LifestyleWritings

เมื่อมาตรฐานผู้ตัดสินและVAR กำลังทำลายมนต์ขลังแห่งวงการลูกหนังพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

เขียน : กัญญพัชร กาญจนเจตนี และ ธนพ อัมพะวัต

ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์

เป็นอีกครั้งที่ระบบ VAR และมาตรฐานผู้ตัดสินฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ (Premier League) ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถาม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ทีมนิวคาสเซิลเอาชนะทีมอาร์เซนอลไปด้วยคะแนน 1 ต่อ 0 ประตู ซึ่งประตูชัยจากแอนโทนี กอร์ดอน นั้นถูกเช็คโดย VAR ถึงสามครั้ง ก่อนที่ผู้ตัดสินจะให้เป็นประตู ก่อให้เกิดข้อกังขาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเหล่าแฟนบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบที่ต้องรักษาความเที่ยงธรรมในวงการลูกหนังและระบบที่ว่ากลับกลายเป็นสิ่งที่อาจทำลายเสน่ห์ของกีฬาฟุตบอลเสียเอง

ระบบ VAR คืออะไร

            ระบบผู้ช่วยผู้ตัดสินวิดีโอ (Video Assistant Referee) หรือ VAR เป็นระบบช่วยเหลือการตัดสินของกีฬาฟุตบอล โดยใช้ภาพเคลื่อนไหวจากมุมต่าง ๆ ของสนามฟุตบอลตลอดการแข่งขันให้คำแนะนำกับผู้ตัดสินในสนามสำหรับการตัดสินการให้ประตู การให้จุดโทษ และการให้ฟาวล์ ใบเหลืองหรือใบแดง ในจุดที่ผู้ตัดสินไม่สามารถเห็นเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน VAR ถูกนำเข้ามาใช้ครั้งแรกโดยสมาคมฟุตบอลดัตช์ ในฤดูกาล 2012/13 ก่อนที่ คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ จะอนุมัติให้มีการใช้งานระบบ VAR อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2016 ส่วนการแข่งขันพรีเมียร์ลีกอังกฤษ มีการนำระบบ VAR มาใช้ในฤดูกาล 2019/20 และสำหรับประเทศไทยเองนั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำระบบ VAR เข้ามาใช้ในการแข่งขันไทยลีกตั้งแต่ฤดูกาล 2021/22 เป็นต้นมา

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ในศึกสัตว์ปีกแห่งพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

