Society

Queerbaiting การตลาดที่ลดทอนอัตลักษณ์ทางเพศ และเสียงสะท้อนจากความหลากหลาย

เรื่องและภาพ: ปาณิสรา ช้างพลาย

“ชอบผู้หญิงเพราะอกหักจากผู้ชาย-ยังไม่เจอผู้ชายดีๆ”, “เกย์นิยมแสดงออกเรื่องเพศ”, “ไบเช็กซ์ชวลไม่มีจริง แค่อยู่ในช่วงสับสน”, “ทรานส์แมนต้องแสดงออกเหมือนผู้ชาย” ฯลฯ ภาพจำหรือทัศนคติที่เหมารวม (stereotype) เหล่านี้เป็นความทรงจำกระแสหลักของผู้คนในสังคมที่มีต่อคนในคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ ทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีภาพลักษณ์ที่ผูกกับอคติด้านเดียวจากสื่อที่พยายามฉายภาพซ้ำไปมาอย่างยาวนานจนเราจำได้ขึ้นใจ และปักธงว่าชาว LGBTQIAN+ จะต้อง ‘เป็นแบบนี้’ แน่ๆ  เพราะเควียร์เบต (queerbaiting) ในสื่อที่ตอกย้ำเราอยู่เสมอ

Queerbaiting คือกลยุทธ์การตลาดที่นำอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมาเป็นจุดขายในการผลิตคอนเทนต์ โดยไม่ได้ตระหนักรู้หรือทำความเข้าใจ LGBTQIAN+ อย่างแท้จริง เป็นการรวมศัพท์คำว่า Queer ใน LGBTQIAN+ กับคำว่า Clickbait ซึ่งเป็นเทคนิคเชิงการตลาดที่นิยมใช้คำดึงดูดความสนใจในการพาดหัวข่าว เพื่อหลอกล่อให้ผู้คนคลิกเข้าไปอ่าน เควียร์เบตจึงเป็นการนำภาพจำอย่างผิวเผินต่ออัตลักษณ์ทางเพศของ LGBTQIAN+ มาหาประโยชน์ทางการค้า หรือสร้าง ‘ความเป็นไปได้ที่ไม่ชัดเจน’  ให้ตัวละครในสื่อต่างๆ จากภาพยนตร์ ซีรีส์ เกม ฯลฯ ดูเหมือนจะมีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นเครื่องมือดึงผู้ชม ทั้งกลุ่มคนทั่วไป ชาว LGBTQIAN+ ไปจนถึงคนที่เก­­­­­­ลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobe) ให้สนุกกับคอนเทนต์นั้นโดยไม่เสียฐานผู้ชมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ทำไม Queerbaiting จึงเป็นปัญหา?

แม้จะดูเป็นเรื่องดีที่สื่อมีการกล่าวถึงคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ และมีคอนเทนต์ต่างๆ มากมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศออกมา แต่ถึงอย่างนั้น Queerbaiting กลับส่งผลเสียให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าผลดี เพราะเป็นการใช้ประโยชน์ทางการตลาดจากการฉกฉวยอัตลักษณ์ทางเพศมานำเสนอเพื่อความบันเทิง หรือนำมาใช้เพื่อสร้างความแฟนตาซีเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเกาะกระแสดึงกลุ่มผู้ชมไว้ แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปถึงเนื้อหาก็พบว่าในหลายเรื่องยังมีปัญหาอยู่มาก เช่นในกรณีของแบรนด์แฟชั่น Calvin Klein (2019) ที่ออกโฆษณาขนาดสั้นความยาว 30 วินาที ฉายภาพฉากจูบระหว่าง Bella Hadid นางแบบสาวผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในวงการแฟชั่นกับ Lil Miquela ตัวละครประดิษฐ์ดิจิทัล โดยโฆษณานี้มีกระแสโต้กลับจากคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ อย่างหนักเพราะมองว่าเป็นการนำอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความหลากหลายมาเป็นจุดขายให้กลายเป็นสินค้า โดยไม่ได้ตระหนักถึง LGBTQIAN+ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อีกทั้งการเล่าเรื่องผ่านคนและปัญญาประดิษฐ์ก็ถูกมองว่าทางแบรนด์ไม่มีความตั้งใจที่จะให้ความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงนี้เกิดขึ้นจริง

