FeaturesLifestyleWritings

สงกรานต์ทั้งที ไม่มีความสงสัยบ้างไม่ได้หรอ?: เมื่อคำถามจากญาติในช่วงเทศกาลแห่งความสุขสร้างความทุกข์ให้ลูกหลาน

เรื่องและภาพประกอบ: ทยาภา เจียรวาปี

หมายเหตุ: ประโยคคำถามในบทความชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมจากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน และคนรอบตัวของผู้เขียนเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

ในสายตาผู้อ่าน ภาพวันสงกรานต์หน้าตาเป็นอย่างไร? เชื่อว่าสำหรับหลายๆ คน คงเห็นภาพการสาดน้ำดับร้อน ภาพความสุข รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และการกลับมารวมตัวกันของญาติพี่น้อง แต่สำหรับผู้เขียน ความสุขในวันสงกรานต์เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า ‘นี่แหละ เทศกาลที่เรารอคอย’ เพราะความรู้สึกนั้นจะหายไปทันทีเมื่อนึกถึงบรรยากาศชวนอึดอัดใจบนโต๊ะอาหารที่มักจะมีญาติบางคนถามคำถามที่หลายครั้งก็ยากจะตอบ หรือบางทีก็ยากจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงตั้งคำถามนี้กับเรา

วันนี้ Varasarn Press จึงอยากจะรวบรวมเรื่องเล่าประโยคคำถามยอดนิยมในช่วงรวมญาติวันสงกรานต์ และวิเคราะห์ถึงเหตุผลเบื้องหลังคำถามเหล่านั้น เพื่อที่เราจะได้เข้าใจมันมากกว่าเป็นแค่การกระทำที่ลดความทรงจำดีๆ ในช่วงแห่งความสุข

คำถามเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต

ต้นข้าว นักศึกษาจบใหม่จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง และ โอม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ซิ่วมาแล้ว 1 ครั้ง ทำให้เขาเรียนจบช้ากว่าญาติคนอื่นๆ ที่รุ่นราวคราวเดียวกัน บอกเราว่าคำถามที่พวกเขาเจอบ่อยและสะกิดต่อมความหงุดหงิดทุกครั้งคือ “เรียนจบแล้ว จะทำงานอะไร มีแผนอะไรในอนาคต?”

“พอแผนในอนาคตมันยังไม่ชัด ยังไม่รู้จะทำอะไรต่อ เวลาโดนถามเลยไม่ค่อยอยากตอบ คือแค่คิดก็เครียดพอตัวแล้ว จะให้มาตอบต่อหน้าคนประมาณสิบกว่าคนบนโต๊ะอาหาร แม่งยิ่งเครียดกว่าเดิม” ต้นข้าวบอกเล่าความคิด เมื่อให้ย้อนนึกถึงวันที่เธอเจอคำถามดังกล่าว

เธอมองว่าคำถามดังกล่าวอาจจะเกิดจากความหวังดีของญาติ ที่เป็นห่วงอนาคตของเธอ แต่ก็รู้สึกในใจลึกๆ ว่าถ้าเป็นห่วงกันจริง ถามแค่เรื่องทั่วไปก็พอ เพราะการถามคำถามแบบนี้ นอกจากจะไม่รู้สึกถึงความเป็นห่วงเป็นใย กลับรู้สึกว่ามันกระทบสภาพจิตใจของเธออีกด้วย “พูดตรงๆ นะ เจอหน้ากัน ยิ้มให้กัน ถามเรื่องแมวที่ฉันเลี้ยงก็พอแล้ว”

ด้านโอมให้มุมมองต่อคำถามนี้อีกว่า มันไม่ใช่แค่คำถามที่สร้างบรรยากาศไม่ดีบนโต๊ะอาหาร แต่มันเป็นเหมือนการบังคับให้เขากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขาดีพอหรือยัง และเก่งพอจะเทียบกับลูกพี่ลูกน้องคนอื่นๆ  ที่พ่อแม่ชอบเอามาเล่าให้ฟังอยู่บ่อยครั้ง ว่าคนเหล่านั้นมีแผนในอนาคตต่างๆ นานาหรือยัง

“คือเราคิดเรื่อง [อนาคต] นั้น อยู่แล้วแหละ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมาถามกัน คือกำลังจะกินข้าว พอมาถามปุ๊บ มันทำให้เราต้องมานั่งคิด นั่งเครียดเรื่องนั้นอีกรอบ”

คำถามเกี่ยวกับเรื่องความรัก

เมื่อถามถึงประโยคคำถามจากญาติที่ชวนให้พวกเขาอึดอัดใจในช่วงวันสงกรานต์ หยก และ อัควา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบประสานเสียงกันโดยไม่ลังเลว่า “มีแฟนหรือยัง?”

