เรื่องและภาพ ศิรประภา สีดาจันทร์
ถ้าพูดถึงภาพยนตร์ดังช่วงนี้ที่กำลังเป็นกระแสมาแรงและเข้ากับช่วงเทศกาลฮาโลวีน ต้องไม่พลาดกับภาพยนตร์ไทยที่กำลังทำรายได้แตะ 600 ล้านบาท อย่าง ‘สัปเหร่อ’ ที่นำเสนอเรื่องความตายสามารถพรากคนที่เรารักไปได้ตลอดกาล ตัวละครที่ทำอาชีพสัปเหร่อ พร้อมกับนำเสนอพิธีกรรมทางศาสนาเมื่อเราตาย หรือก็คืองานศพ ที่เป็นการจัดเพื่อไว้อาลัยแก่คนที่เสียชีวิตอย่างหลากหลายศาสนาและหลากหลายรูปแบบ
‘สัปเหร่อ’ มีการนำเสนองานศพในหลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายมุมมอง เช่น การทำพิธีทางศาสนาของศาสนาคริสต์ การจัดพิธีกรรมให้กับสัตว์เลี้ยงคู่ใจ หรือการจัดพิธีที่ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อสีขาว-ดำ เป็นต้น จากหลากหลายมุมมองในแง่ของการจัดงาน เราอาจจะคิดไม่ถึงว่าในการจัดงานหนึ่งครั้งเราต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ผู้เขียนเลยจะมาเปิดลิสต์ให้หลาย ๆ คนได้อ่านกัน
รูปหน้าศพ (ประมาณ 200 บาท)
รูปหน้าศพเป็นเสมือน ID Card ระบุว่าผู้ตายคือใคร เกิดเมื่อไหร่ และตายเมื่อไหร่ อีกทั้งยังถือว่าเป็นเครื่องเตือนใจให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้อยู่กับปัจจุบันและความจริงที่ว่า “มนุษย์และความตายเป็นของคู่กัน” ไม่ว่าวันไหนสักวันคนเราก็ต้องจากลากันด้วยความตาย อีกทั้งยังเป็นเหมือนที่ระลึกถึงผู้ตายว่า “ครั้งหนึ่งเราเคยได้เป็นครอบครัว ญาติ เพื่อน หรือคนที่รักกัน” จึงสามารถใช้รูปหน้าศพเป็นตัวแทนของผู้ตายไปแล้ว เช่น ครอบครัวของผู้เขียนจะมีการทำบุญให้แก่ญาติที่ได้ลาลับไปแล้วในทุกปี ซึ่งครอบครัวจะนำรูปเหล่านี้มาตั้งเป็นตัวแทนและจุดภาวนาให้ผลบุญที่ได้ทำอุทิศให้แก่ญาติ
โลงศพ (ประมาณ 20,000 บาท)
เราไม่สามารถให้ผู้ตายไร้ที่อยู่อาศัยได้ จึงต้องมีโลงใส่ศพ เพื่อเก็บศพเป็นกิจจะลักษณะและสะดวกต่อการขนย้ายในการทำพิธีต่าง ๆ
ดอกไม้ (ประมาณ 18,000 บาท)
สำหรับ ‘ค่าดอกไม้’ นี้ ผู้เขียนขอรวบค่าดอกไม้ต่าง ๆ ให้อยู่ในหมวดเดียว เนื่องจากงานศพค่อนข้างใช้ดอกไม้ในปริมาณมากและหลายประเภท ตั้งแต่พิธีนำทางวิญญาณจนถึงพิธีลอยอังคาร อาทิ ดอกไม้หน้าโลงศพ ดอกไม้โปรย ดอกไม้ไหว้พระ เป็นต้น
เมื่อพูดถึงค่าดอกไม้ในงานศพจะมีตั้งแต่ดอกไม้หน้าโลงศพ ที่มีเพื่อความสวยงามและการแสดงออกถึงความเคารพและความรักแก่ผู้ตาย ในงานศพจึงมักนิยมตกแต่งด้วยดอกไม้ที่ไม่ได้ใช้สีที่ฉูดฉาด แต่ยังคงใช้สีที่แสดงถึงความไว้อาลัย เช่น สีขาว สีชมพูอ่อน สีเหลือง เป็นต้น
ต่อมาคือพวงหรีด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในการแสดงความเสียใจและไว้อาลัยแก่ผู้ตาย อย่างผู้จัดงานเองก็ต้องมีพวงหรีดที่ขึ้นนามสกุลของครอบครัว เพื่อแสดงถึงความเสียใจและไว้อาลัยแก่ผู้ตาย ทั้งนี้พวงหรีดในปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะแค่เป็นพวงหรีดดอกไม้เท่านั้น แต่ยังมีในรูปแบบของพัดลมที่สามารถบริจาคให้วัดได้ หรือพวกหรีดกระดาษรีไซเคิลที่ลดขยะจากดอกไม้
อีกหนึ่งดอกไม้สำหรับถวายพระ ซึ่งเป็นหนึ่งในของที่จะต้องมีอยู่แล้วสำหรับการไหว้พระและถวายสังฆทาน
ธูป (ประมาณ 300 บาท)
