Lifestyle

จะตายตอนไหน ยังไง เมื่อไหร่ ไม่มีใครทราบ งั้นเรามาเตรียมตัวก่อนจะถึงเวลานั้นดีไหม

เรื่อง: พรรณรมณ ศรีแก้ว

ภาพ: ปาณัสม์ จันทร์กลาง

ถ้าพูดถึงคนที่ตายโดยธรรมชาติ ภาพที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คงเป็นภาพคนวัยชราที่นอนหลับไป ไม่ใช่ภาพของวัยรุ่นหรือเด็กๆ และสมมติถ้าเราตายในวัยยี่สิบ ก็คงหนีไม่พ้นวลี ‘จากไปก่อนเวลาอันควร’ นั่นชวนตั้งข้อสงสัยว่าคนเรามีช่วงอายุที่เหมาะสมแก่การตายด้วยหรือ แล้วอายุเท่าไหร่ถึงจะเหมาะ เพราะเราไม่รู้เคยว่าจะตายตอนไหน มันอาจมาเยือนโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว อุบัติเหตุไม่คาดคิด โรคร้ายที่มาโดยไร้สัญญาณเตือน หรืออวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติกะทันหัน ไปจนถึงภัยพิบัติที่ยากจะหลีกหนี ความตายจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถทำนายทายทักได้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน วันดีคืนดีเราอาจหลับไปโดยไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลยก็ได้

แต่ความตายไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว

มีคนเคยกล่าวว่า ‘ตอนเกิด เราเกิดมาคนเดียว ตอนตาย เราก็ตายคนเดียว’ แม้ว่าในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนแต่ละคนนั้นมีผู้คนมากมายที่เข้ามาในชีวิต บางคนอาจเข้ามาแล้วผ่านไป แต่บางคนก็เข้ามาเพื่อเป็นคนสำคัญและเคียงข้างเรา วันหนึ่งเมื่อมีใครสักคนจากไป ก็ต้องมีคนรับช่วงจัดการร่างอันไร้วิญญาณนั้นต่อ อาจจะเป็นคนในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย คนรู้จัก หรือใครสักคนที่ไม่เคยรู้ว่าเราเป็นใคร แต่สุดท้ายการตายของใครคนหนึ่งก็ต้องกลายเป็นหน้าที่ให้ใครสักคนมารับผิดชอบอยู่ดี

ในวันสุดท้ายของชีวิต หากเลือกได้ หลายๆ คนก็คงอยากให้เป็นวันที่เราได้จากไปอย่างสงบ และไม่ทำให้ใครต้องมาเดือดร้อนหรือวุ่นวายกับการจากไปมากนัก ใครเคยผ่านประสบการณ์ที่ต้องจัดการเรื่องราวความตายก็คงเข้าใจดีว่ามีขั้นตอนยุ่งยากมากมาย ตั้งแต่การแจ้งตายกับทางราชการ การจัดงานศพ การจัดการเอกสารต่างๆ การจัดการมรดก ไปจนถึงการจัดการความรู้สึกของตัวเองที่แม้จะโศกเศร้า แต่ก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งแต่ละอย่างล้วนแต่เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องใช้พลังงานกายและพลังใจอย่างมากที่จะข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย

การรับมือกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นก็หนักหนามากสำหรับคนหนึ่งคนแล้ว บางคนต้องเตรียมจัดงานศพ ติดต่อคนนั้นคนนี้ แล้ววิ่งเคลียร์ธุระต่างๆ ของผู้ตายให้เสร็จโดยที่ไม่ทันได้เสียใจเสียด้วยซ้ำ ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน

การเป็นคนข้างหลังที่ต้องจัดการเรื่องราวหลังการตายของคนในครอบครัว นอกจากความโศกเศร้า เราก็เริ่มตระหนักได้ถึงความสำคัญของคนที่ยังอยู่ และของคนที่กำลังจะจากเราไป หากในวันหนึ่งเราจะต้องลาโลกนี้ไป แล้วยังมีเรื่องค้างคาไม่อาจปล่อยวาง เราก็คงเป็นห่วงคนที่จะต้องจัดการเรื่องราวเหล่านั้นต่อจากเรา แต่ในทางกลับกัน ในฐานะคนข้างหลัง เราก็อยากให้คนที่เรารักได้จากไปอย่างสงบโดยไม่มีอะไรต้องห่วงอีก

ความตายจึงเป็นเรื่องที่ยึดโยงเราเข้ากับคนสำคัญในชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่เราจะสามารถจัดการได้เพียงคนเดียว เมื่อคนที่กำลังจะต้องตายไม่อยากให้คนข้างหลังต้องลำบากกับการจัดการเรื่องราวของตัวเอง คนข้างหลังเองก็ไม่อยากให้คนที่รักต้องจากไปแบบยังมีเรื่องติดค้างเช่นกัน หากเราได้วางแผนการตายไว้บ้าง นอกจากจะลดภาระงานของคนข้างหลังแล้ว มันก็ทำให้เราสามารถเผชิญหน้ากับความตายในอนาคตได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

เตรียมตัวตายแปลว่าไม่อยากมีชีวิตแล้ว?

ถ้าเรากำลังเตรียมตัวเรียนต่อ ก็คงไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้อยากเรียนสิ่งที่เรียนอยู่แล้ว แต่เรากำลังจะไปศึกษาสิ่งใหม่ๆ การเตรียมตัวนั้นก็คือการทำให้เรามีความพร้อมและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ดังนั้น การเตรียมตัวตายก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่อยากจะมีชีวิตอยู่แล้ว แต่มันคือการเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่เราเองก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร แต่การเตรียมพร้อมนั้นย่อมทำให้เราสบายใจไปเปราะหนึ่งว่า อย่างน้อยเราก็ได้เตรียมการบางอย่างที่ทำให้เราหมดห่วง และไม่ทิ้งภาระการจัดการให้คนข้างหลังมากนัก

ส่งต่อสิ่งของที่รักผ่าน ‘พินัยกรรม’

ถ้าพูดถึงการเตรียมตัวตายที่คลาสสิค และเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการ ‘เขียนพินัยกรรม’ บางคนอาจเข้าใจว่าพินัยกรรมจะต้องพูดถึงทรัพย์สินเงินทองหรือของมีมูลค่าเพียงเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว อะไรก็ตามที่เป็นทรัพย์สินของเราก่อนตายก็สามารถถูกส่งต่อผ่านพินัยกรรมได้ ไม่ขึ้นว่าสิ่งของเหล่านั้นจะมีมูลค่าหรือคุณค่าเท่าใด ทั้งอัลบั้มเพลงจากศิลปินคนโปรด หนังสือที่ไม่ตีพิมพ์ซ้ำ หุ่นโมเดลรุ่นลิมิเต็ด สัตว์เลี้ยงที่เรารักเหมือนคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งไหนก็ล้วนสามารถส่งต่อให้กับคนที่เราอยากให้ได้ผ่านพินัยกรรม เพราะเราคงอยากให้สิ่งที่เรารักได้ไปอยู่กับคนที่เข้าใจคุณค่าและสามารถดูแลสิ่งที่เรารักได้ มากกว่าจะให้สิ่งที่เรารักไปจบที่ร้านขายของมือสองแน่ๆ

พินัยกรรมยังมีความสำคัญในการเชื่อมโยงคนสำคัญในชีวิตให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งของของเรา เพราะคนสำคัญบางคนของเราไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาจัดการข้าวของของเราได้ เช่น คนรักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส คนรักเพศเดียวกัน หรือเพื่อนสนิท คนเหล่านี้อาจเป็นคนสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา แต่มองในทางกฎหมาย พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย แม้ว่าเราอาจจะบอกออกปากตกลงว่าจะยกสิ่งของบางอย่างให้ แต่เมื่อถึงเวลา คนที่จะตัดสินว่าใครจะเป็นคนรับของเหล่านั้นก็เป็นทายาทของเราที่อาจไม่ยอมทำตามสัญญาปากเปล่านั้นได้ พินัยกรรมจึงเป็นคำสั่งสุดท้ายที่เราจะสามารถฝากไว้บนโลกและมีผลบังคับตามกฎหมายที่จะอนุญาตให้คนสำคัญจริงๆ ของเราได้เข้ามารับช่วงดูแลสิ่งของของเราต่อไป