“เข้าใจคำว่ามีแต่ไม่อยากบอกไหม คือไม่ได้อยากให้ใครรู้ไง” หยกเล่าด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ พร้อมเสริมประโยคดังกล่าวว่า บ่อยครั้งที่ไปงานรวมญาติ เธอมักจะเจอกับคำถามนี้อยู่หลายหน

ปัจจุบันหยกมีแฟนที่คบกันมาประมาณปีกว่าๆ แต่เธอไม่ได้บอกที่บ้านอย่างชัดเจนนัก จะมีเพียงแค่แม่เท่านั้นที่รู้ โดยเธอมองสถานการณ์ชวนให้อึดอัดใจดังกล่าวว่า อาจเป็นเพราะเป็นหลานสาวเพียงคนเดียวของที่บ้าน จึงทำให้เธอมักถูกจับตามอง (จากลุง ป้า น้า อา) ในเรื่องนี้อยู่ตลอด

เธอรู้สึกว่าทุกครั้งที่โดนตั้งคำถามลักษณะนี้ สร้างความจำเป็นให้เธอต้องปฏิเสธ หรือภาษาชาวบ้านก็คือ ‘โกหก’ ว่าเธอนั้นยังไม่ได้คบใคร ซึ่งมันสร้างความไม่สบายใจ ทั้งๆ ที่เธอแค่ไม่ได้อยากจะป่าวประกาศให้ใครทราบ “ไม่ได้อยากจะปิดนะ แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าพร้อมก็จะบอกเอง แต่ไม่ต้องมาถามแบบนี้ก็ได้”

เช่นเดียวกับอัควา ที่มองว่าการตั้งคำถามแบบนี้สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้เขาอยู่ไม่น้อย ปัจจุบันอัควายังมีไม่มีแฟน แต่เขาก็ได้ศึกษาดูใจกับคนอื่นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่การฟันธงว่าเขามีแฟน เพียงแต่มีคนคุยบ้างในบางครั้ง

“พอตอบว่าไม่มี [แฟน] คนที่บ้านก็แซวต่อว่า ‘เออ ไม่มีใครเอาอะดิ (หัวเราะ)’” ซึ่งคำพูดแซวเล็กๆ น้อยๆ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากคำถามเช่นนั้น สร้างความรู้สึกไม่ดีให้เขาเป็นอย่างมาก

การที่หลานสาวคนเดียวของบ้าน หรือหลานชาย โดนตั้งคำถามถึงสถานะส่วนตัว ทำให้พวกเขารู้สึกว่าบรรยากาศการรวมญาติไม่ได้น่าอภิรมย์อย่างที่คิด เพราะแทนที่เขาจะได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศของเทศกาลแห่งความสุข ได้เพลิดเพลินในวันหยุดยาว พวกเขากลับต้องมารู้สึกแย่กับคำถามและคำพูดแซวของผู้ใหญ่บางคน ที่ถึงแม้ว่าเจตนาของผู้ใหญ่คนนั้นอาจจะแค่ถามเพราะเป็นห่วง (?) หรือแซวเอาสนุก แต่คนโดนถามอย่างเธอกลับไม่อยากตอบ และคนโดนแซวอย่างเขากลับหัวเราะไม่ออก

คำถามเกี่ยวกับชีวิตการเรียน

เชื่อว่าใครหลายๆ คน โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมปลาย และนักศึกษาต้องเคยได้ยินหรือเคยถูกตั้งคำถามถึงเรื่องการเรียนเป็นแน่ สำหรับบางคนมันอาจเป็นคำถามที่สามารถตอบได้อย่างภาคภูมิใจ แต่สำหรับบางคนมันอาจเป็นคำถามที่สร้างความอึดอัดใจอยู่ไม่น้อย เพราะพวกเขาไม่ได้อยากบอกใครหรือไม่ได้ภูมิใจกับสิ่งที่เป็นอยู่

ครีม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอในวันรวมญาติช่วงสงกรานต์ว่า “มีลุงคนหนึ่่ง มาถามว่า ‘สอบติดที่ไหนเนี่ยเรา? หรือลงเอกชนไปละ? รู้ไหมๆ ลูกลุงสอบติดหมอนะ’ ตอนนั้นโคตรงงเลย อันนี้คือถามหรืออวด ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่เธอกำลังเตรียมตัวอ่านหนังสืออย่างหนัก เพื่อจะซิ่วไปเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เธอสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพไปด้วย ระหว่างที่รอการสอบรอบใหม่ ทำให้เธอตอบลุงคนนั้นไปว่า “ใช่ค่ะ สมัครเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนไป” เธอตอบแค่ส่วนแรกของคำถามของลุง และไม่ได้ได้ยินดียินร้ายหรือต่อความยาวสาวความยืด ถึงประเด็นที่ลูกของลุงเพิ่งสอบติดหมอ