Bella Hadid (ซ้าย) จูบกับ Lil Miquela (ขวา) ในโฆษณาแคมเปญ #MyCalvins

ยิ่งไปกว่านั้น เควียร์เบตยังส่งต่อความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ LGBTQIAN+ ให้สังคม เนื่องจากอัตลักษณ์เหล่านี้ไม่ได้ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมา และไม่ได้เป็นภาพแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ทั้งยังผลิตซ้ำค่านิยมที่เป็นปัญหาต่อสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดนั่นคือ ‘ซีรีส์วาย’ ที่ถูกล้อมกรอบด้วยค่านิยมชายเป็นใหญ่อย่างสุดขั้ว ทำให้ตัวละครชายรักชายต้องมีฝ่ายหนึ่งที่แสดงบทบาทความเป็นชาย หรือบุคลิกที่ดูแมน เพื่อแบ่งแยกฝั่งรุก-รับอย่างชัดเจน จึงอาจเป็นการนำเสนอที่ผิดไปจากชีวิตจริง และเน้นขายความ ‘ฟิน’ ที่ให้ชายแท้ตามบรรทัดฐานสังคมสองคนมารักกันมากกว่าจะเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมถึงนำเสนอ วัฒนธรรมข่มขืน เช่น ‘ฉากข่มขืน’ จากเรื่อง My Dream The Series นายในฝัน (2018) หรือ ‘ฉากลักหลับ’ จาก TharnType (ซีซั่น 1) เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ (2019) สื่อนำเสนอภาพการใช้กำลังบังคับให้สมยอมมีเพศสัมพันธ์ว่าเป็นเรื่องปกติให้สังคมรับรู้ โดยไม่คำนึกถึงอิทธิพลของสื่อที่มีผลต่อการกำหนดแนวคิดหรือค่านิยมของสังคม และผลร้ายต่อคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ ในระยะยาว ซึ่งการเควียร์เบตนี้ก็ยิ่งตอกย้ำวาทกรรมที่อยู่คู่สังคมมานาน จากวัฒนธรรมข่มขืนที่สื่อหยิบมานำเสนอเชิงโรแมนติก อย่าง ‘แก้ทอม-ซ่อมดี้’ ‘นิ้วเย็นๆ หรือจะสู้เอ็นอุ่นๆ’ ให้ความรุนแรงทางเพศกลายเป็นเรื่องธรรมดา จนถึงขั้นนำมาใช้เป็นมุกตลก เช่น ‘อัดถั่วดำ’ ซึ่งสะท้อนความเกลียดกลัวต่อความรักความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และทำให้ LGBTQIAN+ ตกเป็นเป้าของความรุนแรงในสังคมอยู่ตลอดมา

เสียงสะท้อนของ LGBTQ ต่อความเจ็บปวดที่ได้รับจาก Queerbaiting

ภาพจำแบบเหมารวมหรือมายาคติต่อคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเควียร์เบตของสื่อนั้น ทำให้พื้นที่ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยิ่งหดแคบลงในที่ทางของสังคม และเต็มไปด้วยความเข้าใจผิดที่สร้างบาดแผลให้คนในคอมมูนิตี้ จนบางครั้งก็นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ หรืออาจร้ายแรงจนถึงขั้นใช้ความรุนแรงเพียงเพราะเพศสภาพ เพศวิถีนั้นไม่ได้อยู่ใน ‘กรอบเพศ’ ที่สังคมกำหนดไว้