            ตั้งแต่เปิดฤดูกาล 2023/24 พรีเมียร์ลีกใช้การตัดสินจากคำแนะนำของ VAR อยู่หลายครั้งแต่ก็เกิดข้อกังขาขึ้นหลาย ๆ ครั้งด้วยเช่นกัน นัดที่เด่นชัดที่สุดนัดหนึ่งในรายการคือการแข่งขันทื่ไก่เดือยทอง ท็ฮตแนม ฮอตสเปอร์ส เปิดสนามต้อนรับการมาเยือนของหงส์แดง ลิเวอร์พูล ซึ่งผลจบลงด้วยสเปอร์สชนะไปด้วยคะแนน 2 ต่อ 1 ประตู โดยจังหวะสำคัญอยู่ที่นาทีที่ 25 เคอร์ติส โจนส์ ทำฟาวล์ใส่ผู้เล่นของสเปอร์สทำให้ได้รับใบเหลือง ก่อนที่ผู้ตัดสินจะเปลี่ยนคำตัดสินจากการแนะนำของ VAR เป็นใบแดงให้ไล่โจนส์ออกจากสนาม หลังจากนั้น 9 นาที หลุยซ์ ดิอาซ ยิงประตูขึ้นนำให้ลิเวอร์พูลได้สำเร็จ ก่อนที่ผู้ตัดสินจะขอคำแนะนำจากระบบ VAR ให้เป็นจังหวะล้ำหน้าและริบประตูคืน หลังจบการแข่งขัน Sky Sports สื่อกีฬาเจ้าดังของอังกฤษได้นำภาพช้าจังหวะดังกล่าวมาทำการเช็คล้ำหน้าอีกครั้ง ก่อนจะพบว่าไม่ใช่การล้ำหน้า และลิเวอร์พูลสมควรได้ประตูจากลูกของดิอาซ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพและมาตรฐานของคณะผู้ตัดสินอย่างกว้างขวาง เยอร์เก้น คล็อปป์ ผู้จัดการทีมชาวเยอรมันของลิเวอร์พูลได้กล่าวหลังจบการแข่งขันว่า “ผมไม่มีอารมณ์จะพูด” ภายหลังองค์กรผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ (PGMOL) ได้ออกมาแถลงยอมรับความผิดพลาดและยืนยันว่าประตูดังกล่าวที่เกิดขึ้นสมควรเป็นประตูและไม่ถูกริบคืน ลิเวอร์พูลได้แถลงตอบกลับแถลงการณ์ดังกล่าวทันที โดยช่วงหนึ่งในแถลงการณ์ของลิเวอร์พูลได้กล่าวว่า “เป็นที่ชัดเจนว่าการใช้กฎของเกมฟุตบอลอย่างถูกต้องไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความสมบูรณ์ของกีฬาถูกทำลาย” การแข่งขันในครั้งนี้ลิเวอร์พูลมีฟอร์มการเล่นที่ดีกว่าสเปอร์สแม้จะเหลือผู้เล่นน้อยกว่าก็ยังสามารถต้านทานการเล่นเกมรุกของสเปอร์สไว้ได้ แม้สุดท้ายท้ายเกมการแข่งขันผู้เล่นลิเวอร์พูลจะทำบอลเข้าประตูตัวเอง แต่หากลิเวอร์พูลไม่โดนใบแดง หรือประตูของหลุยซ์ ดิอาซไม่ถูกริบคืน หงส์แดงอาจจะสามารถพลิกกลับมาเอาชนะสเปอร์สได้ในค่ำคืนนั้น แต่นั่นเป็นสิ่งที่คำขอโทษจากทาง PGMOL ไม่สามารถชดเชยคืนมาได้อย่างยุติธรรม

ความผิดพลาดที่ยังไม่ถูกแก้ไข

            ถึงภายหลังความผิดพลาดของการตัดสินในเกมระหว่างสเปอร์สและลิเวอร์พูล PGMOL ได้ลงโทษผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในนัดดังกล่าวแล้ว แต่ความผิดพลาดของผู้ตัดสินคนอื่นจากการใช้ VAR ยังเกิดขึ้นอยู่ต่อเนื่อง ในค่ำคืนวันที่ 29 ตุลาคมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้นั้น ผู้เล่นของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้ทำฟาวล์ใส่ผู้เล่นแมนเชสเตอร์ ซิตี้ในกรอบเขตโทษ ก่อนที่ผู้ตัดสินจะขอคำแนะนำจาก VAR มีผลให้เป็นลูกจุดโทษ โดยแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้ตั้งคำถามว่าในขณะที่นัดอื่นก่อนหน้านี้ ผู้เล่นของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดถูกทำฟาวล์ในลักษณะเดียวกันทำไมถึงไม่ได้จุดโทษ ในนัดที่ฟูแล่ม เปิดบ้านแพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 0 ต่อ 1 ประตู ฝ่ายแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดทำประตูขึ้นนำได้ก่อนในนาทีที่ 8 ก่อนจะถูกริบประตูคืนเพราะ VAR ให้เป็นจังหวะล้ำหน้า โดยที่ผู้เล่นของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่ล้ำหน้าไม่ได้มีส่วนกับการทำประตู แต่ผู้ตัดสินมองว่ามีส่วนในการขัดขวางการเล่นของผู้เล่นฟูแล่ม แกรี่ โอนีล ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษสโมสรวูล์ฟแฮมตัน ได้ออกมากล่าวว่า “พวกเขา (ทีม VAR) จะยังคงทำงานกันผิดพลาดต่อไป พวกเขาจะยังคงมีข้อผิดพลาดให้เราตั้งคำถามกันต่อไป” และก็เป็นไปตามที่แกรี่ โอนีลกล่าวไว้

