เรื่องและภาพ: ธนัชชา สิริคุณานันทน์กุล
นักศึกษากังวลถึงความแออัดภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เนื่องจากงาน Open House มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ด้านฝ่ายบริหารเตรียมรับมือโดยปรับการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ กำหนดเส้นทางและที่จอดสำหรับรถรับ-ส่งผู้มาร่วมงาน และเพิ่มสายการเดินรถ EV เพื่อไม่ให้รบกวนการเดินทางมาเรียนตามปกติของนักศึกษา
จากกรณี งาน Thammasat Open House 2022 เปิดบ้านธรรมศาสตร์ เมืองแห่งความยั่งยืน พื้นที่เรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ที่จะจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 นั้น มียอดผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมากกว่า 80,000 คน ส่งผลให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษามธ. กังวลถึงความสะดวกที่จะดำเนินการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยในวันดังกล่าว และต้องการให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์แทน
จิรัชยา มหัพพล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวว่า วันที่จัดงาน Open House ตรงกับวันพุธและวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันทำการของมหาวิทยาลัยที่จะต้องมีการเรียนการสอน โดยปกติแค่นักศึกษาและอาจารย์ที่เดินทางเข้า-ออกในวันนั้น ซึ่งมีจำนวนมากอยู่แล้ว หากรวมกับคนที่มางาน Open House อีกกว่า 80,000 คน จะต้องเกิดความแออัดภายในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน
จิรัชยา กล่าวว่า ทุกครั้งที่มหาวิทยาลัยจัดงาน Open House โรงอาหารก็มักจะเต็มไปด้วยคนที่มางาน ที่นั่งและอาหารอาจจะไม่เพียงพอต่อทุกคน รวมถึง รถ EV และวินมอเตอร์ไซค์ด้วย อีกทั้งงาน Open House ส่วนหนึ่งก็เป็นกิจกรรมของนักศึกษา มีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ต้องลาเรียนเพื่อไปช่วยงาน ถ้าหากเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ในวันดังกล่าว นอกจากไม่ต้องลาเรียนแล้ว ยังสามารถช่วยลดความแออัดในมธ. ได้อีกระดับหนึ่งด้วย
คันธิรา ฉายาวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้รับประกาศทางการของมธ. ลงนามโดยรักษาการแทนอธิการบดี เรื่องแนวทางการจัดการเรียนการสอนในช่วง Open House แจ้งว่าในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้ จะมีงาน Open House ที่มธ. ศูนย์รังสิต เพื่อความคล่องตัวและลดผลกระทบในการจัดการเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอนประจำรายวิชาสามารถกำหนดรูปแบบการสอนได้ตามความเหมาะสม สามารถออนไลน์ หรือกำหนดแนวทางพิเศษเพิ่มเติมได้ตามสมควร โดยไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาต
“อาจารย์เองก็มีรายวิชารับผิดชอบสอนที่ตรงกับวันจัดงาน Open House เช่นกัน มีทั้งกลุ่มนักศึกษาที่ต้องร่วมทำกิจกรรมภายในงาน และกลุ่มนักศึกษาที่กังวลถึงความแออัดภายในมธ. ด้วยการโหวตร่วมกัน จึงได้ข้อสรุปว่าจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์แทน” คันธิรากล่าว
เกรียงไกร สีดอกพุด หัวหน้าหน่วยงานจราจร กองบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวว่า จากข้อมูลการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน Open House ในแต่ละวัน จะมีรถรับ-ส่งแบบรถบัส รถตู้ และรถสองแถวใหญ่ เขามารับ-ส่งผู้โดยสารประมาณวันละ 106-109 คัน ซึ่งจะเดินทางเข้ามาในมธ. ผ่านทาง ประตูเชียงราก 1 และ ประตูพหลโยธิน 4
เกรียงไกร กล่าวว่า ตามแผนการจราจรสำหรับรถรับ-ส่งที่จัดไว้ รถที่เข้ามาจากประตูเชียงราก 1 จะถูกบังคับเลี้ยวซ้ายไปตามถนนตลาดวิชา และเลี้ยวขวาตรง อาคาร บร.1 เพื่อส่งผู้โดยสารที่อาคารกิติยาคาร (สถานที่จัดงาน) หลังจากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปจอดที่ถนนยูงทอง หรือเลี้ยวขวาไปจอดที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ (ยิม 1) ส่วนรถที่เข้ามาจากประตูพหลโยธิน 4 จะถูกบังคับให้ตรงเข้ามาเพื่อจอดส่งผู้โดยสารที่อาคารกิติยาคาร แล้วตรงต่อไปตามถนนป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อไปจอดที่สนามกีฬาเมนสเตเดียม และอาคารศูนย์กีฬาทางน้ำ ส่วนรถโดยสารส่วนตัวอื่นๆ สามารถเลือกจอดได้ตามจุดจอดรถ 13 จุด ทั่วมธ. โดยไม่เสียค่าใช่จ่าย
“ในส่วนของรถโดยสาร EV ได้มีการเปลี่ยนเส้นทางของสายสีแดง 1A และสายสีเหลือง 1B โดยจะไม่วิ่งผ่านโรงอาหารสังคมศาสตร์ (โรงอาหาร SC) แต่จะอ้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปวิ่งผ่านอาคารกิติยาคารในถนนป๋วย อึ๊งภากรณ์ แทน และเพิ่มสายพิเศษสีส้มขึ้นมา โดยเวียนเส้นทางตามกลุ่มอาคารคณะสังคมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอาคารกิติยาคาร สำหรับรับ-ส่งผู้มาเข้าร่วมงาน เพื่อไม่ให้รบกวนการเดินทางตามปกติของนักศึกษาที่มีเรียนในวันนั้นมากจนเกินไป” เกรียงไกรกล่าวและว่า ได้กำชับกับกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์เรื่องห้ามวิ่งบนทางจักรยาน และห้ามเก็บค่าโดยสารเกินกว่าปกติไว้แล้วด้วย