เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์
ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา
(1) ปี 2024 ได้ดำเนินมาถึงครึ่งปีแล้ว และนับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างแท้จริง วิถีชีวิตเก่า ๆ ที่ล้าหลังถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างในวงการสื่อสารมวลชนก็มีผู้ประกาศข่าว AI คนแรก จาก ‘เนชั่นทีวี’ ที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย ในทางกลับกันก็ยังมีสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมานานแต่ไม่เคยหายไป และมีแต่จะรุนแรงขึ้นอย่าง ‘พฤติกรรมการบูลลี่ (Bullying)’ ที่พัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยี จนภายหลังมี ‘ไซเบอร์บูลลี่ (Cyber Bullying)’ ที่ถือกำเนิดและกลายเป็นปัญหาใหม่ในยุคที่เราใช้ชีวิตร่วมกับสื่อสังคมออนไลน์ จนเกิดเป็นคำศัพท์อย่างคำว่า “2024 เสรีบูลลี่” ที่เอามาใช้พูดกันสนุก ๆ จนบางครั้งก็เกิดเป็นเรื่องราวที่ไม่สนุกขึ้นมา
(2) ในปัจจุบัน สังคมที่เต็มไปด้วยสภาวะการแข่งขันสูง นักเรียนต้องสอบแข่งขันเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนโรงเรียนดี ๆ เรียนจบก็ต้องต่อสู้สมัครงานในองค์กรที่ดี จนกระทั่งในวัยทำงาน ทุกวินาทีก็ยังเต็มไปด้วยการแข่งขันและความท้าทาย สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้ผู้คนประสบกับความเครียด จนสามารถเกิดผลร้ายแรงถึงขั้นกระทบกับสุขภาพจิต บางครั้งที่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดคิด การได้มองเห็นคนประสบความสำเร็จยิ่งตอกย้ำถึงความผิดหวัง เหมือนตัวเองกำลังสูญเสียคุณค่าและชีวิตกำลังลงไปสู่จุดต่ำสุด ที่ร้ายแรงไปกว่านั้น หลายคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านี้กลับมองไม่เห็นทางอื่นที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น นอกจากการกดคนอื่นให้ต่ำลงกว่าตัวเอง ด้วยวิธีที่เรียกว่า การบูลลี่ …
อำนาจนิยมคือปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่กับคนไทยในทุกหน่วยย่อยของสังคม คนที่เด็กกว่าหรืออ่อนแอกว่า จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของผู้อาวุโสกว่าหรือผู้ที่มีอำนาจกว่า ผู้ที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจบางคนจึงใช้ช่องว่างนี้ในการรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่าเพื่อตอกย้ำการมีอำนาจของตัวเองและรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น สิ่งที่จะทำให้เห็นภาพนี้ชัดขึ้น ให้ลองมองย้อนกลับไปดูว่าธรรมชาติของคนที่บูลลี่และคนที่ถูกบูลลี่มักจะเป็นภาพของคนที่มีสิ่งที่เหนือกว่า รังแกหรือกระทำกับผู้ที่ด้อยกว่าเสมอ เพื่อแสดงอำนาจผ่านการกดขี่ข่มเหงให้บางคนรู้สึกว่าด้อยกว่าและไม่มีทางสู้ ทว่าภายใต้สังคมแบบอำนาจนิยม ผู้ที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจแล้ว บางทีพวกเขาก็ยังเป็นคนที่ด้อยกว่าผู้ที่มีอำนาจเหนือเขาอีกทอดหนึ่งอยู่ดี ยิ่งคนที่รู้สึกอึดอัดหรือกดดันมาจากสภาพสังคมที่บังคับให้เขารู้สึกว่าเป็นเบี้ยล่าง หรืออยู่ภายใต้อำนาจของคุณครู พ่อแม่ รุ่นพี่ หรือแม้แต่เจ้านายจากสังคมการทำงาน การได้ระบายความรู้สึกเหล่านั้นผ่านการบูลลี่คนอื่น ทำให้คนอื่นดูแย่กว่า ต่ำต้อยกว่า อ่อนแอกว่า จึงเป็นการหาความสุขชั่วคราวผ่านการถ่ายทอดสิ่งที่ถูกกระทำส่งต่อถึงคนอื่นนั่นเอง