ข้อกังขา 3 ครั้งในฟุตบอลนัดเดียว

            ความน่ากังขาล่าสุดของผู้ตัดสินและระบบ VAR เกิดขึ้นเมื่อนิวคาสเซิล เปิดสนามต้อนรับการบุกมาเยือนของอาร์เซนอล ก่อนพวกเขาจะเอาชนะไปได้ด้วยคะแนน 1 ต่อ 0 ประตู โดยในนาทีที่ 64 ก่อนจังหวะที่แอนโทนี กอร์ดอน จะยิงประตูชัยให้กับนิวคาสเซิล ต้องใช้ VAR ทำการเช็คคำตัดสินด้วยกันถึงสามครั้ง สามจังหวะจากการท้วงติงของแฟนบอลในสนามและทีมนักเตะอาร์เซนอลเพื่อเช็คว่าประตูดังกล่าวจะนับเป็นแต้มได้หรือไม่ พรีเมียร์ลีกแถลงถึงเหตุผลที่ลูกนี้ได้เป็นประตูว่า จังหวะแรกก่อนจะเกิดประตู ลูกฟุตบอลเกือบจะหลุดออกสนามไปแล้ว แต่จากการขอคำแนะนำจาก VAR ของผู้ตัดสิน มุมกล้องของ VAR ไม่สามารถหามุมกล้องที่ดูได้อย่างชัดเจนว่าลูกฟุตบอลออกสนามไปเต็มใบหรือยัง จึงอนุญาตให้เล่นต่อ จังหวะที่สอง การ์เบรียล มาร์กัญเญส ผู้เล่นแนวรับของอาร์เซนอล ถูกโจลิงตัน ผู้เล่นของนิวคาสเซิลทำฟาวล์ก่อนที่บอลจะไปถึงแอนโทนี กอร์ดอนและเป็นประตู โดยระบบ VAR ได้ให้คำแนะนำว่า มีการปะทะกันไม่มากพอที่จะเป็นจังหวะฟาวล์ ผู้ตัดสินจึงให้เล่นต่อไป และจังหวะสุดท้าย คือการเช็คว่าแอนโทนี กอร์ดอนล้ำหน้าหรือไม่ก่อนจะทำประตู VAR ระบุว่าไม่สามารถหาแนวเส้นที่ชัดเจนเพื่อทำการตีเส้นพิสูจน์จังหวะล้ำหน้านี้ได้ ทำให้ผู้ตัดสินให้ลูกนี้เป็นประตู ซึ่งการตัดสินในลักษณะนี้ดูจะเป็นการตัดสินที่ “ยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” มากจนเกินไป มิเกล อาร์เตต้า ผู้จัดการทีมชาวสเปนของอาเซนอลได้กล่าวหลังจบการแข่งขันว่า “เราต้องพูดถึงผลการแข่งขันเพราะเราต้องพูดถึงว่าทำไมประตูบ้านี่ยังคงเป็นประตูอยู่ได้” โดยอาเซนอลได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนตามหลังคำพูดของอาร์เตต้า เรียกร้องให้ PGMOL ยกระดับมาตรฐานคำตัดสินของผู้ตัดสินอังกฤษ “พรีเมียร์ลีกคือลีกที่ดีที่สุดในโลก ผู้เล่นที่ดีที่สุด โค้ชที่ดีที่สุดและแฟนบอลที่ดีที่สุดสมควรได้อะไรที่ดีกว่านี้ PGMOL ต้องจัดการกับมาตรฐานของการทำหน้าที่อย่างเร่งด่วนที่สุด ในการดำเนินงานย้อนหลังให้ผู้คนได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็น การวิเคราะห์ย้อนหลัง, คำอธิบาย และคำขอโทษ” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จากอาร์เซนอลกล่าว

ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับลีกที่ดีที่สุดในโลก

            ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้ในการช่วยแนะนำคำตัดสินของผู้ตัดสินถูกพัฒนาไปมากกว่าปี ค.ศ. 2016 ที่ VAR ถูกใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นระบบ VAR แบบใหม่ที่มีมุมกล้องหลากหลายมากยิ่งขึ้นและมีภาพให้เห็นในจังหวะต่าง ๆ หรือระบบจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ ที่สามารถช่วยให้ผู้ตัดสินสามารถตัดสินจังหวะล้ำหน้าได้ไวและแม่นยำมากขึ้น รวมถึงมีภาพจำลอง 3 มิติในจังหวะล้ำหน้าที่กำลังทำการตัดสิน ซึ่งระบบใหม่ทั้งหมดที่กล่าวมา สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA นำมาใช้ในฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ซึ่งสามารถทำให้ตัดสินจังหวะยาก ๆ ได้อย่างแม่นยำ มีเหตุผลหนักแน่น ไร้เสียงวิจารณ์จากการตัดสิน เช่นจังหวะลูกก้ำกึ่งออกสนามในนัดที่ทีมชาติญี่ปุ่นพบกับทีมชาติสเปน ระบบ VAR แบบใหม่สามารถมีมุมกล้องที่เห็นได้ชัดเจนว่าบอลยังไม่ออกจากสนาม แม้พรีเมียร์ลีกจะเรียกตัวเองว่าเป็นลีกที่ดีที่สุดในโลกแต่ก็ยังไม่มีความพยายามที่จะนำระบบการตัดสินแบบใหม่มาใช้สร้างมาตรฐานการตัดสินถึงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์กี่ครั้ง ซึ่งพอมองย้อนกลับไปยังระบบ VAR ที่ใช้อยู่นั่นก็ยังถูกนำมาใช้ช้ากว่าลีกฟุตบอลประเทศอื่น ๆ เสียอีก

แม้ระบบ VAR จะเป็นเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือการตัดสินก็จริงแต่อย่างไรก็ตาม ผลต่าง ๆ ก็ยังเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้ตัดสิน การที่ผู้ตัดสินไม่ตัดสินตามมาตรฐานเดียวกันทุก ๆ นัด ก็จะนำเทคโนโลยีมาเป็นข้อกล่าวอ้างทุกครั้งไม่ได้ หากบางนัดทำฟาวล์แบบนี้ได้ใบเหลือง แต่บางนัดกระทำในลักษณะเดียวกันกลับได้ใบแดง หรือการให้จุดโทษหรือไม่ให้จุดโทษ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เหล่าแฟนบอลก็ได้แต่ตั้งคำถามว่าลีกที่ดีที่สุดในโลกไร้มาตรฐานขนาดนี้เลย เพราะทุก ๆ การตัดสินย่อมทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งจะส่งผลต่อการชัยชนะ แต้มและการได้แชมป์ของทีมฟุตบอลทุกทีม แฟนบอลย่อมวิพากษ์วิจารณ์สาดวิวาทะใส่กันเพื่อปกป้องทีมรักของตนเอง แต่สุดท้ายอย่าลืมความเลวร้ายที่กำลังทำลายเสน่ห์ของวงการลูกหนังอังกฤษที่แท้จริงว่าคือการไร้มาตรฐานของผู้ตัดสินที่มีมุมมองหรืออคติส่วนบุคคลที่ทำให้การตัดสินไม่เที่ยงธรรม ประตูของหลุยซ์ ดิอาซไม่เป็นประตูเพราะกรรมการ ไม่ใช่เพราะสเปอร์ส เราอาจมีความสุขในวันที่ทีมเราได้ประโยชน์จากการตัดสินที่ผิดพลาดของผู้ตัดสินและ VAR แต่หากเราไม่เรียกร้องถึงมาตรฐานของผู้ตัดสินและระบบ VAR แล้ว ในวันที่ทีมเราเสียผลประโยชน์เราอาจทำได้เพียงแค่ “กรี้ดมันออกมา”

