ArticlesSocietyWritings

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย

ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์

เนื่องจาก MotoGP เป็นงานสเกลใหญ่ระดับโลก จึงต้องมีการจัดรถ Shuttle Bus ที่เวียนรับส่งระหว่างพื้นที่จัดงานและจุดจอดรถส่วนตัวบริเวณนอกงานเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ชมที่จะไหลเวียนมาจากทั่วทุกมุมโลก ในงานนี้จึงมีการเช่ารถเมล์จาก ‘ไทยสมายล์บัส’ ผู้ให้บริการรถเมล์รายใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาวิ่งเป็น Shuttle Bus เชื่อมต่อระหว่างจุดจอดรถต่างๆ กับพื้นที่งานเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2565 ทำให้เกิดเป็นธรรมเนียมที่ทุกเดือนตุลาคม จะมีกลุ่มบัสแฟน (กลุ่มคนที่ชื่นชอบรถเมล์) ส่วนหนึ่งไปรวมตัวที่บุรีรัมย์โดยไม่ได้นัดหมาย เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงไม่กี่ครั้งใน 1 ปีที่จะได้เห็นรถเมล์ในกรุงเทพฯ ออกไปวิ่งคู่กับวิวภูเขานอกเมืองหลวง

รถเมล์ปกติของเรา (คนกรุงเทพฯ) แต่ประหลาดตาเขา

บริเวณรอบงาน MotoGP ไม่ได้มีเพียงงานแข่งรถเท่านั้น แต่ยังมีงาน OTOP และคอนเสิร์ตให้เดินเล่นแวะชมอีกด้วย ดังนั้น นอกเหนือจากจะคอยรับส่งผู้มาชมฝีมือของนักบิดแล้ว รถ Shuttle Bus นี้ยังทำหน้าที่บริการชาวเมืองบุรีรัมย์ที่ไปดูคอนเสิร์ตหรือเดินเล่นงาน OTOP อีกด้วย

จากที่ได้ไปถ่ายรถ Shuttle Bus กลุ่มนี้ที่ จ.บุรีรัมย์ มาตลอดทั้ง 3 ปีนับตั้งแต่มีการนำรถชุดนี้ไปทำงานนอกสถานที่ ประสบการณ์ที่ตราตรึงใจผมที่สุดก็ยังคงเป็นปี 2565 เพราะมันเป็นปีแรกที่คนบุรีรัมย์ได้สัมผัสรถเมล์ไฟฟ้าแอร์เย็นฉ่ำ ส่งผลให้รถ Shuttle Bus ในปีนั้นจึงตกเป็นจุดสนใจอย่างมากของคนในพื้นที่ แม้กระทั่งกับเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกของบุรีรัมย์ที่มาอำนวยความสะดวกในงานเอง…

บนรถวันนั้น ผมได้ยินบทสนทนาที่น่าตกใจเต็มไปหมด บางประโยคก็ทรงพลังมากพอที่จะตราตรึงอยู่ในใจผมมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น

“ว้าว รถเมล์ไฟฟ้า แอร์เย็นมาก มีที่ชาร์จโทรศัพท์บนรถด้วย”

“ที่กรุงเทพฯ มีรถแบบนี้วิ่งเต็มไปหมดเลยนะ”

“อยากให้มีรถแบบนี้มาวิ่งบ่อยๆ จัง”

“ก็ต้องให้มีงานนี้บ่อยๆ นะ”

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเห็นภาพความเป็นอยู่ของรถสาธารณะตามตัวเมืองต่างจังหวัดชัดขึ้นในพริบตาและเริ่มค้นหาข้อมูลรถสาธารณะในตัวเมืองจังหวัดต่างๆ นอกกรุงเทพฯ เพื่อคลายความสงสัยที่ว่า “ถ้าไม่มีงานใหญ่ระดับนี้ คนบุรีรัมย์จะไม่มีรถเมล์แอร์นั่งกันเลยหรอ”

บรรยากาศบนรถ Shuttle Bus เมื่อปี 2565

ตื่นเต้นทำไม บุรีรัมย์ไม่มีรถสาธารณะดีๆ นั่งหรอ (ใช่)

รถสาธารณะในตัวเมืองที่ว่านี้หมายถึง รถโดยสารประจำทางทั้ง 2 ประเภท ได้แก่ รถหมวด 1  หรือรถที่วิ่งอยู่ในตัวเมือง (อำเภอเมือง) และรถหมวด 4 ซึ่งก็คือรถที่วิ่งระหว่างอำเภอ

จากที่ได้ลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับรถสาธารณะในเมืองบุรีรัมย์ก็พบข้อมูลอันน้อยนิดว่า บุรีรัมย์เองเคยมีรถหมวด 1 วิ่งในเมืองเช่นกัน โดยเป็นรถสองแถวสีชมพูจำนวน 2 สายที่เหมือนจะไม่ได้มีจำนวนรถเยอะนัก อ้างอิงจากแหล่งข่าวต้นทางที่เขียนไปในทำนองเดียวกันว่า “…สาย 1 รถวิ่งทุกๆ 1-2 ชั่วโมงตามใจคนขับ” หรือ “ยังมีบริการอยู่มั้ย?? รถชมพู 1 ชั่วโมงมาที บางทีก็ไม่มาเลย….”