“สังคมยังมีภาพว่าเลสเบี้ยนต้องเป็นผู้หญิงผมยาว 2 คนรักกัน แต่ความเป็นจริงเลสเบี้ยนก็คือผู้หญิงธรรมดาที่รักกัน ไม่ว่าจะผมสั้นหรือผมยาว การแต่งตัวหรือทรงผมมันคือรสนิยมของแต่ละคนมากกว่า…ตอนเปิดเผยกับครอบครัวว่าเป็นเลสเบี้ยน ก็โดนคำพูดว่ามันไม่ยั่งยืน ไม่มีทางเป็นครอบครัวได้ มันอาจเป็นแค่ความลุ่มหลงบางช่วงหรือความเด็กของเราที่อยากลองอะไรใหม่ๆ ตอนที่เราแต่งตัวบอยๆ ก็เคยโดนมองเหยียดบางครั้ง ส่วนใหญ่จะโดนจากคนที่อยู่ในช่วงวัยบูมเมอร์ที่เหยียดและลดทอนเรา มีคำพูดเช่น เกิดมาทั้งทีทำไมผิดเพศ ทำไมไม่เลือกใช้ชีวิตให้ดีกว่านี้

(พอเพียง แก้วธานี ผู้นิยามตนเองว่าเป็น Lesbian)
ภาพจาก freepik.com

“บางคนคิดว่าเราเป็นเลสเบี้ยนเพราะไม่สมหวังกับผู้ชาย ถ้าเราเจอผู้ชายที่ดีพอก็คงไม่ไปชอบผู้หญิง เหมือนคนที่เป็นเลสเบี้ยนต้องมีปัญหา มีปมเรื่องผู้ชายมาก่อนเท่านั้น ทั้งที่ไม่เกี่ยวกันเลย เราชอบผู้หญิงมาตั้งแต่จำความได้ แล้วจะไปเกี่ยวอะไรกับผู้ชาย ผู้ชายไม่ใช่ตัวแปรของเรา…พอเปิดเผยว่าเป็นเลสเบี้ยนก็จะเจอบางคนพูดว่าชอบผู้หญิงหรอ อย่ามาชอบเรานะ เราไม่รู้ว่าเขาคิดแบบนี้จริงๆ หรือมองว่าเป็นมุกตลก แต่มันเป็นมุกที่แย่มาก แล้วทุกคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตลก ซึ่งเราว่ามันไม่ตลกนะ”

(อารยา แซ่แต้ ผู้นิยามตนเองว่าเป็น Lesbian )

เควียร์เบต สร้างภาพจำที่ลดทอนอัตลักษณ์ของหญิงรักหญิงให้เหลือเพียงแค่ ‘ผู้หญิงผมยาวที่สวย’ สองคนรักกันให้มีพื้นที่บนสื่อเหนือกว่าอัตลักษณ์อื่นๆ ทำให้ผู้นิยามตนเองว่าเป็นเลสเบี้ยนที่ไม่ตรงตามมาตราฐานนี้ถูกลดคุณค่า และมองด้วยสายตาเหยียดหยาม นอกจากนี้จะพบวาทกรรมที่ลดทอนความรักความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศว่า ไม่ยั่งยืน ไม่มีทางเป็นไปได้ หรือ เกิดจากปัญหา ปมในใจมาก่อน สะท้อนว่าสังคมบางส่วนยังไม่ยอมรับว่าความสัมพันธ์ของ LGBTQIAN+ นี้จะเป็นไปได้จริง ซึ่งความคิดความเชื่อเช่นนี้ ก็อาจส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเลสเบี้ยน เช่น การทำร้ายร่างกาย การบังคับแต่งงาน หรือการข่มขืนเพราะเชื่อว่าเลสเบี้ยนสามารถเปลี่ยนได้

