เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนี
ภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์
ทนายความศูนย์ทนายความมุสลิมชี้ คดีสลายการชุมนุมตากใบไม่ควรมีกรอบอายุความ 20 ปี เนื่องจากคดีใกล้หมดอายุ แต่ครอบครัวผู้สูญเสียยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น.ที่องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีเวทีเสวนา ‘นับถอยหลัง 1 ปี ก่อนคดีหมดอายุความตากใบ : ความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยา’ ซึ่งจัดขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, กลุ่มด้วยใจและสมัชชาภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่าคดีตากใบไม่ควรจะมีอายุความ ในกรณีที่คดีความเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับประชาชน ซึ่งแม้จะมีการหาข้อเท็จจริงและมีการสอบสวนไต่สวนแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ กับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นนี้คดียังต้องอยู่ในกรอบของอายุความ 20 ปีอีกหรือ อาจต้องไปดูว่ามีช่องทางเสนอกฎหมายให้สามารถไม่มีอายุความได้หรือไม่ เพราะหากประเทศไทยทำได้ จะเป็นปรากฏการณ์พัฒนาการทางกฎหมายที่ยืนยันหลักคุ้มครองสิทธิของประชาชน ประชาชนได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้กฎหมายของรัฐจริง ๆ
อาลิดัน กล่าวเพิ่มเติมว่าหากทำให้คดีไม่มีกรอบของอายุความได้จะสามารถรื้อสำนวนคดี หรือค้นหาสำนวนคดีที่หายไปหลายส่วนมาก ๆ ให้กลับคืนมา ทั้งจะสามารถรื้อรายงานที่มีการเผยแพร่ของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีตากใบที่เขียนถึงรายชื่อผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ให้ขึ้นมาเพื่อดำเนินการเอาผิดต่อไปได้ และขออาสาสมัครจากครอบครัวผู้สูญเสียเพื่อร่วมกันทำหนังสือเชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจ สภ.ตากใบ และตำรวจ สภ.หนองจิกให้ออกมาตอบคำถามว่า หลังจากรับเรื่องส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แล้ว สถานะคดีนี้เป็นอย่างไร 1 ปีที่เหลือประชาชนมีสิทธิ์จะฟ้องใครและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้สูญเสียอย่างไรได้บ้าง
“เราต้องมานั่งคุยกันต่อถึงสิ่งที่เราอยากทำ พวกเราจะได้มีทางออกที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหตุการณ์ตากใบจนกว่าจะถึงนาทีสุดท้ายที่เราคิดว่ายังมีโอกาสที่จะทำเพื่อความเป็นธรรมภายใต้กฎหมายไทย 1 ปีก็ยังมีความหวัง” อาลิดันกล่าว
ด้านเอกรินทร์ ด่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า6,935 วันคือเวลาที่ผ่านเหตุการณ์ตากใบ ในมุมของเหยื่อและผู้มีอำนาจก็มองตัวเลขที่นับถอยหลัง 364 วันก่อนคดีจะหมดอายุความด้วยความรู้สึกที่ต่างกันไป ซึ่งเป็นโจทย์ว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการเรื่องคดีความและมีความรู้สึกกับ 364 วันที่เหลือนี้อย่างไร รัฐบาลในฐานะผู้มีอำนาจที่สามารถพูดและคุมเจ้าหน้าที่รัฐได้ต้องทำให้ทั้งรัฐ หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ และประชาชนเห็นตรงกันว่าการชุมนุมเป็นสิทธิ์ ประชาชนเป็นผู้เสียสละออกมาเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ จะต้องไม่มองเขาเป็นศัตรูและทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย
ผู้สื่อข่าว รายงานว่าเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เกิดการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6คนที่ถูกควบคุมมาสอบสวนกว่า 1 สัปดาห์จากข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับการหายไปของอาวุธปืน มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมจนมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตทันที 7 คนในที่เกิดเหตุและหลังจากนั้นมีการขนย้ายผู้ชุมนุมไปควบคุมตัวในค่ายทหาร โดยบังคับให้นอนซ้อนทับกันบนรถบรรทุก จนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 78 คนจากการถูกกดทับหรือขาดอากาศหายใจ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐสักคนเดียว ซึ่งอายุคดีความที่ดำเนินมากว่า 19 ปีและจะหมดอายุในปี 2567