Art & CultureArticlesSocietyWritings

“โอลิมปิกเกมส์” มหกรรมกีฬาเพื่อการกระชับมิตรระหว่าง(บาง)ประเทศ ?

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

“…กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ

ฮา-ไฮ ฮา-ไฮ

กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ…”

เสียงเชียร์กระหึ่มจากแฟนกีฬาชาวไทยและการพูดถึงนักกีฬาทีมชาติไทยในทุกหน้าสื่อ ณ ขณะนี้ สร้างบรรยากาศให้เราในฐานะคนไทยเตรียมความพร้อมระดับวาระแห่งชาติในการร่วมส่งกำลังใจถึงทัพนักกีฬาไทยที่กำลังสู้ศึก “ปารีส 2024” โอลิมปิก ครั้งที่ 33 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำให้คนไทยรู้สึกอินกับการเชียร์กีฬาเป็นพิเศษในช่วงการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่เวียนมาทุก ๆ 4 ปี อย่างโอลิมปิกเกมส์ และจากเพลงกราวกีฬา เพลงปลุกใจที่เรามักจะได้ยินในทุกการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะช่วงโอลิมปิกในขณะนี้ก็ชวนให้คิดได้ไม่น้อยว่า กีฬา เป็นยาวิเศษจริงหรือไม่ ? สำหรับ “Games of the XXIV Olympiad”  หรือโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ก็คงจะตอบรับได้ทันที่ว่า “จริง”

 จากมหกรรมกีฬา สู่ประตูแห่งเวทีการเมืองโลก

ในขณะการจัดการแข่งขัน “Games of the XXIV Olympiad” สาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้มีภาพลักษณ์ไม่ค่อยสู้ดีนักในสายตาชาวโลกจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่จบสงครามเกาหลี แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของเกาหลีใต้ได้เกิดขึ้นหลังจากการได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 ด้วยสถานการณ์ของประเทศในขณะนั้น จุดประสงค์หลักของการเป็นเจ้าภาพก็คงไม่ได้ต้องการสนับสนุนการแข่งขันกีฬาแต่อย่างใด ทว่าการลงทุนในครั้งนี้สาธารณรัฐเกาหลีต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ดีขึ้นและโชว์ศักยภาพของตัวเองให้ชาวโลกได้เห็นจากการจัดมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลก และก็สามารถทำได้สำเร็จ สาธารณรัฐเกาหลีได้รับความไว้วางใจจากต่างประเทศและได้ประเทศคู่ค้าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นหลังจบการแข่งขัน ในทางกลับกันกีฬาอาจจะเป็นยาที่ “ขม” ไปสักหน่อย สำหรับ “Tokyo 2020” เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 32 ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่จัดขึ้นท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจฝืดเคืองอันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การลงทุนจัดงานด้วยเม็ดเงินมหาศาลกว่า 6.6 แสนล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดการแข่งขันโอลิมปิกนั้นได้ผลตอบรับน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากสเตเดียมจะเงียบเหงาร้างผู้คน ความหวังในการพัฒนาภาพลักษณ์ของประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจจากจำนวนชาวต่างชาติที่จะตบเท้าเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการจัดการแข่งขันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุจากโรคระบาด

ทั้งนี้ ความสำเร็จระดับตำนานของ “Games of the XXIV Olympiad” หรือแม้กระทั่งผลลัพธ์ที่น่าเสียดายจาก

“Tokyo 2020” สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งยังต้องอาศัยพันธมิตรระดับนานาชาติเพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬายิ่งใหญ่อย่าง “โอลิมปิกเกมส์” ที่อยู่ร่วมกับมวลมนุษยชาติมายาวนานต่อเนื่องนับร้อยปี แต่ด้วยสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่หลายประเทศกำลังประสบปัญหาความขัดแย้งหรือแม้กระทั่งการเผชิญหน้ากับสงครามระหว่างประเทศ การจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่าง “โอลิมปิกเกมส์” ครั้งที่ 33 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปีนี้จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากน้อยเพียงใด หรือจะเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อสร้างไมตรีจิตกับแค่บางประเทศเท่านั้น ..

ภาพพิธีเปิด Games of the XXIV Olympiad ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ภาพโดย Getty Images

ภาพอัฒจันทร์ที่ว่างเปล่าขณะการแข่งขัน Tokyo 2020 ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภาพโดย Getty Images