การถูกกระทำมาก่อนหรือการเป็นเหยื่อจากอำนาจนิยมจนกระทบกับสุขภาพจิตอาจไม่ใช่สาเหตุหนึ่งเดียวของการบูลลี่ แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก การที่ผู้ถูกกระทำอยากหาที่ระบายความโกรธแค้นออกมาโดยการบูลลี่คนอื่น อาจจะเกิดจากความคิดที่ว่า ‘ฉันก็โดนมาแบบนี้ ทำไมจะทำกับคนอื่นบ้างไม่ได้’ ซึ่งก็ทำให้การรังแกหรือการบูลลี่ถูกส่งต่อไม่รู้จบ หรือบางคนที่บูลลี่คนอื่นก็อาจไม่ใช่เหยื่อมาก่อน เพียงแต่ว่าต้องการมีอำนาจมากขึ้น อยากเป็นใหญ่มากขึ้น การบูลลี่ให้คนบางกลุ่มรู้สึกว่าด้อยกว่าพวกเขาก็ถือเป็นการสนับสนุนความคิดของผู้กระทำให้ดูเหมือนตัวเองมีอำนาจเหนือคนอื่นได้ ซึ่งภายใต้การกระทำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้ว่าผู้บูลลี่อาจจะกำลังไม่เห็นคุณค่าของตัวเองหรือต้องการเรียกร้องความสนใจจนถึงขั้นต้องทำลายคุณค่าของคนอื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่าหรือมีอำนาจขึ้นมา ซ้ำร้าย บางครั้งการบูลลี่คนอื่นก็อาจจะไม่มีสาเหตุมากมายอะไร แต่เพียงแค่ต้องการเหยียดคนที่แตกต่าง ผ่านการบูลลี่ให้คนที่ไม่เหมือนตัวเอง ไม่ว่าจะสีผิว เชื้อชาติ ภาษา เพื่อให้คนที่แตกต่างรู้สึกแย่ที่ไม่เหมือนเขาเท่านั้นเอง
(3) การบูลลี่ในสังคมนับวันยิ่งแย่ลง โหดร้ายขึ้นและทำได้อย่างเสรีมากขึ้น อย่างการกลั่นแกล้งในสังคมออนไลน์ หรือ Cyber Bullying ที่เกิดมาพร้อมกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล ทำให้การบูลลี่เกิดขึ้นง่ายกว่าเดิมมาก ต่อจากนี้ผู้คนไม่จำเป็นต้องรู้จักกันก็สามารถกลั่นแกล้งหรือบูลลี่กันได้ง่าย ๆ ผ่านการคอมเมนท์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย การวิจารณ์ หรือด่าทอ เพื่อระบายอารมณ์และต้องการแสดงอำนาจเหนือผ่านการกดคนอื่นให้ต่ำลงด้วยคำพูดแย่ ๆ หลายเคสที่ถูกบูลลี่เกิดขึ้นจากเหตุผลเพียงแค่พวกเขามีรูปร่างหน้าตาไม่เป็นไปตามค่านิยม เหมือนเป็นที่ระบายอารมณ์ความเก็บกดของชาวเน็ตได้ง่าย ๆ โดยหารู้ไม่ว่าคนที่ถูกบูลลี่ก็มีชีวิตจิตใจและรู้สึกแย่ไม่ต่างจากตอนที่คนบูลลี่เป็นฝ่ายถูกกระทำเหมือนกัน หากลองนึกดูสักนิดก่อนบูลลี่คนอื่นว่าการกระทำเหล่านี้นั้นไม่ต่างไปจากคนที่ใช้อำนาจข่มเหงรังแกคุณมาก่อน ก็จะสามารถหยุดส่งต่อความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจให้กับคนอื่นได้
แน่นอนว่าเราไม่สามารถใช้ชีวิตโดยหลีกหนีจากสังคมอำนาจนิยมหรือผู้ที่ใช้อำนาจกดขี่เราได้ แต่การซึมซับการกระทำเหล่านั้นมากระทำต่อเพื่อระบายอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองก็ไม่ถูกต้อง เราไม่อยากได้รับอะไร ก็ไม่ควรทำสิ่งนั้นกับคนอื่น หากสังคมมองเห็นคุณค่าของตัวเองและคนอื่นมากขึ้นด้วยการส่งต่อแต่พลังบวก เพื่อเติบโตไปพร้อมกันแทนที่จะกดคนอื่นให้ต่ำลงเพื่อให้ตัวเองโตขึ้น ก็น่าจะดีไม่น้อย เราอาจจะไม่สามารถหยุดการกระทำของคนที่ลุ่มหลงในอำนาจได้ แต่เราสามารถสร้างสังคมรอบข้างที่เราต้องการผ่านการกระทำเล็ก ๆ ที่เริ่มขึ้นจากตัวเราได้ง่าย ๆ อย่างน้อยเพียงแค่รักตัวเองให้เป็นโดยไม่ต้องไปลดคุณค่าของคนอื่นเพื่อให้คุณค่าของตัวเองดูสูงขึ้นก็พอ
อ้างอิง
สุภาวดี ไชยชลอ (2565). เมื่อคนตัวใหญ่ ทำให้รู้สึกไร้ค่า : รับมือ ‘อำนาจนิยม’ ในองค์กรอย่างไร ไม่ให้ใจพัง.สืบค้นจาก https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/102559
BookPlus. (ม.ป.ป.). Why Bullying? ทำไมถึงต้องกลั่นแกล้ง อะไรคือสาเหตุของพฤติกรรมรุนแรงเหล่านี้?.สืบค้นจาก https://bookplus.co.th/why-bullying %E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89/