เธอเล่าให้ฟังว่าเมื่อมองย้อนกลับไปที่ความรู้สึก ณ วินาทีนั้น เธอรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีความสามารถ และไม่เก่งเท่ากับลูกของป้าเลย เพราะตัวเองสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยรัฐเหมือนญาติคนอื่นๆ และอีกไม่นานกำลังจะกลายเป็นเด็กซิ่ว (ถ้าสอบติด) ในขณะที่ญาติของเธอกลับเป็นว่าที่นักเรียนแพทย์

“มันเป็นความรู้สึกที่เxี้ยมากเลยนะเว่ย คือถ้าลุงแม่งไม่ถาม วันนั้นกูก็ไม่ [อารมณ์] ดิ่งหรอก สงกรานต์กูกร่อยเลย”

ท่ามกลางการเฉลิมฉลองปีใหม่ไทย แสงสี เสียงหัวเราะ และการเล่นน้ำแสนสนุกที่รอเธออยู่หน้าบ้าน ครีมกลับได้แต่รู้สึกแย่กับตัวเองในห้อง และขอให้สงกรานต์ในปีนั้นจบลงเสียที จะได้ไม่ต้องเจอลุงคนนี้อีก

ปัจจุบันครีมยังคงเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพอยู่ และแม้ว่าเธอจะถอดใจกับการซิ่วไปเรียนที่อื่น เพราะเรียนรู้ได้ว่าเสียเวลาเปล่าๆ แต่เธอไม่เคยถอดใจกับความฝันที่จะได้เป็นทนายเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ลุงท่านนั้นรู้ว่า ไม่ว่าจะเรียนจบที่ไหน คุณค่าและความภาคภูมิใจก็ไม่ได้ต่างกัน

คำถามเกี่ยวกับกับร่างกาย

“วันนี้ฉันดูดีจัง เดี๋ยวถ่ายรูปรวม [ครอบครัว] ฉันน่าจะออกมาสวยอยู่” นั่นเป็นความคิดที่เต็มไปด้วยความมั่นใจในตัวเองของผู้เขียนขณะที่กำลังส่องกระจกเพื่อเช็คเสื้อผ้า หน้าผม ก่อนจะถึงเวลารวมญาติในอีกไม่กี่ชั่วโมง แต่แล้วความมั่นใจที่ว่าก็หมดลงทันที เมื่อมีป้าคนหนึ่งในครอบครัวพูดขึ้นมาว่า “อ้วนขึ้นนะ เมื่อไรจะลดน้ำหนัก?”  

แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่คนที่ความรู้สึกอ่อนไหวกับคำพูดง่าย แต่ก็ต้องยอมรับว่าวินาทีนั้น ความรู้สึก ‘เสียเซลฟ์’ หรือไม่มั่นใจในตัวเองก่อเกิดขึ้นมาไม่น้อย แต่ก็ทำได้แค่เพียงตอบไปว่า “หนูชอบหุ่นแบบนี้ค่ะ (หัวเราะและยิ้มแห้ง)” ซึ่งสีหน้าของป้าคนนั้น เป็นสีหน้าที่ไม่สามารถอธิบายออกมาได้แน่ชัด รู้เพียงแต่ว่าป้าท่านนั้นดูแปลกใจกับคำตอบที่ได้รับ และเมื่อยืนอึดอัดใจกันอยู่พักหนึ่ง ถึงเวลาถ่ายรูป ซึ่งผู้เขียนก็ได้แต่ฝืนยิ้ม พลางคิดในใจว่า “รูปที่ออกมา ฉันจะดูอ้วนไหมนะ”

ประโยคคำถามของคุณป้า สามารถตีความได้หลายด้าน ขึ้นอยู่กับเจตนาและน้ำเสียงของผู้ถาม ในด้านหนึ่งคำถามดังกล่าวอาจแสดงออกถึงความห่วงใยถึงสุขภาพ แต่อีกด้านหนึ่งมันอาจเหมือนการวิจารณ์รูปลักษณ์คนอื่น ที่พ่วงคำถามต่อท้ายมาด้วยเท่านั้น