ความขัดแย้งระหว่างประเทศ : บททดสอบของโอลิมปิกสมัยใหม่

ความยืดเยื้อระหว่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินมาถึง 28 เดือน และผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงส่งผลต่อประชาชนทั้งในประเทศคู่สงครามและต่างประเทศรวมถึงปารีส 2024 ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ “ยูเครน” และประเทศสมาชิกโอลิมปิกรวม 40 ประเทศ อาจแบนการแข่งขันในครั้งนี้หากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) อนุญาตให้นักกีฬาจากประเทศ “รัสเซีย” รวมถึงประเทศที่ให้การสนับสนุนทางการทหารร่วมกับรัสเซียอย่าง “เบลารุส” เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 โดยต่อมาคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์ของประเทศสมาชิกโอลิมปิกส่วนใหญ่ โดยการจัดตั้งสถานะนักกีฬาที่เป็นกลางรายบุคคล (Individual Neutral Athletes) เพื่อรองรับนักกีฬาจากประเทศรัสเซียและประเทศเบลารุส โดยให้เหตุผลที่ว่านักกีฬาไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติและต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชน นักกีฬาที่เป็นกลางรายบุคคล (Individual Neutral Athletes) จะใช้รหัสประเทศเป็น AIN (Athlètes Individuels Neutres) โดยนักกีฬาเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รวมถึงห้ามแสดงสัญลักษณ์ใด ๆ ที่สื่อถึงชาติของตน อีกทั้งยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ธงโอลิมปิกและเพลงสดุดีโอลิมปิก เนื่องจากไม่ได้ถูกนับรวมเป็นนักกีฬาผู้ลี้ภัยในโอลิมปิก (Refugee Olympic Team at the Olympics) ที่จะสามารถใช้สัญลักษณ์ของโอลิมปิกแทนสัญลักษณ์ของประเทศของตนได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จะทำการประกาศเพลงชาติสำหรับนักกีฬาที่เป็นกลางรายบุคคล (Individual Neutral Athletes) ต่อไป โดยการตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ก็เพื่อป้องกันการเกิดความขัดแย้งและความปลอดภัยของนักกีฬาทุกฝ่าย ซึ่งยูเครนและประเทศที่ขู่แบนปารีส 2024 ก็มีท่าทีที่ดีขึ้นจากก่อนหน้า ในขณะเดียวกันรัสเซียมองว่ากฎเกณฑ์ครั้งนี้เป็นการดูหมิ่นและถือเป็นการร่วมกัน “สมคบคิด” เพื่อกีดกันนักกีฬาจากชาติของตน และล่าสุดคณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซีย (ROC) วางแผนที่จะจ่ายเงินชดเชยให้กับนักกีฬาที่ไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 ในครั้งนี้ได้

ธงสัญลักษณ์นักกีฬาที่เป็นกลางรายบุคคล (Individual Neutral Athletes)

ขณะที่อีกสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและชาวโลกยังคงจับตามมองอย่างสงครามอิสราเอล-ฮามาสนั้น เจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 นั้นมีแนวทางปฏิบัติที่ต่างไปจากสถานการณ์ของรัสเซีย-ยูเครน โดยเอ็มมานูเอล มาครง ประธานธิบดีฝรั่งเศสเตรียมผลักดันธรรมเนียม Olympic Truce หรือการพักรบช่วงการแข่งขันโอลิมปิก เพื่อให้อิสราเอล-ฮามาส หยุดยิงชั่วคราว โดยธรรมเนียมดังกล่าวมีประวัติมาตั้งแต่การจัดการแข่งขันโอลิมปิกสมัยเก่าช่วงแรกเริ่ม ในยุคกรีกโบราณกว่า 700 ปีก่อนคริสตกาลเพื่อเป็นการยืนยันว่า เจ้าภาพ นักกีฬา และผู้ชมจะปลอดภัยจากการโจมตีหากมีสงครามเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จัดการแข่งขัน ทั้งนี้ Olympic Truce ยังอยู่ในช่วงการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง หรือหากเกิดขึ้นก็ไม่มีหลักประกันใดที่จะยืนยันได้ว่าอิสราเอล-ฮามาส จะไม่ทำการละเมิดธรรมเนียมนี้ ทั้งนี้ประเทศ “อิสราเอล” และ “ปาเลสไตน์” ยังสามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันได้ตามปกติโดยนักกีฬาไม่จำเป็นต้องเข้าสู่สถานะนักกีฬาที่เป็นกลางรายบุคคล (Individual Neutral Athletes) เหมือนกับนักกีฬาชาวรัสเซียและเบลารุส ซึ่งเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เพราะเห็นว่าอิสราเอลใช้กำลังทางการทหารในกาซา ซึ่งต่อมาสำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยข้อมูลจาก โทมัส บัค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ที่ชี้แจงว่าการเปรียบเทียบสองเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และอิสราเอลจะสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ท่ามกลางข้อครหาจากผู้ชมทั่วโลก

ถึงแม้ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จะไม่ต้องการให้เกิดข้อเปรียบเทียบจากการรับมือกับปัญหาความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ในระหว่างช่วงเวลาจัดการแข่งขันปารีส 2024 แต่ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงทางสงครามที่ใกล้เคียงกัน ประกอบกับกฎเกณฑ์ที่แตกต่าง ทำให้ชาวโลกเกิดข้อสงสัยและจับตามองการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ในฐานะมหกรรมกีฬาระดับโลกที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศว่าสุดท้ายจะสามารถเยียวยาความขัดแย้งระหว่างประเทศได้มากน้อยเพียงใด หรือเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์แค่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