“สื่อก็มีส่วนสร้างภาพจำให้เกย์ โดยเฉพาะจากหนัง หรือซีรีส์วาย ที่มักคัดเฉพาะนักแสดงที่ตรงตามพิมพ์นิยมมารับบท คนที่ไม่ตรงตามพิมพ์นิยมก็ไม่ค่อยถูกนำเสนอ หรือหากถูกนำเสนอก็มักถูกนำเสนอว่าเป็นตัวตลก ทำให้พื้นที่เกย์ก็มี beauty standard จากพิมพ์นิยม ซึ่งไม่ผิดที่คนจะชื่นชอบคนที่ตรงตามพิมพ์นิยม เพราะมันเป็นรสนิยมความชื่นชอบส่วนบุคคล แต่คนที่ไม่ตรงตามพิมพ์นิยมเขาก็ไม่ควรโดนเหยียด โดนดูถูก โดนด้อยค่า เคยเห็นคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก มีคนกล่าวถึงเกย์คนหนึ่งในทำนองว่า เป็นเกย์ได้แต่ต้องทำตัวเองให้รูปร่างหน้าตาดูดีกว่านี้หน่อย หรือไม่ก็ต้องมีความสามารถที่พิเศษกว่าคนอื่น บางคนถึงขั้นคอนเมนต์ว่า นี่หรอสภาพคนเป็นเกย์ ทำเสื่อมเสียหมด เหมือนการจะเป็น LGBTQ+ เป็นข้อเสียที่ต้องหาความดีหรืออะไรสักอย่างมาบาลานซ์ ทั้งที่มันไม่จำเป็นเลยเพราะเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน”

(เจตณัฐ พิริยะประดิษฐ์กุล ผู้นิยามตนเองว่าเป็น Queer/Gay)

แม้เควียร์เบตจะพยายามฉายภาพความหลากหลายทางเพศ แต่ความหลากหลายทางอัตลักษณ์ที่ปรากฏนั้นยังถือว่าน้อยอยู่มาก โดยเฉพาะสื่อซีรีส์วายที่ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม และเน้นขาย ‘คู่จิ้น’ นำเสนอภาพแฟนซีจินตนาการของเกย์ให้ ‘สาววาย’ ที่เป็นกลุ่มผู้ชมหลัก เกย์ที่ขายได้ในสายตาของสื่อมักจะต้องมีหน้าตา หุ่น ตรงตามมาตราฐานความงาม ทำให้เกย์ที่ไม่ตรงตามภาพจำนี้ถูกลดทอนไป หรือหากสังคมจะยอมรับก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขบางอย่าง เช่น เป็นคนดีกว่าคนทั่วไป มีความสามารถ บุคลิกภาพดี ทั้งที่การเป็น LGBTQIAN+ นั้นเป็นเพียงการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของตน ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ใครเสียคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไป

“พอบอกว่าเราเป็นไบเซ็กซ์ชวล ก็มีเพื่อนผู้หญิงบางคนพูดว่าอย่ามาชอบเรานะ ซึ่งมันอึดอัดนะ เราชอบทั้งผู้หญิงผู้ชาย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะชอบทุกคน เคยถูกเหยียดและได้รับคำพูดแรงๆ จากบางคนที่ไม่เข้าใจ เช่น ตั้งคำถามว่าทำไมไปชอบผู้หญิง ผู้หญิงดีกว่าอย่างไร แล้วก็โยงไปถึงเรื่องเซ็กซ์อีก ซึ่งเราไม่ชอบมากๆ แต่ก่อนเราพยายามที่จะอธิบายให้เขาฟัง แต่พอเจอบ่อยมันก็เหนื่อยที่ต้องมาพูดซ้ำๆ จนไม่รู้ว่าเหตุการณ์พวกนี้มันทำให้เราไม่กล้าพูดว่าเป็นไบเซ็กซ์ชวลรึเปล่า แต่เราไม่อยากที่จะพูดเพราะไม่อยากเจอความรู้สึกอึดอัดแบบนั้นอีก

(กิตติ์ชญาห์ ยุทธนะพลากูร ผู้นิยามตนเองว่าเป็น Bisexual)

เควียร์เบตในสื่อมีเป้าหมายหลักเพื่อแสวงหาผลกำไร มากกว่าจะนำเสนอภาพตัวแทน (representation) ของ  LGBTQIAN+ อย่างแท้จริง การทำคอนเทนต์ที่ขาดความเข้าใจเพศสภาพ เพศวิถี ทำร้ายผู้คนที่เป็นไบเซ็กชวลให้ต้องอยู่กับอคติที่สังคมมองมาและปฏิเสธการมีอยู่ของไบเซ็กชวล โดยข้อมูลจาก Human Rights Campaign ชี้ว่า คนเป็นไบเซ็กชวลมีความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอีกมาก นอกจากนี้การตัดสินใจออกมาเปิดเผย (come out) ว่าเป็นไบเซ็กซ์ชวล ก็อาจตามมาด้วยคำพูดที่ลดทอนคุณค่ามากมาย เช่น ‘ไบเซ็กชวลคือการสับสนทางเพศ อยู่ในช่วงทดลอง’ ‘แค่เผลอใจลองคบเพศเดียวกัน’ ทำให้คนอีกมากไม่กล้าเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศตนเอง เพราะสังคมยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยที่จะโอบรับทุกความหลากหลายอย่างแท้จริง

