เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย
เมื่อเรานั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าจะเป็นภาพจำก็คงเป็นระบบ ‘ตั๋ว’ รถเมล์ ทั้งเสียง ‘แก๊บๆ’ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าให้เตรียมเงินจ่ายค่าโดยสารได้แล้ว พร้อมกับตั๋วม้วนยาวที่มีตัวเลขล้อมอยู่เต็มไปหมดและการฉีกตั๋วอย่างฉับไวที่ดูไปก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าทำไปทำไม
ดูเผินๆ จะไม่ค่อยเห็นประโยชน์อะไรของตั๋วนอกจากจะเป็น ‘เศษกระดาษที่ทำให้โลกร้อนขึ้น’ แต่ที่ผ่านมานั้น เศษกระดาษใบที่ว่าก็คอยเป็นฮีโร่ที่คอยช่วยเหลือผู้โดยสารรถเมล์อยู่หลายต่อหลายครั้งแม้จะลงรถไปแล้ว อีกทั้งเป็นของสะสมที่ผู้คนบางกลุ่มคอยตามหาอยู่อีกด้วย
แล้วมันจะช่วยได้ยังไงในเมื่อแค่เลขบนหน้าตั๋วยังมีแต่ตัวเลขอะไรก็ไม่รู้เลย?
.
ตั๋วใบที่ถืออยู่ บ่งบอกอะไร?
ก่อนจะรู้ว่าตั๋วรถเมล์ช่วยอะไรเราได้ ก็คงต้องรู้ก่อนว่ามันบ่งบอกอะไรได้บ้าง อย่างแรกสุดคือการแยกส่วนประกอบต่างๆ บนหน้าตั๋วรถเมล์ว่าแต่ละจุดมีความหมายอะไรซ่อนอยู่
องค์ประกอบหลักๆ ที่จะพบบนตั๋วรถเมล์จะมีทั้งหมด 6 จุด ได้แก่
- ตัวเลขบนขอบตั๋ว คือเลขบอก ‘ระยะ’ ที่ผู้โดยสารขึ้น ซึ่งจะมีตัวเลขเรียงกันเริ่มตั้งแต่เลข 1 ไปจนถึงเลขต่างๆ หรืออาจไม่มีเลขเลย ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการรถเมล์รายนั้นๆ แต่จะมีคำว่า ‘ไป’ และ ‘กลับ’ อยู่ที่มุมตั๋วเสมอ
- โลโก้หรือชื่อผู้ให้บริการรถเมล์ ซึ่งจะพิมพ์เป็นชื่อผู้ให้บริการรถเมล์คันนั้นๆ ยกเว้นระบบ รถเช่า1
- ตัวเลขระบุ ‘หมวด’ ของตั๋วแต่ละใบว่าถูกพิมพ์ครั้งที่เท่าไร โดยจะมีตั้งแต่เลข 01 ไปจนถึง 99
- เลขหน้าตั๋ว หรือ เลขม้วนตั๋ว เลขหน้าตั๋วจะมีทั้งหมด 7 หลักสำหรับรถ ขสมก. ทั้งหมด และ 6 หลัก สำหรับผู้ประกอบการเอกชนส่วนใหญ่ โดยเลข 3-4 ตัวหน้าจะระบุม้วนนั้นๆ และเลข 3 ตัวหลังจะเป็นเลขตั๋วเรียงตามลำดับตั๋ว ซึ่งสามารถแบ่งรายละเอียดปลีกย่อยได้อีกตามจำนวนในม้วนตั๋ว เช่น ในตั๋วรถ ขสมก. ซึ่งมีจำนวน 1,000 ใบ ก็จะมีตัวเลขตั้งแต่ xxxx000 จนถึง xxxx999
- ราคาค่าโดยสาร ระบุราคาที่ขายตั๋วและข้อความ ‘โปรดเก็บไว้ให้ตรวจ’ เพื่อย้ำผู้โดยสารไม่ให้รีบทิ้งตั๋ว เผื่อว่านายตรวจจะขึ้นมาตรวจตั๋ว