อ้างอิง

ไทยรัฐออนไลน์, มาแล้ว “พรีเมียร์ลีก” แจง 3 ข้อ VAR ให้ประตูปัญหา “นิวคาสเซิล” ชนะ “อาร์เซนอล”, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.thairath.co.th/sport/eurofootball/premierleague/2738301

ธีรฉัตร รูปประดิษฐ์, ไม่รอด! PGMOL ลงดาบพักงาน 2 ผู้ตัดสิน VAR เกม สเปอร์ส-ลิเวอร์พูล, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.goal.com/th/ข่าว/ไม่รอด-pgmol-ลงดาบพักงาน-2-ผู้ตัดสิน-var-เกม-สเปอร์ส-ลิเวอร์พูล/blt24d1862d85f5b74b

พีรวิชญ์ พิริยะธนวัฒน์, ครบทุกประเด็น : อาร์เตต้าจัดเต็มทำไมไม่พอใจคำตัดสิน VAR เกมแพ้นิวคาสเซิล?, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.goal.com/th/ครบทุกประเด็น–อาร์เตต้าจัดเต็มทําไมไม่พอใจคําตัดสิน-var-เกมแพ้นิวคาสเซิล/blt15ea0b87a89ec810

วัลลภ สวัสดี, PGMOL แถลงยอมรับผิดที่ให้ประตูของ “หลุยส์ ดิอาซ” เป็นลูกล้ำหน้า “คล็อปป์” สวนแล้วไงก็ไม่ได้แต้มคืนอยู่ดี, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.mainstand.co.th/th/news/1/article/13812

อิสรา อิ่มเจริญ, แกรี่ โอนีล เชื่อ VAR จะยังคงทำงานผิดพลาดต่อไปในเกมสัปดาห์นี้, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://mainstand.co.th/index.php/th/news/1/article/13925

Arsenal FC, Clup Statement, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.arsenal.com/news/club-statement-1

FIFA, Video Assistant Referee (VAR), สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.fifa.com/technical/football-technology/football-technologies-and-innovations-at-the-fifa-world-cup-2022/video-assistant-referee-var

FIFA, Semi-automated offside technology, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.fifa.com/technical/football-technology/football-technologies-and-innovations-at-the-fifa-world-cup-2022/semi-automated-offside-technology

Liverpool FC, การแถลงข่าวของคล็อปป์ : ท็อตแนม 2-1 ลิเวอร์พูล, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://thailand.liverpoolfc.com/news/thailand-news/463139-jurgen-klopp-press-conference-tottenham-hotspur-2-1-liverpool

Liverpool FC, แถลงการณ์ของสโมสรลิเวอร์พูล, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://thailand.liverpoolfc.com/news/thailand-news/463145-liverpool-fc-statement

Liverpool FC, Match Report: ลิเวอร์พูล แพ้ ท็อตแนม ฮออตสเปอร์, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://thailand.liverpoolfc.com/news/thailand-news/463103-report300923

Michael Burgess II, What is VAR and how it used in soccer?, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.redbull.com/us-en/what-is-var-soccer

PPTV Online, ผลบอลพรีเมียร์ลีก สเปอร์ส เปิดบ้านเฉือนชนะ ลิเวอร์พูล 9 คน 2-1, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.pptvhd36.com/sport/news/206949

Premier League, About Premier League , สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.premierleague.com/about

Premier League, History of VAR, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.premierleague.com/news/1293198

Premier League, Why VAR allowed Newcastle’s goal v Arsenal to stand, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://www.premierleague.com/news/3768927

