เศษกระดาษที่ทำให้โลกร้อนขึ้น’ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save