ในชีวิตคนเราไม่ได้มีเพียงคนสำคัญที่อยากมอบสิ่งบางอย่างให้ แต่มีคนที่เราอาจจะไม่อยากนับญาติ หรือไม่อยากจะเกี่ยวข้อง แต่กลับมีความผูกพันธ์ทางกฎหมายหรือเป็นทายาทโดยสายเลือด หากไม่มีพินัยกรรม ทรัพย์สินของเราก็อาจจะตกไปถึงคนที่เราไม่อยากให้ได้เช่นกัน เพียงคิดว่าของที่เรารักที่สุดจะต้องไปอยู่ในการครอบครองของคนที่เราเกลียดที่สุดก็คงทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ พินัยกรรมจึงเป็นทั้งสิ่งที่เชื่อมโยงคนสำคัญในชีวิต และเส้นขีดไม่ให้คนที่เราไม่อยากเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทรัพย์สินของเราไปพร้อมๆ กัน

นอกจากเงินทองของนอกกาย อย่าลืมจัดการภายในร่างกายตัวเอง

นอกจากเรื่องทรัพย์สินหรือสิ่งของที่มีคุณค่า สิ่งที่เราอาจจะต้องคิดต่อไปก็คือร่างกายของเราที่หมดลมหายใจไปแล้วจะถูกนำไปทำอะไรต่อ จะถูกนำไปทำพิธีตามศาสนาหรือไม่ หากเรานับถือศาสนาไม่หมือนกับคนในบ้าน เราก็อาจจะต้องพูดคุยกับคนในบ้านให้เรียบร้อยว่าอยากให้งานศพออกมาในรูปแบบไหน หากเป็นคนที่ไม่นับถือศาสนาจะยอมให้คนข้างหลังจัดงานศพอย่างไร หากร่างของเราถูกนำไปประกอบพิธีในสิ่งที่เราไม่ได้ศรัทธา มันก็คงประหลาดและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง นอกจากนี้ บางคนอาจจะลงรายละเอียดถึงสถานที่สุดท้ายที่อยากให้ร่างกายของเราไปอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสุสาน หิ้งในบ้าน ทะเล หรือเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้บนโลกก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะไม่อยากให้มีการจัดงานศพ เพราะไม่ได้ต้องการให้วาระสุดท้ายของเราเป็นพิธีวุ่นวายใหญ่โต บางคนต้องการแค่งานเล็กๆ ให้คนสำคัญได้กลับมาเจอหน้ากันก็พอ ยิ่งในปัจจุบันที่ธุรกิจการจัดงานศพมีจำนวนมากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น ก็ทำให้เราสามารถวางแผนงานศพของตัวเองได้ตั้งแต่เนิ่นๆ บางคนอาจจะอยากให้งานศพเป็นงานที่ครึกครื้นไม่มีบรรยากาศความเศร้าเสียใจ เลือกโลงศพที่สีสันสดใสลวดลายโดนใจในแพ็คเกจ เปิดเพลย์ลิสต์เพลงโปรดในงานแทนเพลงธรณีกันแสง หรือมีเดรสโค้ดสีสันฉูดฉาดแทนที่จะเป็นสีขาวดำก็เป็นสิ่งที่เริ่มพบเห็นได้ทั่วไป แต่สิ่งที่เราต้องทำนั้นก็คือการบอกความต้องการให้กับคนที่จะรับช่วงจัดการงานตรงนี้ให้ชัดเจนเท่านั้นเอง

