เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์
เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดยาว เมื่อได้เว้นว่างจากการทำงานและการเรียนอันแสนเหน็ดเหนื่อย หลายคนจึงเลือกจะกลับบ้าน ดังนั้น หากจะเรียกว่าเป็น ‘วันแห่งการกลับบ้าน’ ก็อาจไม่ผิดนัก
หลายครอบครัวอาจมีสมาชิกอย่างพ่อ แม่ ญาติ หรือใครสักคนที่ทำให้อยากกลับบ้านไปหา ทว่าอีกหนึ่งสมาชิกที่หลายคนแทบรอไม่ได้ที่จะให้ถึงวันหยุดยาวและกลับไปใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข ก็คือ ‘สัตว์เลี้ยง’
คำถามคือ ขณะที่เราคิดถึงพวกเขา อยากกลับบ้านไปหามาก แล้วเหล่าสัตว์เลี้ยงจะคิดถึงเราบ้างไหมนะ
ในกรณีของสุนัข เมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาอันแสนร่าเริงของเหล่าน้องหมายามที่เห็นเรากลับบ้านก็คงจะตอบว่า “ใช่ น้องหมาคิดถึงเรา” แต่หากต้องการหาคำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วนั้น ก็คงต้องใช้งานวิจัยเป็นตัวช่วย
ในปี 2015 วิจัยเรื่อง Dogs and their human companions: The effect of familiarity on dog–human interactions โดย Andrea Kerepesi, Antal Dóka, Ádám Miklósi จาก Eötvös Loránd University ประเทศฮังการี ได้สังเกตพฤติกรรมที่สุนัขมีต่อเจ้าของ (Owner) คนที่คุ้นเคยกับน้องหมาตัวนั้นแต่ไม่ใช่เจ้าของ (Fimiliar Human) และคนแปลกหน้า (Unfimiliar Human) โดยเมื่อให้ทั้งเจ้าของคนที่คุ้นเคยกันและคนแปลกหน้าเดินหนี พบว่าสุนัขเลือกจะเดินตามเจ้าของไป นอกจากนี้ เมื่อเหล่าสุนัขได้รับการคุกคามก็มักจะวิ่งไปหาเจ้าของก่อนคนอื่นเสมอ
ข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าเราในฐานะเจ้าของไม่เพียงแต่เป็นผู้มีหน้าที่ให้อาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้สนับสนุนด้านจิตใจ รวมถึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับน้องหมาอีกด้วย
นอกจากด้านพฤติกรรมการตอบสนองแล้ว ยังได้มีการทดลองและหลักฐานด้านประสาทวิทยาอีกด้วย โดยในปี 2015 งานวิจัยเรื่อง Scent of the familiar: An fMRI study of canine brain responses to familiar and unfamiliar human and dog odors โดย Gregory S. Berns, Andrew M. Brooks, Mark Spivak จาก Emory University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองเปรียบเทียบสุนัขที่มีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของและคนคุ้นหน้า (Fimiliar Human) กับสุนัขที่มีปฏิสัมพันธ์คนแปลกหน้า (Unfilimiliar Human) แล้ววัดการทำงานของสมองส่วน Caudate Nucleus ที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อ “การคาดหวังในเชิงบวก” หรือ Positive Expectations ซึ่งหมายถึงการได้รับผลตอบรับที่ดีจากสิ่งที่เราคาดหวัง ผลการทดลองพบว่า เมื่อสุนัขได้เล่นกับเจ้าของและคนคุ้นหน้าซึ่งรวมถึงสมาชิกในบ้านที่มีความคุ้นเคยกับน้องหมา สมองส่วนนี้มีอัตราการทำงานถี่กว่าการเล่นกับคนแปลกหน้า หมายความว่า เหล่าสุนัขได้รับการเติมเต็มจากสิ่งที่เขาคาดหวังและรอคอย
งานวิจัยเหล่านี้จึงอาจจะพอบอกได้ว่า “เราไม่ได้มโนไปเอง” และน้องหมาก็คงคิดถึงเราซึ่งเป็นเจ้าของไม่ต่างกัน
สุดท้ายแล้ว ถึงแม้วันหยุดจะผ่านไป และเราต้องกลับไปสู่โลกการทำงานหรือการเรียนอันแสนจะจริงจังและเคร่งเครียด ทว่าความทรงจำแห่งความสุขที่ได้ใช้ในช่วงเวลาวันหยุดนี้จะคอยบอกกับเราเสมอว่า “มีหมารออยู่ที่บ้านนะ”
บรรณานุกรม
- Antal Dóka, Ádám Miklósi Andrea Kerepesi. (2015). Dogs and their human companions: The effect of familiarity on dog–human interactions. Behavioural Processes, 27-36. เข้าถึงได้จาก : https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0376635714000412
- Andrew M. Brooks, Mark Spivak Gregory S. Berns. (2015). Scent of the familiar: An fMRI study of canine brain responses to familiar and unfamiliar human and dog odors. Behavioural Processes, 37-46. เข้าถึงได้จาก : https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0376635714000473