เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์
BIOTHAI เผย ต้องระวังการเผยแพร่ข้อมูล-แหล่งข่าวถูกคุกคาม หลังโดน CPF ฟ้องหมิ่นประมาท ยันสู้ไม่ถอย พร้อมผลักดัน 5 ข้อการเคลื่อนไหวสร้างความเปลี่ยนแปลง
.
จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ก.ย. มูลนิธิชีววิถีหรือ BIOTHAI เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรม ยั่งยืน และอธิปไตยทางอาหาร ประเทศไทย ได้รับหมายเรียกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในคดีฟ้องหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยมีผู้ฟ้องเป็นบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ที่ผ่านมานั้น เมื่อวันที่ 12 ก.ย. วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ถูกฟ้อง ทางมูลนิธิฯ ต้องระวังเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น บางเนื้อหาที่เตรียมไว้เผยแพร่ จำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อนเพราะส่งผลต่อการดำเนินคดี และสื่อต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องปลาหมอคางดำก็มีการเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น
วิฑูรย์ กล่าวว่า มีคนอย่างน้อย 5 กลุ่มที่ถูกคุกคาม 1. มูลนิธิชีววิถี 2. แหล่งข่าวที่เป็นอดีตพนักงานในบริษัท 3. ผู้นำชุมชนภาคตะวันออก 4. นักข่าวที่เผยแพร่เรื่องปลาหมอคางดำ 5. ชาวบ้านที่จะลงชื่อฟ้อง CPF “มีรถ SUV พร้อมกับชายกลุ่มหนึ่ง มาจอดรถดู และพยายามมาถามชื่อคนที่เกี่ยวข้องด้วยคำว่า ใช่คนนี้ไหม เดี๋ยวจะมีคนไปพบนะ จนนักข่าวต้องไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ”
วิฑูรย์ กล่าวว่า ในตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดคำฟ้องร้องและมีกำหนดการเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 30 ก.ย. นี้ โดยหมายเรียกที่ทางมูลนิธิได้รับเป็นหมายเรียกที่ออกในวันที่ 5 ส.ค. 67 แต่กลับได้รับหมายในวันที่ 7 ก.ย. 67 หลังจากที่ชาวบ้าน จ.สมุทรสงคราม ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก CPF ในกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ นอกจากนี้หมายเรียกที่ได้รับนั้น เป็นหมายเรียกฉบับที่ 2 โดยที่ทางมูลนิธิฯ ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกฉบับที่ 1
.
ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า จะทำการเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ และมีแนวทางในการเคลื่อนไหวทั้งหมด 5 ข้อ
- ทำหนังสือรวบรวมข้อมูล (Factbook) เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
- สนับสนุนการเคลื่อนไหวประชาชน เช่น เรื่องการฟ้องร้องเอาผิดผู้กระทำผิด
- รณรงค์การคว่ำบาตรสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากเครือต้นเรื่องการระบาดของปลาหมอคางดำ
- เคลื่อนไหวด้านกฎหมาย ด้วยการเตรียมร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้า โดยจะดำเนินการไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
- เคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนหยุดสนับสนุนนักการเมือง ที่ไม่สามารถเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับประชาชนในกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ
.
วิฑูรย์ กล่าวอีกว่า รัฐควรเป็นผู้ดำเนินคดีและฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเอกชน ในกรณีที่มีผู้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมากเช่นนี้ แต่ในตอนนี้ยังไม่เห็นหน่วยงานของรัฐดำเนินการในเรื่องนี้ “เราไม่เห็นบทบาทของรัฐบาล เราเห็นว่าสื่อที่เข้มแข็งพอจะนำเสนอความจริงมีจำนวนน้อย ตอนนี้เหมือนเรากำลังทดสอบกระบวนการยุติธรรม มีคนเตือนเราเยอะเรื่องอิทธิพลและความใกล้ชิดของคนในกระบวนการยุติธรรมและเอกชน แต่เราต้องเลือกทางเลือกนี้ อย่างน้อยที่สุดเราก็จะพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ ว่าในคดีนี้มันจะทำหน้าที่ได้ไหม”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ทำการติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ CPF เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา และไม่ได้รับการตอบกลับ