ผู้เขียน : น้ำฝน หนุ่นสี
ภาพประกอบ : จุฑารัตน์ พรมมา
สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ค่านิยมที่ผู้หญิงสมัยก่อนเชื่อและปฏิบัติอยู่ ได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทิศทางใหม่อย่างที่ไม่ใช่สังคมยุคก่อนกำหนดไว้ ค่านิยมเรื่องเพศ ความรัก มิตรภาพ หรือแม้แต่การแต่งงานก็เช่นกัน
Harris and Johnson นักมานุษยวิทยา ระบุว่า การแต่งงานเป็นพิธีที่เปลี่ยนแปลงสถานภาพของชายหญิงคู่หนึ่งโดยผ่านการรับรองความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงให้เป็นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างเครือญาติของทั้งสองฝ่าย การแต่งงานจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการใช้ชีวิตคู่ที่มีส่วนผสมของความรักและความเป็นครอบครัวอยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ การแต่งงานยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่และการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงบทบาทหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้น
ในอดีต เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงก็มักถูกคาดหวังว่าจะปฏิบัติตามค่านิยมของสังคม คือต้องแต่งงานมีครอบครัว หากไม่มีคู่ครองที่หมายปอง ก็อาจถูกบังคับให้แต่งงานโดยที่ไม่ได้สมัครใจ หรือที่เรียกกันว่า ‘การคลุมถุงชน’ โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุว่า ‘คลุมถุงชน’ หมายถึง ลักษณะการแต่งงานที่ผู้ใหญ่จัดการให้ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้จักคุ้นเคยหรือรักกันมาก่อน ซึ่งการแต่งงานในลักษณะนี้อาจจะมาจากการที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น สัญญาใจ ก็เป็นได้
ปัจจุบัน ผู้หญิงมีอิสระทางความคิด การกระทำ และการแสดงออกได้อย่างอิสรเสรีมากขึ้น ทั้งในด้าน การศึกษา อาชีพ รายได้ การพึ่งพาตนเอง ตลอดจนเรื่องของการแต่งงาน ผู้หญิงบางส่วนจึงเลือกหรือลดระดับความสำคัญของการแต่งงานลงให้เป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกของชีวิต
จากการศึกษาของศศิวิมล วรุณศิริ ปรีณวัฒน์ ระบุว่า ผู้หญิงได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น มีโอกาสในอาชีพและค่าตอบแทนที่มากกว่าในอดีต ทำให้ผู้หญิงเลือกจะไม่แต่งงานหรือแต่งงานช้าลง และสำหรับผู้หญิงที่เลือกการแต่งงานก็อาจมีบทบาทหน้าที่เพิ่มมากขึ้น คือนอกจากการเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกและดูแลความเรียบร้อยของบ้านแล้ว ผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้มีบทบาทนอกบ้านในฐานะหนึ่งในแรงงานหลักที่ต้องหาเงินเข้าบ้านและเลี้ยงดูครอบครัว ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงนี้ ทำให้ผู้หญิงโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่าการแต่งงานมีครอบครัว
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่เลือกครองชีวิตโสด ผู้หญิงบางกลุ่มอาจจะเลือกที่จะแต่งงาน เพราะการแต่งงานยังเป็นเรื่องของการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ที่ได้เลือกแล้วว่าจะทำสัญญาหรือข้อตกลงที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกันจนแก่เฒ่า
จะแต่งงานหรือครองชีวิตโสด ผู้หญิงสามารถเลือกได้ทั้งสองทาง ตราบใดที่เลือกบนเส้นทางของความสุขและความสบายใจของตัวเอง ไม่ใช่เพราะค่านิยมที่สังคมกำหนดไว้
อ้างอิง
พัชชา เฮงษฎีกุล. การสมรสครั้งแรกของโลกและเบื้องหลังการแต่งงานที่ไม่ค่อยจะโรแมนติกเท่าไรนัก. สืบค้น 30 ตุลาคม 2564, จาก
https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/first-marriage-history
ศศิวิมล วรุณศิริ ปรีณวัฒน์. (2563). ทำไมน้องไม่แต่งงาน? ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทย. สืบค้น 30 ตุลาคม 2564, จาก
https://www.pier.or.th/abridged/2020/04/
Madthai. (2560). 27 ข้อดี-ข้อเสียแต่งงาน…แต่งงานดีไหม แล้วดียังไง?. สืบค้น 30 ตุลาคม 2564, จาก
หยาง ญาณี. (2559). การแต่งงาน. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์), 5(2), 211-232.
GANGBEAUTY. 4 ความคิดที่ทำให้ผู้หญิงไม่อยากแต่งงาน. สืบค้น 4 พฤศจิกายน 2564, จาก
https://www.gangbeauty.com/love/101242
Sanook. (2557). เหตุผล 5 ข้อที่บ่งบอกว่าสาว ๆ ยังไม่พร้อมแต่งงาน. สืบค้น 4 พฤศจิกายน 2564, จาก
https://www.sanook.com/women/81969/
ธันนิกานต์ ชยันตราคม. การเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ : การศึกษาประเพณีแต่งงานไทย. สืบค้น 4 พฤศจิกายน 2564, จาก
http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOS/article/download/3809/3798
ทิพวรรณ ศิริสัมพันธ์, สิริรัฐ หนูสี และณัฐชนัน ฐิติพันธ์รังสฤต. (2562). การครองโสดของผู้หญิงในยุคโลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจในเมืองไทย. วารสารธรรมศาสตร์ (คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา), สืบค้น 15 พฤศจิกายน 2564, จาก
http://tujournals.tu.ac.th/thammasatjournal/detailart.aspx?ArticleID=3903