เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์
ภาพ: ด๊ะดา
ข้อมูล : ด๊ะดา และ กรวรรณ เพ็ชรสุภา
25 กันยายน ของทุกปีถือเป็นวันสำคัญของคนช่างฝัน นั่นก็คือ ‘วันฝันโลก’ วันที่คนทั่วโลกไม่ว่าจะเพศใด วัยใด ได้ระลึกถึงอิสรภาพในการฝัน แม้บรรทัดฐานทางสังคมอาจกำหนดอิสรภาพของวิถีชีวิต แต่มันจะไม่สามารถก้าวล่วงไปกำหนดความฝันของคุณได้
ทุกคนล้วนมีความฝันหรือเป้าหมายบางอย่างที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ การฝันไม่มีต้นทุน จะเกิดมาร่ำรวยหรือทุกข์ยาก ความฝันก็คือสิ่งที่ทุกคนสามารถมีได้ แต่ไม่ใช่ทุกความฝันที่จะประสบความสำเร็จ แม้ความฝันจะทำได้ฟรีๆ แต่การบรรลุถึงความใฝ่ฝันแน่นอนว่าจะต้องพบอุปสรรคหลากหลายที่ประเดประดังเข้ามาทดสอบคุณในรูปแบบของการพิสูจน์ หรือการท้าทาย บางคนอาจจะสู้ต่อได้หากยังมีกำลัง แต่กับบางคน เมื่ออุปสรรคในการทำตามความฝันคือเรื่องของ ‘ต้นทุนชีวิต’ ที่ไม่เท่ากัน หลายคนอาจถอดใจจากความฝันและกลับมาสู่โลกความเป็นจริง
บางคนที่ฝันไกลถึงการเที่ยวรอบโลก ถึงแม้จะสู้จนเต็มกำลังก็อาจทำได้เพียงไปเที่ยวในกรุงเทพฯ สักครั้ง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้ง การทำตามความฝันมีมูลค่าที่ต้องจ่าย มูลค่าในที่นี้อาจจะเป็นความอดทน ความพยายาม หรือแม้กระทั่งมูลค่าของ ‘เงินตรา’ ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ถึงฝั่งฝัน
หนึ่งในคนช่างฝันที่มาพร้อมเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความฝันในวันฝันโลก คือนักศึกษาชาติพันธุ์ที่มีความฝันไม่ต่างจากเราทุกคน… ‘ด๊ะดา’ คือชื่อภาษาปกากญอ ของนักศึกษาชาติพันธุ์ ชั้นปีที่ 3 ที่ใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง เดินทางจากหมู่บ้านปกากญอ ที่ตั้งอยู่บริเวณภูเขาสูงในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาเรียนในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
เจ้าตัวให้ข้อมูลว่า ด๊ะดา แปลว่า ลูกคนเล็ก เธอถูกเรียกด้วยชื่อนี้เพราะเธอคือลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัวที่มีลูก 6 คน ด๊ะดาเป็นลูกคนเล็กของบ้านที่กำลังสู้เพื่อความฝันอันยิ่งใหญ่ โดยมีการมาเรียนเป็นใบเบิกทางในการทำตามความฝันที่จะเข้ารับราชการ เพื่อความมั่นคงชีวิตของตัวเองและครอบครัว ทั้งยังมีพ่อแม่และพี่ๆ ทั้ง 5 คน กำลังสนับสนุนให้ลูกคนเล็กของบ้านได้ไปถึงฝั่งฝันอย่างเต็มกำลัง
ความฝันในวัยเด็กของด๊ะดาคืออะไร ?
“ตอนเด็กๆ เราอยากเป็นดารา เป็นนักแสดง เพราะเราชอบดูหนัง เรารู้สึกว่าถ้าเราได้ไปอยู่หน้าจอทีวีคงจะเป็นอะไรที่ดีมาก แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะยากมากเลย”
อะไรที่ทำให้คิดว่ามันยาก?
“มันไม่ใกล้ความเป็นจริงเลย เราว่าการจะเป็นได้มันต้องมีทั้งความสามารถ มีต้นทุนสนับสนุน มองผิวเผินมันอาจจะเป็นง่ายนะ แต่ถ้ามองลึกลงไปในความเป็นจริง ทุกอย่างมันก็ต้องขับเคลื่อนด้วยเงินทั้งนั้น ถ้าบุคลิกไม่ได้เราก็ต้องไปซื้อคอร์สเสริมสร้างบุคลิกภาพอะไรประมาณนี้ เหมือนถ้าเราขาดในส่วนไหนเราก็ต้องใช้เงินไปซื้อส่วนนั้นเพื่อให้เราได้ครบองค์ประกอบ”
“ตอนเด็กๆ เราไม่มีทีวีหรอกนะ ไปดูบ้านร้านขายของ มันแพงมาก มันเป็นไปได้ยากในการที่จะซื้อทีวีมาเป็นของตนเอง ตอนเราเด็กๆ ค่าแรงพ่อแม่ยังอยู่ที่ 150 – 200 บาท อยู่เลย”
แล้วในตอนนี้ด๊ะดามีความฝันที่อยากทำให้สำเร็จไหม?