นอกจากข้อมูลชุดนี้แล้ว แหล่งข้อมูลที่พบเจอส่วนใหญ่ก็มีอายุเกิน 5 ปีแล้วทั้งนั้น ทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่แน่นอนเท่าไร แต่ด้วยประสบการณ์ของผมที่เคยเห็นรถสองแถวสีชมพูนี้วิ่งผ่านตาไปครั้งหนึ่งเมื่อปี 2565 ซึ่งเป็น ครั้งแรกที่ได้มาถ่ายรถเมล์กรุงเทพที่บุรีรัมย์ ผมเลยค่อนข้างมั่นใจว่า ที่นี่จะยังมีรถสองแถวในเมืองวิ่งอยู่อย่างแน่นอน แม้หลังจากครั้งนั้น จะไม่เห็นรถสองแถวสีชมพูอีกเลยไม่ว่าจะครั้งใดที่มาบุรีรัมย์ก็ตาม

แต่ในตอนนี้ ความมั่นใจที่ว่าได้หายไปเรียบร้อย หลังจากที่ผมนั่งเช็กข้อมูลจำนวนใบอนุญาตประกอบการขนส่งของ จ.บุรีรัมย์ (แปลเป็นภาษามนุษย์คือ ใบอนุญาตให้บริการรถสาธารณะที่ยังคงมีผู้ให้บริการอยู่) และพบหลักฐานชิ้นสำคัญว่าในตอนนี้ จ.บุรีรัมย์ไม่มีผู้ถือใบอนุญาตรถหมวด 1 อยู่แล้ว แสดงว่ารถสองแถวสีชมพูนั้นก็คงกลายเป็นตำนานไปแล้วเช่นกัน

สถิติจำนวนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 จะเห็นได้ว่าช่อง ‘หมวด 1’ ของ จ.บุรีรัมย์ ไม่มีใบอนุญาตประกอบการเหลืออยู่แล้ว

แต่จะบอกว่าไม่มีรถสาธารณะเลยก็ไม่ใช่สักทีเดียว เพราะในตารางด้านบนทำให้เห็นว่ารถสาธารณะที่วิ่งอยู่ในตัวเมืองบุรีรัมย์ตอนนี้ยังเหลือรถหมวด 4 ที่วิ่งไปยังอำเภอต่างๆ รอบนอก โดยรถหมวด 4 ในบุรีรัมย์ส่วนใหญ่เป็นรถตู้ ซึ่งรถประเภทนี้มักใช้กับเส้นทางที่มีจุดจอดน้อยเสียมากกว่า ส่วนรถหมวด 4 บุรีรัมย์ที่ยังคงเป็นรถเมล์ พบว่าเหลือเพียงแค่สาย 1473 บุรีรัมย์ – พุทไธสง – นาโพธิ์ เท่านั้น

รถเมล์หมวด 4 บุรีรัมย์ สาย 1473 บุรีรัมย์ – พุทไธสง – นาโพธิ์

จริงๆ ไม่ใช่แค่ไม่ดี แต่บางที่ไม่มีให้นั่งด้วยซ้ำ

ปัญหาเรื่องรถสาธารณะในกรุงเทพฯ อาจจะเน้นไปที่เรื่องคุณภาพรถ คุณภาพการเดินรถเสียเป็นส่วนมาก แต่สำหรับต่างจังหวัดแล้ว ปัญหาเรื่องสภาพรถและการเดินรถอาจกลายเป็นเรื่องรองที่ไม่สลักสำคัญเท่าไหร่ ในเมื่อบางพื้นที่ ‘ไม่เคยมี’ รถสาธารณะเลยด้วยซ้ำ 