“สังคมยังมีการตีกรอบเรื่องเพศ และการแสดงออกถึงบทบาททางเพศว่าความเป็นชายต้องเป็นแบบนี้ ความเป็นหญิงต้องเป็นแบบนี้ พอเรามองเข้าไปก็จะมีความรู้สึกว่าแล้วเราอยู่ตรงไหนถ้ามีกรอบแบบนี้อยู่…สังคมยังยึดเรื่องเพศจากสรีระเป็นส่วนใหญ่ และพ่วงมากับ stereotype ต่างๆ ทำให้บางคนที่เขานิยามว่าเป็นทรานส์แต่ไม่ได้ตรงตามภาพนั้น เช่น ทรานส์แมนที่ไม่ได้มีความเป็นชาย (masculine) ขนาดนั้น คนในสังคมก็จะมองว่าทำไมเป็นทรานส์แมนแล้วไม่มีความแมนเลย

(เม ทรงไพบูลย์ ผู้นิยามตนเองว่าเป็น Transman)

แม้การนำเสนอภาพทรานส์ในสื่อจะยังมีน้อย แต่ทรานส์กลับเผชิญความเจ็บปวดจากความไม่เข้าใจของสังคมอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อสังคมยัง ‘ตีกรอบ’ ให้เพศด้วยบทบาท นิสัย บุคลิก ที่ให้คุณค่าแค่ความเป็นชาย-ความเป็นหญิง และกำหนดเพศด้วยอวัยวะเพศ ทำให้ไม่ยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศที่กำหนดด้วยจิตใจได้ว่าเป็นเรื่องถูกต้อง ทรานส์ที่ไม่ได้แปลงเพศหรือไม่มีความเป็นชาย-ความเป็นหญิงมากพอจึงไม่ถูกยอมรับว่าเป็นทรานส์ แต่ต่อให้ไว้หนวด ตัดผมสั้น แล้วบอกว่าเป็นผู้หญิง หรือผมยาว ทาลิป แล้วบอกว่าเป็นผู้ชาย เราก็ควรเชื่อในอัตลักษณ์ทางเพศที่เขาเลือกนิยามและเคารพเขาในฐานะมนุษย์เท่าเทียมกัน เพราะคนที่ข้ามเพศสรีระด้วยการแปลงเพศ และคนที่ข้ามเพศสภาพแต่ไม่ได้ต้องการแปลงเพศ ก็ต่างหมายรวมอยู่ใน transgender อย่างไม่แบ่งแยก

แนวทางการนำเสนอของสื่อที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคำนิยามควรเป็นอย่างไร?

ปัญหาของเควียร์เบตคือการฉกฉวยเอาอัตลักษณ์ทางเพศอย่างฉาบฉวยมานำเสนอโดยชูจุดขายว่าเป็นเรื่องของความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนหรือสนับสนุน LGBTQIAN+ อย่างแท้จริง โดยจะเห็นได้ว่าปัจจุบัน LGBTQIAN+ ในสังคมไทยก็ยังคงไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับ Cisgender (บุคคนที่มีเพศภาพตรงกับเพศสรีระ) ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการสมรส สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ไปจนถึงกฎหมายที่ป้องกันการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ นอกจากนี้แล้ว เควียร์เบตยังสร้างภาพจำแบบผิดๆ ที่พ่วงมาด้วย stereotype ต่อการมองชาว LGBTQIAN+ หรือสร้างแฟนตาซีเกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์ของ LGBTQIAN+ โดยไม่เคารพถึงการมีอยู่และตัวตนที่แท้จริงของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