- สีของตั๋ว โดยตั๋วแต่ละราคาของผู้ประกอบการแต่ละรายจะมีสีที่แตกต่างกันเพื่อป้องกันความสับสน
แม้ภาพรวมรายละเอียดบนตั๋วจะมีความหมายคล้ายกันหมด แต่ในบางบริษัทก็อาจจะมีรหัสอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา เช่น เครือ บริษัท กิตติสุนทร จำกัด (สาย 33 ปทุมธานี – เทเวศร์, สาย 1138 ปทุมธานี – รังสิต, ฯลฯ) ที่มีการเพิ่มจุดสังเกตในการแยกรถร้อนและรถแอร์ โดยรถแอร์จะมีตัวอักษร ‘อ’ ติดอยู่บนหน้าตั๋วด้วย
ทั้งนี้ ในการใช้งานจะมีหลักการฉีกตั๋วที่เหมือนกันคือ ‘การฉีกตามระยะที่ถูกกำหนดมาจากตารางค่าโดยสาร’ สมมติว่าขึ้นรถสาย 510 จาก ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รังสิต เราจะได้ตั๋วราคา 17 บาทที่ถูกฉีกคำว่า ‘กลับ’ ออกไปและฉีกที่ช่องตัวเลข 1 มา
ตั๋วราคา 17 บาทคือค่าโดยสารที่เราจ่ายไปตามอัตราที่ถูกกำหนดไว้ ส่วนการฉีกคำว่า ‘กลับ’ ออกไปก็เพื่อสื่อว่าเรากำลังนั่งรถขาไปอยู่จึงต้องฉีกให้เหลือแค่คำว่า ‘ไป’ ส่วนเลข 1 ที่ถูกฉีกเข้าไปคือสถานที่ๆ เราขึ้น เนื่องจาก ม.ธรรมศาสตร์ คือต้นทางซึ่งอยู่ในระยะช่องแรกสุดของสาย 510 โดยตั๋วใบนี้จะสามารถนั่งไปได้ถึง มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะถ้าหากนั่งเลยจากจุดที่ว่า ค่าโดยสารจะขึ้นเป็น 19 บาทตามตารางค่าโดยสารนั่นเอง
- รถเช่า คือระบบการบริหารรถเมล์ที่เจ้าของอู่หรือ ‘เถ้าแก่’ จะปล่อยให้ใครก็ได้มาเช่ารถของเขาออกไปให้บริการและเก็บเงินเอง (คล้ายกับการเช่าแท็กซี่ขับ) โดยระบบงานแบบนี้จะไม่มีพนักงานประจำ ถ้าหากพนักงานคู่ที่มาเช่า (ทั้งคนขับและกระเป๋ารถเมล์) รถไปสามารถหาผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก กำไรจำนวนนั้นก็จะตกเป็นของพนักงานคู่นั้นเอง เนื่องจากระบบดังกล่าวไม่มีการส่งเงินที่อู่ พนักงานจึงสามารถใช้ตั๋วอะไรก็ได้ในการจำหน่าย
ข้อเสียของระบบนี้คือเมื่อผู้โดยสารทำของหายบนรถ จะสามารถตามได้ยากเนื่องจากหน้าตั๋วไม่ได้ระบุรายละเอียดใดๆ ปัจจุบันจะพบรถที่ใช้ระบบดังกล่าวได้ในรถมินิบัสและรถร่วมบริการ ขสมก. บางเส้นทาง
↩︎
หากของหาย เศษกระดาษใบนี้หาคืนให้ได้ (ถ้าไม่โดนหยิบไปก่อน)
อ้างอิงจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ระบุไว้ว่า ‘ตั๋ว น. บัตรบางอย่างที่แสดงสิทธิของผู้ใช้ เช่น ตั๋วรถ ตั๋วภาพยนตร์. (จ.).’