หลังจากพบข้อมูลยืนยันว่าสองแถวชมพูทั้ง 2 สายไม่มีตัวตนอยู่อีกต่อไปแล้ว ผมก็เกิดความสงสัยขึ้นอีกว่า ยังมีรถหมวด 1 สายไหนในบุรีรัมย์ที่เคยถูกร่างเส้นทางไว้ แต่ไม่มีตัวตนอยู่จริงในปัจจุบันอีกไหม จึงได้ค้นหาราชกิจจานุเบกษาฉบับต่างๆ เนื่องจากเมื่อมีการร่างเส้นทางรถสาธารณะขึ้นมาใหม่ หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องมีการประกาศไว้ตลอด แล้วก็พบว่าตลอดมา บุรีรัมย์เคยมีการกำหนดเส้นทางรถหมวด 1 ไว้เพียงแค่ 2 สายเท่านั้นคือ สาย 1 โครงการชลประทานบุรีรัมย์ – บ้านมะค่า และ สาย 2 บ้านซาด – บ้านยาง โดยที่สาย 1 ถูกแก้ไขเส้นทางครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี 2557 และสาย 2 ถูกแก้ไขครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี 2525…

นั่นก็หมายความว่า แม้เวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ เมืองจะขยายตัวหรือเจริญขึ้นปานใด ก็ไม่มีการเพิ่มเส้นทางรถในเมืองบุรีรัมย์ขึ้นเลย ทำให้เห็นว่าในบางจังหวัด นอกจากคนในพื้นที่จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสรถเมล์ดีๆ แล้ว พวกเขาอาจไม่เคยสัมผัสรถประจำทางเลยด้วยซ้ำ เพราะมันไม่เคยมีตัวตนอยู่แต่แรก


นอกจากบุรีรัมย์แล้ว ในเอกสารสถิติจำนวนใบอนุญาตประกอบการขนส่งยังระบุให้เห็นว่า มีอีกถึง 23 จังหวัดที่ไม่มีรถหมวด 1 ให้บริการอยู่ได้แก่ ชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี นครปฐม นครนายก ปราจีนบุรี  จันทบุรี ชัยภูมิ สุรินทร์ บึงกาฬ หนองคาย เลย นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน พิจิตร ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส นั่นหมายความว่า ไม่ได้มีเพียงบุรีรัมย์จังหวัดเดียวที่ไม่มีรถสาธารณะวิ่งบริการประชาชนในตัวเมือง แต่ในภาพรวมแล้วมีถึง 24 ใน 77 จังหวัด หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศไทยที่ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน

(ปทุมธานีไม่มีรถหมวด 1 แต่มีรถหมวด 1 จากกรุงเทพฯ วิ่งไปถึง)

(แม้นครปฐมจะมีรถหมวด 1 จากกรุงเทพฯ วิ่งไปถึง แต่ก็วิ่งเข้าไปแค่พื้นที่ อ.พุทธมณฑล อ.สามพราน อ.นครชัยศรี เท่านั้น ไม่มีรถวิ่งไปถึง อ.เมืองนครปฐม แต่อย่างใด)

ที่มีอยู่ก็ใช่ว่าจะดี

แม้ว่าใน 53 จังหวัดที่เหลือจะมีรถสาธารณะในเมืองวิ่งอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพียงพอแล้ว เพราะในจังหวัดเหล่านี้ก็สามารถพบปัญหารถสาธารณะเรื่องอื่นที่คล้ายกับกรุงเทพฯ มากขึ้น เช่น ประเภทรถที่มักเป็นสองแถวซึ่งไม่ตอบโจทย์กับอากาศประเทศไทย และไม่รองรับผู้ที่ใช้รถเข็น wheelchair หรือปัญหาการเดินรถที่รอนานและติดตามอะไรไม่ได้ อีกทั้งปัญหาหลักที่ดูเป็นเรื่อง classic อย่างต้นทุนในการประกอบการ เพียงแต่ผู้ให้บริการเหล่านี้ยังคงให้บริการอยู่ (เพราะถ้าไม่ให้บริการต่อแล้วก็จะล้มหายตายจากไปเหมือนกับบุรีรัมย์)

รถสองแถวที่แม้ไม่รองรับรถเข็น wheelchair และไม่มีความปลอดภัย แต่ยังคงเป็นรถสาธารณะประเภทหลักอย่างหนึ่งในต่างจังหวัด เช่น จ.ขอนแก่น ที่ถ่ายภาพนี้

นอกจากรถสองแถวที่วิ่งอยู่ในเมืองแล้ว แม้ในปัจจุบันจะเริ่มมีโครงการ Smart Bus เกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ อันเป็นผลจากการศึกษาของสำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด รวมถึงเทศบาลแต่ละจังหวัด เช่น ขอนแก่น สระบุรี เชียงใหม่ ทำให้แต่ละจังหวัดมีรถสาธารณะที่มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ของความสะดวกสบายและความปลอดภัย แต่ระหว่างทางก็เหมือนว่าจะมีขวากหนามอยู่เต็มไปหมด