REVO THAI LEAGUE, การใช้ระบบวีดิทัศน์ช่วยในการตัดสิน Video Assistant Referee (VAR) ในสัปดาห์ที่ 30, สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 พฤษจิกายน 2566, จาก https://thaileague.co.th/v1/announcements-index/การใชระบบวดทศนชวยในการตดสน-video-assistant-referee-var-ในสปดาหท-30/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Lifestyle

Writings

ไขรหัสลับ ‘หน้าตั๋วรถเมล์’ เศษกระดาษบ่งชี้ที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญา

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เมื่อเรานั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าจะเป็นภาพจำก็คงเป็นระบบ ‘ตั๋ว’ รถเมล์ ทั้งเสียง ‘แก๊บๆ’ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าให้เตรียมเงินจ่ายค่าโดยสารได้แล้ว พร้อมกับตั๋วม้วนยาวที่มีตัวเลขล้อมอยู่เต็มไปหมดและการฉีกตั๋วอย่างฉับไวที่ดูไปก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าทำไปทำไม ดูเผินๆ จะไม่ค่อยเห็นประโยชน์อะไรของตั๋วนอกจากจะเป็น ‘เศษกระดาษที่ทำให้โลกร้อนขึ้น’ ...

Writings

‘นักชิมมืออาชีพ’ ผู้อยู่เบื้องหลังทุกความอร่อย

เรื่องและภาพประกอบ : พนิดา ช่างทอง ผู้เขียนและคนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับอาชีพ ‘นักชิมอาหาร’ หรือ ‘นักวิจารณ์อาหาร’ ในภาพของ Food Critic อาชีพในฝันของผู้ที่ชื่นชอบการกิน แต่สำหรับ ‘นักชิมมืออาชีพ’ หรือ ...

Lifestyle

เมื่อเราไม่อยู่บ้าน หมาจะคิดถึงเราไหมนะ?

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดยาว เมื่อได้เว้นว่างจากการทำงานและการเรียนอันแสนเหน็ดเหนื่อย หลายคนจึงเลือกจะกลับบ้าน ดังนั้น  หากจะเรียกว่าเป็น ‘วันแห่งการกลับบ้าน’ ก็อาจไม่ผิดนัก  หลายครอบครัวอาจมีสมาชิกอย่างพ่อ แม่ ญาติ หรือใครสักคนที่ทำให้อยากกลับบ้านไปหา ...

Writings

สงกรานต์ทั้งที ไม่มีความสงสัยบ้างไม่ได้หรอ?: เมื่อคำถามจากญาติในช่วงเทศกาลแห่งความสุขสร้างความทุกข์ให้ลูกหลาน

เรื่องและภาพประกอบ: ทยาภา เจียรวาปี หมายเหตุ: ประโยคคำถามในบทความชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมจากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน และคนรอบตัวของผู้เขียนเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ในสายตาผู้อ่าน ภาพวันสงกรานต์หน้าตาเป็นอย่างไร? เชื่อว่าสำหรับหลายๆ คน คงเห็นภาพการสาดน้ำดับร้อน ภาพความสุข รอยยิ้ม ...

Writings

แตก 4 ซีซัน 4 ประเด็นของซีรีส์เพศศึกษา

เขียน จิรัชญา นุชมี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร Sex Education คือซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix ที่โด่งดังและจัดจ้านในประเด็นการเล่าถึงเรื่องเพศศึกษา อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ทว่าไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง เพศ เท่านั้น ...

Writings

Dear Dorothea ยังมีที่ว่างให้ฉันอยู่ไหม

เขียน กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร บทเปิดจากภาพยนตร์เพื่อน (ไม่) สนิทบอกไว้ว่าทั้งชีวิตคนเราจะมีเพื่อนได้แค่ 150 คน จากการคำนวณด้วยสมการของนักวิทยาศาสตร์ โดยใน 150 คน ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save