ในบริบทของรถเมล์ ตั๋วรถเมล์ก็เป็นสิ่งแสดงสิทธิของผู้ใช้รถเมล์คนนั้นเช่นกัน ในการนั่งรถเมล์ปกติ ตั๋วอาจจะไม่จำเป็นมากนัก แต่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง คือการ ‘ลืมของ’ บนรถ สิ่งที่จะช่วยบ่งบอกรถคันที่นั่ง เวลาที่ขึ้น รวมไปถึงสถานที่ที่ขึ้นรถได้ นอกจากกล้องวงจรปิดและความทรงจำของผู้ใช้บริการ ก็คงไม่พ้นตั๋วใบที่เราได้รับจากพนักงานเก็บค่าโดยสารหลังจากจ่ายเงินนี้เอง
ในการตามหาของหาย หลังจากที่เราติดต่อผู้ให้บริการรถเมล์ได้แล้ว ข้อมูลพื้นฐานที่เขาต้องรู้จากผู้โดยสารก่อนจะช่วยตามหาของได้ก็คือ เวลาและรถคันที่ผู้โดยสารขึ้นและลืมของไว้ แต่ถ้าจะต้องมานั่งจำเลขรถเรียงคันในสายที่มีรถกว่า 20-30 คัน ก็คงไม่ใช่เรื่องที่สมเหตุสมผลสักเท่าไร การใช้ข้อมูลที่มีอยู่หน้าตั๋วจึงเปรียบเสมือนทางลัดสำหรับการตามหาของหายได้เลย
ถามว่าข้อมูลหน้าตั๋วที่มองไปก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าจะสื่ออะไรเหล่านี้ จะแปลความหมายเป็นข้อมูลผู้โดยสารได้อย่างไร ก็จริงอยู่ที่ลำพังมีแค่ตั๋วคงช่วยผู้โดยสารตามหารถคันที่ขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าหากนำตั๋วไปเทียบกับ ‘ในทำงาน พกส.’ หรือ ‘ใบเที่ยว’ ซึ่งเป็นเอกสารบันทึกที่อยู่ติดตัวพนักงานเก็บค่าโดยสารตลอดการทำงานทั้งวัน ก็จะเห็นทางสว่างได้
ใบเที่ยวที่ว่านี้คือเอกสารที่ระบุข้อมูลเลขหน้าตั๋วทั้งหมดที่ พกส. คนนั้นมีและขายไปแต่ละเที่ยววิ่ง โดยจะเริ่มบันทึกจากหน้าตั๋วใบแรกในม้วน ณ เวลาที่ออกจากต้นทางและหลังจากวิ่งครบ 1 เที่ยววิ่ง มันจึงสามารถบอกทั้งจำนวนเงินที่ได้รับและจำนวนตั๋วที่ขายได้ในเที่ยววิ่งนั้นๆ ด้วยลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนเมื่อต้องยืนยันว่าผู้โดยสารคนนั้นๆ นั่งรถเที่ยวไหน คันใดไป เราจึงสามารถย้อนดูได้ผ่านใบทำงานใบนี้
นอกจากจะใช้ประโยชน์หลังจากลงรถแล้ว ระหว่างการเดินทางบนรถเองก็อาจมีเซอร์ไพรส์จาก ‘นายตรวจ’ ที่ทำให้ผู้โดยสารต้องรีบควานหาตั๋วที่ได้มาตอนขึ้นรถเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเสียค่าโดยสารซ้ำหรือเกิดปัญหาใด
นายตรวจที่ว่านี้ คือผู้ที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบความเรียบร้อยบนรถในเส้นทาง โดยใช้วิธีสุ่มตรวจบนรถและคอยตรวจตราทั้งความเรียบร้อยของพนักงานและตรวจตั๋วของผู้โดยสารว่ามีผู้โดยสารคนไหนที่แอบขึ้นรถโดยไม่จ่ายค่าโดยสารหรือไม่ รวมถึงตรวจว่ามีตั๋วแปลกปลอมอยู่ในมือผู้โดยสารคนไหนด้วยหรือไม่เช่นกัน ซึ่งถ้าหากผู้โดยสารไม่สามารถหาตั๋วที่เลขหน้าตั๋วตรงกับพนักงานเก็บค่าโดยสารได้ ก็มีความหมายโดยนัยว่าผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้จ่ายค่าโดยสาร ทำให้ต้องเสียเงินซื้อตั๋วใหม่