ไม่ว่าจะมองด้านใดก็ตาม เชื่อว่าใครหลายๆ คน (รวมถึงผู้เขียนเอง) น่าจะไม่เห็นความจำเป็นของการตั้งคำถามแบบนี้กับคนอื่น เพราะไม่ว่าแต่ละคนจะมีรูปลักษณ์แบบไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคน (ที่โดนตั้งคำถาม) มีเหมือนกันเลยก็คือ ‘ความรู้สึก’ อาจจะเป็นความรู้สึกเสียใจ ไม่พอใจ หรือเซ็งก็ได้ ขึ้นอยู่ความรู้สึกของคนโดนถามแต่ละบุคคลว่าตั้งรับกับคำถานนั้นอย่างไร ซึ่งเมื่อคำถามเหล่านั้นโผล่ขึ้นมาท่ามกลางเทศกาลแห่งความสุข นอกจากจะทำลายความรู้สึกดีในรูปร่าง มันยังสร้างบรรยากาศที่น่าอึดอัดใจในวงสนทนาอีกด้วย

ขอถามกลับบ้างได้ไหม?

ในเรื่องเล่าจากความทรงจำของหลายๆ คนและของผู้เขียนเองข้างต้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เล่าส่วนใหญ่คิดเหมือนกันเมื่อพูดถึงคำถามจากเหล่าญาติๆ ก็คือ สารตั้งต้นของคำถามเหล่านั้น อาจเกิดจาก ‘ความเป็นห่วงเป็นใย’ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? หรือมันเป็นเพียงการเลี่ยงบาลีจากข้อเท็จจริงที่ไม่อาจทราบได้ เพราะคงไม่มีผู้ใหญ่ที่ไหนออกมาสารภาพว่าที่ถามเช่นนั้น เพราะต้องการเหน็บ ต้องการแซะ ไปจนถึงต้องการอวด

แต่ที่แน่ๆ คือสิ่งที่ตกตะกอนได้จากเรื่องเล่าถึงสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจเหล่านั้นก็คือ มันเป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรมบางอย่างของสังคมที่ว่า ระบบอาวุโสของคนไทย ที่ผู้ใหญ่มักมีอำนาจและสิทธิแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา (บางทีก็ตรงเกิน) เหนือกว่าลูกหลานในบ้าน กำลังกลืนกินมารยาทการสื่อสาร การให้เกียรติระหว่างกัน และการเคารพความเป็นส่วนตัว ลูกหลานที่โตมาในสังคมไทยส่วนใหญ่มักได้รับการปลูกฝังว่าต้องเคารพผู้ใหญ่ พวกเขาจึงทำอะไรไม่ได้นอกจากขำแห้งและยิ้มเจื่อนกันไป จนทำให้การรวมญาติในช่วงสงกรานต์แต่ละที ไม่ได้มีแค่อากาศของเดือนเมษายนเท่านั้นที่ทำให้คนรู้สึกร้อน เพราะคำถามจากเหล่าญาติสนิทมิตรสหายก็ทำให้คนรู้สึก (หัว) ร้อนได้เช่นกัน จนทำให้บางทีก็อยากจะพลั้งปากถามกลับไปเหมือนกันว่า “สงกรานต์ทั้งที ไม่มีความสงสัยบ้างไม่ได้หรอ?”

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
0
Haha ตลก
1
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Features

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Features

คุยกับ ‘พนารัตน์ อานามวัฒน์’ ว่าด้วยอัตลักษณ์ นโยบาย และความเป็นไปได้อื่นๆ ผ่านผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024

เขียน: วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ: ศิรประภา จารุจิตร 8 โมงเช้าวันอังคาร ร่างไร้สติของฉันพาตัวเองมายังห้องเรียนจนได้ อาจารย์เริ่มพูดที่หน้าชั้นเรียนไปได้สักพักแล้ว คลาสเรียนวิชาประวัติศาสตร์เฟมินิสต์ในหัวข้อทฤษฎี intersectionality หรือทฤษฎีอัตลักษณ์ทับซ้อน ของ Kimberlé ...

Features

สารบัญปัญหาสำนักพิมพ์

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง และ สิทธิเดช สายพัทลุง สำนักพิมพ์ น. สถานที่ดำเนินธุรกิจจัดพิมพ์และจำหน่ายตำราหรือหนังสือ สารคดี ...

Features

AD เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดในสื่อไทย มาไกลพอแล้วหรือยัง ?

เขียน : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ หากลองหลับตาดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง สิ่งที่เห็นตรงหน้าตรงหน้าคงเป็นสีดำ มืดสนิท ได้ยินเพียงเสียงตัวละครพูดคุยกัน แต่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักแสดงบนจอกำลังแสดงสีหน้า ขยับตัวยังไง หรือกำลังจะเกิดอะไรในช่วงไคลแม็กซ์ ...

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save