ในงานศพ ‘ธูป’ จะถูกใช้ในปริมาณมาก ซึ่งตามความเชื่อธูปคือเครื่องมือไว้ใช้สื่อสารกับวิญญาณหรือเทพเทวดา โดย ธูป 1 ดอก สำหรับใช้สื่อสารกับวิญญาณทั่วไป ในงานศพส่วนใหญ่จึงมีการแจกธูป 1 ดอก ให้แขกหรือญาติ พี่น้อง ที่มาร่วมงานได้ไหว้ผู้ตาย ถือเป็นการบอกกล่าวแก่ผู้ตายในการมาเยือนงาน
เครื่องไทยธรรม (ประมาณ 5,500 บาท)
การสวดอภิธรรม ตามพิธีทุกคืนจะต้องมีการถวายเครื่องไทยธรรมโดยคนที่เป็นเจ้าภาพสำหรับคืนนั้นและญาติผู้ใหญ่หรือผู้มีตำแหน่งในหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็น หัวหน้างาน ผู้อาวุโสในงาน เป็นผู้ถวาย ซึ่งองค์ประกอบของเครื่องไทยธรรมจะเป็นวัตถุหรือสิ่งของในปัจจัย 4 (ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประกอบที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้สอยอื่น ๆ และยารักษาโรค ) ที่ถวายแด่พระสงฆ์
อาหาร ของว่าง และน้ำ (ประมาณ 60,000 บาท สำหรับจัดสวดอภิธรรม 3 คืน)
ในงานศพจะมีการเลี้ยงอาหาร ของว่าง และน้ำให้กับแขกที่มาร่วมงาน เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจและความขอบคุณที่มาช่วยและร่วมงาน ซึ่งการสั่งอาหารและของว่างจะขึ้นอยู่กับผู้จัดงาน อย่างเช่น งานที่ผู้เขียนเป็นผู้จัดเลือกสั่งเป็นข้าวกล่อง เนื่องจากประหยัดมากกว่าการสั่งกับข้าวเป็นหม้อ นอกจากนี้หลังจบงานจะมีการแจกของว่างเป็นกล่อง
ค่าบำรุงวัด (ประมาณ 9,300 บาท)
แน่นอนว่าสถานที่อย่างวัดก็มีค่าสถานที่เช่นกัน แต่จะมาในรูปแบบของค่าบำรุงวัด ค่าน้ำ-ค่าไฟที่เรามาใช้มากกว่า และเมื่อมีการใช้เสียงท่ามกลางจำนวนคนหมู่มาก ก็ต้องมีเครื่องขยายเสียง ซึ่งทางวัดก็มีให้บริการด้านนี้เช่นกัน โดยจะใช้ขยายเสียงในตอนพระสวดและมัคนายกนำสวด ทั้งยังใช้เปิดเพลงระหว่างที่พิธีกรรมยังไม่เริ่ม เพื่อให้บรรยากาศไม่เงียบเกินไป
ต่อมาเมื่อถึงวันฌาปนกิจศพ ก็ต้องมีการจ่าย “ค่าน้ำมันเตา” ที่ต้องใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในตอนจะเผาร่างให้กับทางวัด
ค่าดอกไม้จันทน์และของชำร่วย (ประมาณ 49,000 บาท)
ดอกไม้จันทน์เสมือนเป็นสิ่งที่แสดงความไว้อาลัย เมื่อเราไปวางดอกไม้จันทน์ก่อนจะนำโรงศพเข้าเตาเผาก็เหมือนเป็นการไปส่งผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนของชำร่วยที่แจกให้แก่แขกผู้มาร่วมงานก็เสมือนเป็นการขอบคุณและให้เป็นที่ระลึกถึงผู้ตายอีกด้วย
ใส่ซอง (ประมาณ 13,900 บาท)
การใส่ซองสำหรับถวายพระ สำหรับงานศพนอกจากจะใส่ซองถวายพร้อมเครื่องไทยธรรมแล้ว ยังมีการใส่ซองถวายพระที่เป็นผู้นำทำพิธีต่าง ๆ เช่น สวดนำทางวิญญาณจากสถานที่เสียชีวิตไปยังสถานที่จัดงาน หรือสวดเพื่อนำพาร่างของผู้ตายขึ้นไปยังเมรุ อีกทั้งยังมีการใส่ซองและมอบให้แก่ผู้มาช่วยงานหรือดำเนินงานให้ เช่น สัปเหร่อ เจ้าหน้าที่ในวัดที่มาช่วยแบกโลง เป็นต้น
หลังจากที่ได้เปิดลิสต์ไป หากคำนวนยอดรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ตกที่ประมาณเกือบ 177,000 บาท เพียงแค่งานศพหนึ่งงานก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับสิ่งของมากมายเท่านี้ แต่ถ้าหากมันเป็นการจัดงานเพื่อแสดงความไว้อาลัยและความรัก บางทีการจัดงานขึ้นมาอาจจะไม่มีการคิดถึงเรื่องเงินเลยก็ได้ เมื่อเราอยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนที่เรารักก่อนที่จะจากกันตลอดกาล