แม้การเควียร์เบตจะเป็นปัญหา แต่ไม่ได้แปลว่าสื่อจะห้ามกล่าวถึง LGBTQIAN+ เลย สื่อควรนำเสนอความหลากหลายทางเพศไปพร้อมกับความหลากหลายทางอัตลักษณ์ เพื่อลบภาพจำที่เหมารวม หยุดส่งต่อความเชื่อผิดๆ ที่สร้างความเจ็บปวดให้คนในคอมมูนิตี้ นำเสนอภาพที่ไร้ซึ่งอคติหรือความลำเอียง สร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคมเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศอย่างรอบด้านและเป็นจริง

“การที่สื่อจะพูดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีต่างๆ ให้ดีจริงๆ ทำได้ด้วยการไม่ชูเรื่องรสนิยมทางเพศมาเป็นประเด็นหลัก ไม่ต้องมานั่งพูดว่าคนนี้เป็นอะไร แต่แค่ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องปกติ คนดูก็จะไม่มองว่ามันแปลก เหมือนที่สื่อฉายภาพความสัมพันธ์ของชาย-หญิง ยังไม่ชูความเป็น straight เลย… อยากให้ไบเช็กชวลเป็นสิ่งที่คนรู้สึกว่าปกติ ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ หรือเหนือกว่าเพศไหน แค่ปฏิบัติกับเราให้เหมือนทุกเพศเท่าเทียมกัน”

(กิตติ์ชญาห์ ยุทธนะพลากูร ผู้นิยามตนเองว่าเป็น Bisexual)

สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจหลักคือการเคารพทุกคนในฐานะมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ยกเพศไหนเหนือกว่าเพศไหน และทำให้การพูดถึงเพศวิถีเป็นเรื่องปกติทั่วไปเพื่อให้สังคมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกความหลากหลายอย่างแท้จริง

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
15
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
2
Angry โกรธ
0

More in:Society

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

News

อ.รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากระบบราชการไทย รัฐต้องกำหนดบทบาทให้แต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน

เรื่อง : จุฑาภัทร ทิวทอง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากความไม่เป็นเอกภาพกันของหน่วยงานรัฐ แนะรัฐบาล การเตรียมพร้อม แจ้งเตือนและรับมือภัยพิบัติต้องแก้ไขด้วยการกำหนดบทบาทและภารกิจที่ชัดเจนให้แต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างความชัดเจนในระบบเตือนภัยแห่งชาติ ...

Articles

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง ...

News

รองอธิการฯ ศูนย์รังสิตเผย ผู้ร้ายแก๊งตบทรัพย์ถูกออกหมายเรียกแล้ว พร้อมเพิ่มรปภ.ในพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุในอนาคต

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ รองอธิการฯ ศูนย์รังสิตเผย ตำรวจออกหมายเรียกผู้ร้ายแก๊งตบทรัพย์แล้ว หลังกล้องวงจรปิดจับภาพผู้ก่อเหตุไว้ได้ พร้อมเพิ่มรปภ.ชุดใหม่ภายใต้การดูแลของกองบริหารศูนย์รังสิตโดยตรงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่นอกเหนือการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินฯ จากกรณีมิจฉาชีพขี่รถจักรยานยนต์ตามรถยนต์ของหนึ่งในอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่ออ้างว่าผู้เสียหายขับรถเบียดจนเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บที่บริเวณขา ...

Features

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store) ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ  ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ...

Writings

วัวหายล้อมคอก ไฟไหม้ฟาง กับการแก้ปัญหาของรัฐไทย 

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ‘วัวหายล้อมคอก’ และ ‘ไฟไหม้ฟาง’ สำนวนที่เข้ากันดีกับการแก้ปัญหาในสังคมของรัฐไทย ที่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนจึงค่อยมาคิดหาวิธีแก้ไข หรือไม่ก็ตั้งท่าจะแก้ไขแต่ไม่ทำอะไรจริงจัง จนมันก็สายเกินจะแก้ปัญหาตรงหน้าให้ทันท่วงที ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save