เนื่องจากโครงการ Smart Bus นี้ ผู้ที่ออกเงินลงทุนก็คือเอกชนแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีรัฐเข้ามาช่วยเหลือประคับประคอง แม้ในวันที่เปิดเดินรถอาจจะมีพิธีการใหญ่โต แต่ถ้าเงินทุนไม่แน่นพอ สุดท้ายก็ต้องตายจากไปเงียบๆ อยู่ดี เหมือนกับหลายจังหวัดที่เคยมีรถเมล์ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไปไม่เคยรอดถึงฝั่งอย่างเช่น อุดรธานี เชียงราย หรือบางจังหวัดต่อให้อยู่รอด ก็อาจจะมีวิ่งเพียงแค่ช่วงเช้า – เย็น ตามเวลาเรียนของนักเรียนที่มักเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของรถสาธารณะตามต่างจังหวัด

รอบเวลาวิ่งล่าสุดของ Smart Bus จ.สระบุรี ที่เหลือเที่ยววิ่งเพียงวันละ 4 เที่ยวเฉพาะวันธรรมดาเท่านั้น
ขอบคุณภาพจาก Bangkokbusclub

เหตุการณ์ที่กล่าวมานี้คือภาพที่ฉายวนซ้ำไปมาครั้งแล้วครั้งเล่า คล้ายกับการ Move on เป็นวงกลม เพราะ ตราบใดที่ผู้ให้บริการรถสาธารณะยังต้องเอาชีวิตรอดอยู่ในเกมที่เดิมพันด้วยเงินของตัวเองทั้งหมดอย่างนี้ ก็คงจะไม่มีใครมีโอกาสมองเห็นความยั่งยืนของขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัด

น่าเศร้าใจที่แม้ในขณะที่แผนพัฒนาประเทศโครงการใหญ่ๆ ออกไปต่างจังหวัด อย่างเช่น รถไฟความเร็วสูง ทางด่วนระหว่างเมือง โครงการนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ จะดำเนินต่อไปไกลเท่าไร เรากลับไม่เคยเห็นแผนที่จะพัฒนารถสาธารณะในจังหวัดต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัยอย่างยั่งยืน (แค่มองการออกแบบของสถานีรถไฟใหม่ๆ ก็ยังไม่เห็นจุดจอดสำหรับรถสาธารณะเลย)

จุดยืนของผมเองยังคงไม่ต่างจากตอนที่เขียนงาน “รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่ ที่อยากให้ภาครัฐหันมาสนใจรถสาธารณะเหล่านี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการในฐานะสวัสดิการของประชาชน หรือสนับสนุนต้นทุนให้ผู้ประกอบการในปัจจุบันกล้าลงทุนมากขึ้นก็คงพอใจมากแล้ว ขอแค่ไม่ทำให้ประชาชนมองว่าการมีรถส่วนตัวเป็น ‘ปัจจัย 4’ ที่ถ้าไม่มีก็ไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้ ก็เพียงพอ

บรรณานุกรม

กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก (2567). จำนวนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2567
https://web.dlt.go.th/statistics/

ยามาฮ่า (ม.ป.ป.). ทำความรู้จักการแข่งรถมอเตอร์ไซค์ MotoGP และ WorldSBK ที่เหล่าไบค์เกอร์ทั่วโลกต้องดู
https://www.yamaha-motor.co.th/blog/detail?url=ทำความรู้จักการแข่งรถมอเตอร์ไซค์-moto-gp-และ-worldsbk-ที่เหล่าไบค์เกอร์ทั่วโลกต้องดู


ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Articles

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

Articles

Blackstar : คำร่ำลาจาก (เหล่า) มนุษย์ตาสองสีผู้มาจากต่างดาว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพบในสักวัน ทั้งของครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ความตายของตัวเองที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาทุกวินาที โดยเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะมาถึงตัวของเราเมื่อไหร่ จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวที่ทำให้ไม่อยากจะใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้อีกต่อไป แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่ง ชายผู้แม้ความตายจะมาเคาะประตูหน้าห้อง ...

Writings

วัวหายล้อมคอก ไฟไหม้ฟาง กับการแก้ปัญหาของรัฐไทย 

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ‘วัวหายล้อมคอก’ และ ‘ไฟไหม้ฟาง’ สำนวนที่เข้ากันดีกับการแก้ปัญหาในสังคมของรัฐไทย ที่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนจึงค่อยมาคิดหาวิธีแก้ไข หรือไม่ก็ตั้งท่าจะแก้ไขแต่ไม่ทำอะไรจริงจัง จนมันก็สายเกินจะแก้ปัญหาตรงหน้าให้ทันท่วงที ...

Articles

The substance: การฉายซ้ำของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการติดหล่มความงาม มองข้ามความจริง และ Ageism ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร “You were amazing” “เธอ ‘เคย’ ยอดเยี่ยม” คือคำเขียนในการ์ดที่ถูกแนบมาพร้อมดอกไม้ช่อโต ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save