แต่ที่จริงการตรวจตั๋วก็ไม่ได้เข้มงวดถึงขั้นว่าถ้าเลขไม่ถูกต้องแล้วจะต้องเสียค่าโดยสารใหม่เสมอไป เพราะบางครั้งก็อาจมีเรื่องไม่โปร่งใสที่เกิดจากตั๋วรถเมล์อยู่เช่นกัน
ถ้าหากตั๋วที่ได้รับมามีสัดส่วนที่ผิดแปลก สภาพที่ทรุดโทรมจนไม่น่าจะเป็นตั๋วใหม่ หรือตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกับเลขหน้าตั๋วที่พนักงานเก็บค่าโดยสารกำลังขายอยู่ทั้งๆ ที่ตั๋วใบนั้นพนักงานเป็นคนให้กับมือแท้ๆ ก็หมายความว่ามีการทุจริตกับตั๋วรถเมล์เกิดขึ้น และนั่นจะส่งผลให้หลักการเทียบตั๋วในการตามหาของหายที่กล่าวมาทั้งหมดไม่สามารถใช้ได้จริงทันที เพราะคุณถูกโกงแล้ว…
เพราะดูตั๋วเป็น จึง ‘จับช้าง’ ได้
หลังจากที่ทิ้งความสงสัยไว้ในหัวข้อก่อนหน้าถึงการทุจริตตั๋วรถเมล์ จึงอยากชวนทำความรู้จักกลไกการทุจริตตั๋วรถเมล์ หรือที่เรียกติดปากว่า ‘ตั๋วช้าง’
ในภาษารถเมล์ ตั๋วช้าง เป็นคำนามมีความหมายสื่อถึงการทุจริตในการขายตั๋วของพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งเป็นการทำให้ยอดขายหน้าตั๋วไม่ตรงตามจำนวนผู้โดยสารที่ขายตั๋วได้จริงเพื่อยักยอกส่วนต่างไว้เอง โดยถ้าหากเป็นคำกริยาจะใช้คำว่า ‘ช้างตั๋ว’
ที่มาของคำว่า ‘ตั๋วช้าง’ ที่เป็นภาษารถเมล์ไม่มีที่มาบันทึกไว้ชัดเจน แต่ก็มีความคล้ายคลึงกับ ‘ตั๋วช้าง’ ที่เคยเป็นกระแสในช่วงปี พ.ศ.2564 จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาของ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ซึ่งแม้ความหมายของคำจะมี 2 บริบทแต่ต่างก็สื่อถึงการทุจริตเหมือนกัน
ในการเก็บค่าโดยสาร พกส. จะต้องนำเงินที่ได้รับจากผู้โดยสารทั้งหมดส่งไปยังห้องการเงินที่อู่รถเมล์ตามสังกัดของรถเมล์แต่ละสายตามจำนวนราคาตั๋วทั้งหมดที่ขายได้บนรถ แต่ในการขายตั๋วนี้ก็มี พกส. บางคนที่ ‘ฉวยโอกาส’ หลากวิธีไม่ว่าจะเป็น
- นำตั๋วใบที่อาจจะถูกผู้โดยสารคนก่อนหน้าทิ้งไว้บนรถมาขายใหม่
- ฉีกตั๋ว 1 ใบอย่างละครึ่งหนึ่งเพื่อให้ตั๋วใบเดียวมีผู้โดยสารถืออยู่ถึง 2 คน
- จ่ายค่าโดยสารสำหรับผู้โดยสาร 2 คน แต่ฉีกให้ใบเดียว
- ขายตั๋วนอก หรือการนำตั๋วผู้ให้บริการรายอื่นมาขายบนรถของผู้ให้บริการอีกรายหนึ่ง (ยกเว้นรถเช่าที่สามารถใช้ตั๋วแบบใดก็ได้)
และกลโกงอีกมากมาย…ขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ของผู้ทุจริต
