เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี
รมช.คลัง เดินหน้าแจกเงินหมื่นเฟส 3 เป็นดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันกระตุ้นการใช้จ่ายได้มากกว่าเงินสด เหตุตั้งเงื่อนไขการใช้เงินได้และต้องการให้ประชาชนเปิดรับเทคโนโลยี
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน เวลา 20.30 น. ในรายการตอบโจทย์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 เฟส 3 อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลวอลเล็ตแทนการโอนเงินสด 10,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องจำนวนผู้ได้รับสิทธิและงบประมาณ
จุลพันธ์กล่าวว่าดิจิทัลวอลเล็ตเป็นรูปแบบใหม่ซึ่งอาจทำให้ประชาชนสงสัยว่าจะใช้ง่ายจ่ายคล่องหรือไม่ และอาจกลัวการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบดิจิทัลนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายลักษณะนี้ออกมาก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนและเดินหน้าทำตามนโยบายต่อไป
“การเดินหน้าโครงการฯ ด้วยดิจิทัลวอลเล็ตในเฟสถัดไปตามกลไกต่างๆ ที่กำหนดไว้ เช่น วิธีการใช้จ่าย สถานที่ สินค้าและบริการต้องห้าม โดยกลไกเหล่านี้ถูกกลั่นกรองมาเพื่อให้เม็ดเงินที่เติมลงไปเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเราเชื่อมั่นว่ากลไกการทำดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากเม็ดเงินที่เติมไปได้มากกว่า (เงินสด)” จุลพันธ์กล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่ารัฐบาลต้องการเดินหน้าโครงการฯ ด้วยดิจิทัลวอลเล็ตจึงพิจารณาผู้ได้รับสิทธิในโครงการฯ เฟส 2 ตามความเปราะบางและความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีก่อน เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ กลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี จึงต้องรอรับสิทธิในโครงการฯ เฟส 3 เพราะคุ้นชินกับเทคโนโลยีมากกว่า
จุลพันธ์กล่าวเพิ่มเติมว่าในการประชุมมีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจร่วมด้วย ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดเห็นชอบว่าโครงการฯ นี้เป็นไปตามกฎหมาย และการใช้เงินทั้งหมดในโครงการฯ เป็นไปตามอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินตามปรกติและผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเรียบร้อย
ด้าน ปัณณ์ อนันอภิบุตร ผู้อำนวยการกองนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลพยายามทำโครงการฯ ด้วยดิจิทัลวอลเล็ตตามที่หาเสียงไว้ แต่ดิจิทัลวอลเล็ตนั้นมีข้อจำกัดและเงื่อนไขการใช้งานมาก อีกทั้งหากระบบรองรับไม่เสถียรก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา
“ข้อเสียของดิจิทัลวอลเล็ตคือมันอาจทำให้เกิดการทุจริตขึ้น เช่น ผู้ได้รับสิทธิได้เงินดิจิทัลมา 10,000 บาท ซึ่งมันมีข้อจำกัดว่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง แต่ในทางปฏิบัติเขาอาจจะอยากนำไปจ่ายค่าเช่าบ้าน จึงอาจมีการฮั้วกับร้านค้าโดยการแลกเงินดิจิทัลของตัวเอง 10,000 บาท กับเงินสด 9,000 บาท แล้วให้ร้านเก็บไว้ 1,000 บาท ซึ่งมันผิดเงื่อนไขของโครงการฯ พูดง่ายๆ คือทุจริตกันทั้งคู่ และมันอาจมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น” ปัณณ์กล่าว
ผู้อำนวยการกองนโยบายภาษีกล่าวว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน เพราะมีเงินอัดฉีดให้ประชาชน ไม่ว่าอย่างไรประชาชนก็นำไปใช้จ่าย แต่สัดส่วนการใช้จ่ายนั้นจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้เงินของประชาชน แต่โครงการลักษณะนี้มักกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น ยกเว้นประชาชนจะนำเงินไปลงทุนซึ่งมีสัดส่วนน้อย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่นำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก
ปัณณกล่าวว่าโครงการแจกเงินในลักษณะนี้ช่วยประชาชนได้ชั่วคราว และสถานการณ์การคลังตอนนี้มีเงินจำกัด จึงควรลดการดำเนินโครงการลักษณะนี้ได้แล้ว แม้จะค่อนข้างได้รับความนิยมทางการเมือง แต่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวได้ เพราะการแจกเงินที่ใช้แล้วหมดไป เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น เด็กจบใหม่หางานยาก หนี้ครัวเรือน และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุ
ปัณณ์กล่าวว่ารัฐบาลควรนำเงินโครงการฯ ส่วนนี้ไปลงทุนพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า “รัฐบาลควรปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่ควรทำคือการพัฒนาคน พัฒนาทักษะ พัฒนานวัตกรรม และลดกลไกการผูกขาดในตลาด”
จุลพันธ์กล่าวว่าโครงการฯ เฟส 1 ได้โอนเงินสด 10,000 บาท ให้กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มคนพิการ ซึ่งผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจเป็นที่น่าพอใจ โดยผู้ได้รับสิทธิร้อยละ 70-80 นำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ตามจุดประสงค์ของโครงการฯ ในขณะที่บางส่วนนำไปลงทุน และมีส่วนน้อยที่เก็บออมไว้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเห็นชอบโครงการฯ เฟส 2 โดยจะโอนเงินสด 10,000 บาท ให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ และยังไม่ได้รับสิทธิในโครงการฯ เฟส 1 รวมถึงมีเงินฝากทุกบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท ภายในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2568