ในกรณีที่เราจะให้ความตายของเราไปต่ออายุขัยของผู้อื่น การบริจาคอวัยวะหรือการบริจาคร่างกายให้กับโรงพยาบาลก็เป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกได้เช่นกัน เพียงแต่ตัวเลือกนี้อาจเป็นตัวเลือกที่เราต้องบอกญาติหรือคนใกล้ชิดให้พวกเขารับรู้ว่าเราอยากให้ปลายทางของร่างกายของเรานั้นไปที่ไหน และต้องพูดคุยทำความเข้าใจในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่

คนตาย แต่ดิจิทัลฟุตปริ้นต์ไม่ตาย

นอกจากการวางแผนเรื่องทรัพย์สินหรือร่างกายตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องหันมาคิดให้หนักในปัจจุบันก็คือบัญชีโซเชียลมีเดียต่างๆ เพราะบัญชีโซเชียลมีเดียก็เหมือนสมุดบันทึกข้อมูลส่วนตัว หนำซ้ำยังเป็นสมุดบันทึกที่ลบข้อมูลได้ยากที่สุด เพราะเราไม่สามารถตามลบดิจิทัลฟุตปริ้นต์ หรือร่องรอยการกระทำบนอินเทอร์เน็ตได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งบัญชีหลักที่เป็นหน้าเป็นตาของเรา หรือบัญชีลับสำหรับเรื่องเฉพาะที่ไม่อยากให้ใครรู้ก็ตาม

ข้อมูลบางอย่างเราก็อาจจะอยากให้กลายเป็นความทรงจำที่ลบไม่ได้บนอินเทอร์เน็ต อาจจะเป็นรูป วิดิโอ สเตตัสที่เคยตั้งไว้ แต่แน่นอนว่าเราก็มีข้อมูลบางอย่างที่อยากจะเหยียบไว้ให้มิดและอยากจะให้มันตายร่วมไปกับเรา แม้ว่ามันอาจจะทำได้ยากก็ตาม เช่น ประวัติการท่องโลกโซเชียล บัญชีลับที่เราเอาไว้ทำเรื่องเฉพาะกิจ หรือข้อมูลส่วนตัวที่เราไม่อยากให้ใครรู้ แค่จินตนาการว่าในวันที่เราจากไปแล้วมีคนมาส่องโพสต์เก่าๆ ของเราแล้วเจอเรื่องน่าอายบางอย่าง เราก็คงอยากจะฟื้นขึ้นมาลบบัญชีทิ้งทั้งๆ ที่ลงหลุมไปแล้วก็ได้

เราคงต้องยอมรับว่าบัญชีโซเชียลมีเดียและดิจิทัลฟุตปริ้นต์เป็นสิ่งที่จัดการได้ยาก ญาติหรือคนใกล้ชิดก็คงคิดหนักเหมือนกันว่าจะเก็บบัญชีโซเชียลมีเดียของคนตายเอาไว้เป็นความทรงจำ หรือลบทิ้งเพื่อป้องกันมิจฉาชีพแอบอ้างดี อย่างน้อยการคิดเผื่อไว้สำหรับอนาคตก็คงช่วยให้การจัดการบัญชีโซเชียลมีเดียง่ายขึ้น การตัดสินใจตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า ถ้าเราตาย บัญชีต่างๆ จะตายไปพร้อมกับเราไหม ก็คงช่วยให้เราตายตาหลับ ไม่ต้องห่วงว่าจะมีใครเห็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เห็นบนโลกอินเทอร์เน็ตก็ได้