“ตอนนี้ถ้าเป็นฝันก็คือเรียนให้จบ มีงานมีการที่มั่นคงสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ เราตั้งใจจะสอบ ก.พ. ให้ผ่านและสอบใบประกอบวิชาชีพ เรามองถึงการเป็นข้าราชการ”
ทำไมต้องข้าราชการ?
“เรามองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงนะ มีสวัสดิการที่สามารถดูแลครอบครัวได้ สิทธิ์รักษาพยาบาลพ่อแม่ฟรี เราไม่มั่นใจหรอกนะว่าจะทำฝันนี้สำเร็จไหมเพราะในปัจจุบันการแข่งขันมันสูงมากๆ เลย”
คิดว่ารายได้ มีผลต่อความฝันไหม?
“มีผลมากๆ เลยค่ะ มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดว่าปัจจุบันเงินคือปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต เราอยู่ในประเทศที่เป็นระบบทุนนิยม การที่เราไม่มีเงิน จากค่าแรงที่ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ เป็นปัญหาในการใช้ชีวิตอย่างมากเลยค่ะ”
“ตอนนี้ค่าแรงพ่อแม่ขยับเป็น 300 บาทแล้ว เอาจริงๆ มันไม่พอหรอกค่ะ เพราะว่างานนี้ไม่ได้มีตลอด แต่ที่อยู่ได้เราว่าเป็นเพราะว่ามันไม่ค่อยได้ใช้เงินด้วยอยู่บนนั้น (ชุมชนปกากญอ) …อาหารเราก็สามารถไปหาเอาตามลำห้วยหรือไปหาเอาตามป่า ก็มีอาหารให้กินตลอด ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เงินเลยเพราะพืชผักก็ปลูกเอง แต่ที่มันจะต้องใช้เงินมันจะต้องใช้เงินในการเรียนหนังสือนี่แหละ ส่งลูกเรียน”
“ถ้าเราคิดอยากจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเรา หรือก้าวไปข้างหน้ามันก็ต้องยอมแลกกับการที่เราจะต้องหางานหรือ ว่าเราจะต้องมีเงินในการที่เราจะไปถึงความฝันหรือการก้าวหน้าในชีวิตมันก็อาจจะอยู่ลำบากขึ้นเพราะว่าเรามีความต้องการที่ใหญ่ขึ้น”
การได้มาเรียนคือความฝันไหม แล้วทำไมถึงเรียนด้านสังคมสงเคราะห์?
“การได้มาเรียนคือความฝันของเราเหมือนกัน เป็นความฝันมากๆ เลยแหละ เพราะเราคิดว่าถ้าได้เรียนสูงมันจะเป็นใบเบิกทางให้เราได้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น”
“เหตุผลที่เราเรียนคณะนี้ เพราะเป็นคณะที่ให้โอกาสและเป็นคณะที่ช่วยเหลือผู้คนให้ผู้คนสามารถดำเนินชีวิตต่อในสังคมได้ด้วยตัวเอง เราอยากเป็นโอกาสดีๆ ให้กับคนอื่น เป็นสะพานให้คนอื่นได้มีชีวิตดีๆ ขึ้นเหมือนที่เราได้รับโอกาสดีๆ จากคนรอบข้างเยอะมาก ได้รับความรักได้รับการช่วยเหลือ เราจึงอยากที่จะให้ความช่วยเหลือนั้นไปสู่คนที่เขาต้องการในภายภาคหน้า”
สำหรับด๊ะดา อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำตามความฝันในครั้งนี้
“เงินและวินัยค่ะ ในการสอบมันต้องมีค่าใช้จ่ายนู่นนั่นนี่เต็มไปหมด ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือเงินค่ะ
ส่วนวินัย บางทีเราทำงาน Part Time มาเหนื่อยๆ บวกกับเรียน เราก็อยากพัก มันเลยทำให้เราไม่มีวินัยในการอ่านหนังสือ…แต่บางทีมันก็คือข้ออ้างค่ะ สุดท้ายแล้วถ้าเรามองว่าความฝันนั้นคือสิ่งที่สำคัญกับชีวิตเราจริงๆ เราเชื่อว่ามันเป็นไปได้หมดค่ะ มันไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งที่ยากทั้งนั้น”
ข้อแนะนำสำหรับคนที่ยังไม่กล้าฝัน หรือกำลังเจออุปสรรคในการทำตามความฝัน
“เราอยากบอกคนที่ไม่กล้าฝันว่าฝันเถอะค่ะ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ มันอยู่ที่ความคิดของเรา หากเราคิดและลงมือทำ ยอมเหนื่อยเพื่อฝันของเรา อดทนทำงานหรืออดทนต่อโชคชะตาที่ไม่ได้เข้าข้าง เราเชื่อค่ะว่าทุกอย่างมันเป็นไปได้เสมอ ถ้าได้ลงมือทำแล้ว จะออกมาดีหรือไม่ดี มันก็คือประสบการณ์ชีวิต ถ้าเรามัวแต่ฝันแล้วไม่กล้าลงมือทำ ชีวิตก็อยู่ที่เดิมค่ะ”