ความหวังท่ามกลางความท้าทาย

มหกรรมกีฬาที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกับมนุษยชาติมายาวนานอย่าง “โอลิมปิกเกมส์” ถึงแม้ว่าจุดประสงค์หลักในการจัดการแข่งขันของประเทศที่แย่งชิงกันเป็นเจ้าภาพมักจะมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสียส่วนใหญ่ แต่โอลิมปิกเกมส์ก็ยังคงเป็นเวทีจุดประกายความฝันของนักกีฬาและผู้ชมทั่วโลก เป็นพื้นที่แสดงศักยภาพของนักกีฬาที่ฝ่าฝันอุปสรรคนานัปการจนสามารถมาปรากฏตัวต่อหน้าคนทั้งโลกในฐานะตัวแทนประเทศได้ อีกทั้งผู้ชมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความเพียรพยายามของเหล่านักกีฬาจึงทำให้ โอลิมปิกเกมส์ ดำรงอยู่ได้และยังคงมีพื้นที่ในหัวใจของชาวโลก การแข่งขันที่รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัยคือหัวใจของกีฬา จากการห้ำหั่นเอาเป็นเอาตายย่อมกลายเป็นมิตรภาพที่ดีหลังจบเกมเสมอ ในฐานะกิจกรรมที่คนทั้งโลกกำลังจับตามองและมหกรรมกีฬาที่สนับสนุนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกเกมส์ครั้งล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้น จะสามารถใช้พื้นที่นี้สะท้อนปัญหาและสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์ความแตกแยกในโลกปัจจุบันได้หรือไม่ เพราะมนุษยชาติจะไม่สามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้หากชาวโลกยังคงปิดหูปิดตาและผู้นำนานาประเทศยังเลือกที่จะรักษาผลประโยชน์ส่วนตนจนมองข้ามประชาชนบางกลุ่มที่กำลังถูกริดรอนสิทธิมนุษยชนและเผชิญหน้ากับความโหดร้ายของสงคราม


อ้างอิง

ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง (15 กันยายน 2562). โอลิมปิก 1988 : การแข่งขันที่ช่วยเปลี่ยนเผด็จการเป็นประชาธิปไตยสู่เกาหลีใต้.สืบค้นจาก https://mainstand.co.th/th/features/6/article/1000#google_vignette

BBC (27 มกราคม 2567). โอลิมปิก 2024: 9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ที่กรุงปารีสเป็นเจ้าภาพ.สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/cv2jldzm4mmo

THE STANDARD WEALTH (7 สิงหาคม 2564). Tokyo 2020 ทำเศรษฐกิจญี่ปุ่น ‘เจ็บ’ แค่ไหน? กับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ที่ขอบสนามโล่งที่สุดในประวัติศาสตร์.สืบค้นจาก https://thestandard.co/olympic-tokyo-2020-japanese-economic/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

Articles

Blackstar : คำร่ำลาจาก (เหล่า) มนุษย์ตาสองสีผู้มาจากต่างดาว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพบในสักวัน ทั้งของครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ความตายของตัวเองที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาทุกวินาที โดยเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะมาถึงตัวของเราเมื่อไหร่ จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวที่ทำให้ไม่อยากจะใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้อีกต่อไป แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่ง ชายผู้แม้ความตายจะมาเคาะประตูหน้าห้อง ...

Articles

The substance: การฉายซ้ำของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการติดหล่มความงาม มองข้ามความจริง และ Ageism ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร “You were amazing” “เธอ ‘เคย’ ยอดเยี่ยม” คือคำเขียนในการ์ดที่ถูกแนบมาพร้อมดอกไม้ช่อโต ...

Writings

จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง, ชวิน ชองกูเลีย และ ศิรประภา จารุจิตร จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ คำนำ งานหนังสือ ...

Articles

Look Back: มองย้อนไป…กับหัวใจที่ต้องเดินหน้าต่อ

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘Look Back’ “ถ้าตอนนั้นทำอีกแบบหนึ่ง มันจะเป็นยังไงนะ?” ...

Articles

เราจำเป็นต้องร้องไห้เมื่อมีคนตายไหม? ชวนสำรวจความไร้แก่นสารของชีวิตผ่านหนังสือ ‘คนนอก’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ *เนื้อหาต่อไปนี้มีการสปอยล์* “วันนี้สินะที่แม่ตาย หรือว่าเมื่อวานนี้ฉันก็ไม่รู้แน่” ประโยคเปิดของหนังสือ ‘คนนอก’ จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ‘L’Étranger’ ได้รับรางวัลโนเบลใน ค.ศ. 1957 เขียนโดย ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save