การกระทำในลักษณะนี้คือการทำให้จำนวนตั๋วที่ถูกขายในใบเที่ยวมีน้อยกว่าจำนวนที่ถูกขายไปจริงๆ เนื่องจากในระหว่างที่ พกส. กำลังขายตั๋วอยู่ มีตั๋วปลอมถูกขายออกไปด้วยตามกลวิธีต่างๆ ในระหว่างที่ พกส. ฉีกตั๋วด้วยความเร็วที่อาจจับสังเกตไม่ทัน
เพื่อให้เห็นภาพความเสียหายมากขึ้น สมมติว่าถ้าหากบนรถเมล์ 1 วันมีผู้โดยสารขึ้นทั้งหมด 500 คน ค่าโดยสารคนละ 8 บาท แต่พนักงานเก็บค่าโดยสารขายตั๋วจริงออกไป 495 ใบและอีก 5 ใบเป็นตั๋วนอกหรือตั๋วเก่าใช้ใหม่ หมายความว่าจะมีเงินถูกส่งเข้าห้องการเงินเพียง 3,960 บาท แทนที่จะเป็น 4,000 บาท และอีก 40 บาทนั้นคือเงินส่วนต่างที่พนักงานเก็บค่าโดยสารคนนั้นยักยอกไปได้ ใน 1 วัน ที่แม้อาจเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ถ้าหาก พกส. คนนั้นทำแบบเดิมทุกวันๆ ก็อาจเป็นวิธีรวยทางลัดที่ส่งผลให้ผู้ให้บริการรายนั้นๆ สูญเสียรายได้ไปไม่น้อยเลย
ด้วยค่าความเสียหายนี้ การช้างตั๋วจึงมีโทษถึงขั้น ‘ไล่ออก’ จากการทำงานและดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ถ้าจะตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ผู้โดยสารในฐานะคนที่ซื้อตั๋วจาก พกส. อย่างเราจะมีวิธีสังเกตเบื้องต้นหรือไม่
คำตอบคือ ‘มี’
โดยปกติ ตั๋วช้างมักมีรูปแบบผิดแปลกจากตั๋วปกติ เช่น มีสภาพเก่ากว่าตั๋วปกติ มีเพียงครึ่งใบและมักเห็นตัวเลขหน้าตั๋วไม่ชัดเจน ถ้าหากได้ตั๋วรูปแบบดังกล่าวมา สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการทักท้วง พกส. หรือในผู้ให้บริการรถเมล์บางราย การ ‘จับช้าง’ ก็มีเงินรางวัลนำจับให้ผู้โดยสารด้วยเช่นกัน
แม้ปัจจุบันการช้างตั๋วจะมีโทษถึงไล่ออกและดำเนินคดี รวมถึงยังมีนายตรวจคอยสุ่มตรวจอยู่เป็นระยะ แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างที่ไม่ทราบได้ว่าเป็นเรื่องความคุ้มค่าที่จะยอมเสี่ยง หรือความซับซ้อนของระบบตั๋วรถเมล์ไทย กรณีเหล่านี้จึงยังคงถูกพบเรื่อยๆ ทำให้สุดท้ายแล้วผู้โดยสารเองต้องเป็นฝ่ายปกป้องสิทธิ์ของตัวเองอยู่
อีกบทบาทในฐานะสิ่งที่ (เคย) น่าค้นหา
แม้จะไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าระบบตั๋วม้วนเริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อไร แต่สิ่งเหล่านี้นอกจากจะคอยช่วยเหลือผู้โดยสารบนรถเมล์แล้ว ตั๋วรูปแบบนี้ยังเป็นของสะสมในหมู่คนชอบรถเมล์ รวมไปถึงนักสะสมอีกด้วย ด้วยลวดลายและความหลากหลาย ทำให้เกิดการตามหาและสะสมมากขึ้น โดยความหลากหลายที่ว่านี้คงเป็นเพราะระบบตั๋วม้วนไม่ได้มีใช้งานแค่เฉพาะกับรถเมล์กรุงเทพฯ แต่รวมถึงรถเมล์ต่างจังหวัด และลงน้ำไปถึงแม้กระทั่ง ‘เรือด่วน’ ที่วิ่งอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา
ถ้าหากย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รถเมล์กรุงเทพฯ ยังมีเพียง ขสมก. และบริษัทรถร่วมบริการ ขสมก. รายเล็กรายน้อยมากมาย ส่งผลให้ตั๋วรถเมล์ในเวลานั้นมีหลากหลายรูปแบบให้สะสม และทำให้การตามขึ้นรถเมล์แต่ละคัน แต่ละสาย เป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับนักสะสมมากพอสมควร (รวมถึงผู้เขียน ณ เวลานั้น) กระทั่งทำให้บางคนเกิดสนใจในรถเมล์ขึ้นมา
ปัจจุบันแม้ความหลากหลายของตั๋วรถเมล์จะตายจากไปพร้อมกับผู้ให้บริการรถเมล์รายย่อยต่างๆ ที่ถูกแทนที่ด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง สมาร์ทบัส และไทยสมายล์บัส ตามลำดับ จนตั๋วรถเมล์อาจไม่ได้มีความสนุกในการตามเก็บสะสมเท่าเดิม แต่ในอีกแง่หนึ่ง รถเมล์กรุงเทพฯ ก็ไม่มีผู้ให้บริการที่กระจัดกระจายจนติดต่อลำบาก ควบคุมมาตรฐานได้ยากอีกต่อไป
ตั๋วแบบเดิม ในวันที่เริ่มหายไป
แม้ตั๋วรถเมล์แบบเดิมจะมีความเอกลักษณ์โดดเด่นและน่าค้นหา แต่สุดท้ายเมื่อเวลาเปลี่ยนไป มันเองก็เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาเช่นกัน
ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการรถเมล์มีจำนวนน้อยลงไปมาก ถ้าหากนับเฉพาะผู้ให้บริการที่ได้ให้บริการต่อไปตามโครงการปฏิรูปรถเมล์ที่มีการเปลี่ยนเส้นทาง และเปลี่ยนเลขสายอยู่ในช่วงนี้ ก็เหลือเพียง ขสมก. เครือไทยสมายล์บัส และบริษัทเอกชนรายย่อยอีก 5 บริษัทเท่านั้น จากเดิมที่เคยมีผู้ให้บริการรายย่อยรวมกันร่วม 50 บริษัท ซึ่งในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของผู้ให้บริการนี้ ผู้ให้บริการรถเมล์ที่เหลืออยู่บางรายก็เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีในการขายตั๋วมากขึ้น จากเดิมที่เคยใช้กระบอกตั๋วคู่กับตั๋วม้วนที่ต้องแกะความหมายต่างๆ ก็กลายเป็นสลิปที่ระบุรายละเอียดการจ่ายเงินที่เข้าใจง่ายขึ้น มีการระบุถึงหมายเลขรถและเวลาขึ้นรถที่ช่วยให้เข้าใจสิ่งที่อยู่บนหน้าตั๋วอย่างชัดเจน
รวมถึงกระแสสังคมในปัจจุบันที่หันมาลดขยะและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างที่กล่าวไว้ในย่อหน้าแรกว่า ตั๋วรถเมล์ ดูเผินๆ ก็เหมือนกับ ‘เศษกระดาษที่ทำให้โลกร้อนขึ้น’ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั๋วรถเมล์เองเมื่อหมดประโยชน์แล้วก็เป็นเศษขยะชิ้นหนึ่ง ในปัจจุบันจึงเริ่มมีตั๋วรูปแบบอื่นๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
บัตร Co-Brand
บัตรเดบิตที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ขสมก. และธนาคารกรุงไทย โดยมีทั้งรูปแบบของบัตรเงินสดและรูปแบบของตั๋วล่วงหน้า หรือที่เรียกติดปากว่า ‘ตั๋วสัปดาห์’ หรือ ‘ตั๋วเดือน’ ตามการใช้งานที่เป็นลักษณะเหมาเที่ยวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งก็มาแทนที่ตั๋วล่วงหน้าแบบกระดาษเดิมที่ต้องซื้อใบใหม่ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนเช่นกัน
นอกจากนี้ปัจจุบันบนรถ ขสมก. เองยังสามารถจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตที่มีสัญลักษณ์ Paywave หรือสัญลักษณ์คลื่นบนบัตรได้อีกด้วย
บัตร HOP Card
บัตรเติมเงินของเครือไทยสมายล์บัสที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่น TSB Go Plus (แอปพลิเคชั่นสำหรับติดตามตำแหน่งรถเมล์ของทางบริษัท) เพื่อเช็คประวัติการใช้งานได้ และยังมีโปรโมชั่น Daily Max Fare ที่เมื่อจ่ายค่าโดยสารครบ 40 บาทในแต่ละวันแล้วบัตรจะไม่ตัดเงินเพิ่มอีกทำให้สามารถเดินทางไปไหนมาไหนก็ได้ในงบเพียง 40 บาท (แต่ต้องนั่งรถของเครือไทยสมายล์บัสเท่านั้น)
.
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระค่าโดยสารให้มีทางเลือกมากขึ้นตามสภาพสังคมที่มีการใช้เงินสดน้อยลง (แม้ว่าแนวคิดตั๋วร่วมที่มีอยู่จะยังไม่เกิดขึ้นจริงสักที) จากเดิมที่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องพกเงินสดเพื่อแลกกับตั๋วม้วนที่เป็นวิธีขายตั๋วโดยสารเพียงวิธีเดียว หรือแม้ใช้เงินสดอยู่ก็ยังมีการเปลี่ยนรูปแบบตั๋ว จนทำให้ตั๋วม้วนถูกลดบทบาทและจำนวนลงไป
สุดท้ายแล้ว แม้ตั๋วม้วนแบบดั้งเดิมจะทยอยหายไปเรื่อยๆ แต่มันก็เคยเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของรถเมล์ไทยที่ครั้งหนึ่งเคยมีรูปแบบให้ตามสะสมกันอย่างหลากหลาย และในมุมหนึ่งมันก็สะท้อนภูมิปัญญาของผู้ให้บริการรถเมล์ที่ใช้ระบุข้อมูลของผู้โดยสารและยังช่วยนำพาของที่ถูกลืมไว้กลับสู่มือเจ้าของมาเป็นเวลายาวนานจนไม่รู้จุดเริ่มต้นด้วย
อ้างอิง
ตั๋วรถเมล์ ของหายที่อาจได้คืน เพียงแค่เก็บไว้!!
https://baboonhub.com/bus-ticket/
กระเป๋ารถเมล์โกงค่าตั๋ว ตรวจสอบยาก อายฟลีต ช่วยคุณได้
https://eyefleet.co/employee-cheating-on-bus-tickets/
ว่าด้วยเรื่อง #ตั๋วช้าง ในวงการรถเมล์
https://www.facebook.com/bangkokbusclubpage/posts/pfbid023jvwyXF6a7Xa3uLnm5YHFLkYpT7Eerw9hpcPFLJHocJAXCWkxVyq8nU94Z3Vxhtgl