การเตรียมตัวขั้นสุดท้าย – ไปใช้ชีวิต

เมื่อเราวางแผนสิ่งต่างๆ ในชีวิตก่อนตายเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่สุดท้ายที่เราควรจะทำก็คือการใช้ชีวิตที่เหลือให้คุ้มค่าในแบบของตัวเอง จะใช้ชีวิตโลดโผนสุดเอ็กซ์ตรีม หรือใช้ชีวิตเรื่อยๆ แบบชาวสโลว์ไลฟ์ก็เป็นตัวเลือกในการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่ไม่มีผิดหรือถูก ใครจะไล่ตามความฝันจนสุดแรง หรือจะค่อยๆ เฝ้ารอดูสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตก็ไม่มีใครมีสิทธิ์มาบอกว่าชีวิตที่ผ่านมานั้นไม่มีความหมาย  และแม้ว่าเราจะทำตามสิ่งที่ฝันไม่สำเร็จ ชีวิตของเราก็คงไม่ได้หมดความหมายไปเสียทีเดียวหากที่ผ่านมาเราได้ลงมือใช้ชีวิตอย่างดีที่สุดในแบบของตัวเองแล้ว สิ่งที่น่าหดหู่ที่สุดอาจะเป็นการที่เราเตรียมแผนการจัดการเรื่องราวหลังความตายไว้เสียดิบดี แต่กลับหลงลืมสิ่งสำคัญอย่างการใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองอยากจะใช้ จนวินาทีสุดท้ายของชีวิตก็ได้แต่เสียดายเวลาที่ผ่านมา และความเสียดายนั้นก็คงทำให้แผนการตายที่เตรียมไว้หมดประโยชน์อย่างแท้จริง

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าคนข้างหลังจะยอมรับและทำตามแผนของเรา?

น่าเศร้าที่คำตอบของเราก็คือเราไม่มีทางรู้เลยว่าแผนการตายของเรานั้นจะถูกนำไปใช้จริงได้มากน้อยแค่ไหนพอๆ กับที่เราไม่รู้ว่าเราจะตายตอนไหน เพราะเมื่อเราจากไป เราก็ไม่รับรู้หรือสามารถจัดการอะไรได้ด้วยตัวเองอีกแล้ว ของรักของหวงเราอาจจะไปนอนในรถซาเล้งแทนที่จะได้ไปถึงมือคนดูแลคนใหม่ ญาติอาจจะไม่ยอมรับการบริจาคอวัยวะของเราแล้วไม่ยอมให้โรงพยาบาลเอาอวัยวะเราไป สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่มันก็ไม่ใช่ความผิดหรือความรับผิดชอบของเราเพราะเมื่อเราตาย ทุกสิ่งทุกอย่างหลังการตายก็อยู่เหนือการควบคุมของเราแล้ว สิ่งที่เราทำได้ก่อนจะจากไปก็คงเป็นการพูดคุยกับคนข้างหลังของเราให้ชัดเจนว่าเราต้องการให้พวกเขาจัดการเรื่องของเราอย่างไร และขอให้พวกเขาช่วยทำตามความต้องการของเราเท่านั้น

แม้ว่าคนข้างหลังอาจจะไม่สามารถจัดการเรื่องราวของเราได้ตามที่เราต้องการได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่เราเตรียมมาจะไร้ความหมาย การวางแผนการตายคือความพยายามอย่างหนึ่งของเราที่จะสามารถลาโลกนี้ไปได้โดยหมดห่วง และทำให้คนข้างหลังวุ่นวายน้อยที่สุด แต่หากคนข้างหลังจะวุ่นวายกับความตายของเราไปเกินกว่าที่เราอยากให้เป็น เราก็คงต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เหมือนกับความตายนั่นแหละ

.

อ้างอิง

https://www.marketingoops.com/campaigns/local-campaigns/let-them-see-love-2016/

https://thematter.co/social/how-to-draft-last-will-or-testament/183345

https://thematter.co/science-tech/new-gen-are-highly-accept-death/91804

https://thematter.co/social/organ-donate-thailand/88477

https://www.youtube.com/watch?v=wDbQ4BNckKI

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
4
Love รักเลย
2
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
4
Angry โกรธ
0

More in:Lifestyle

Articles

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ คำทำนาย: เครื่องมือพยุงจิตใจในสภาวะหมดศรัทธาในตนเอง?

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ในทศวรรษที่ 21 โลกกำลังหมุนไปพร้อมกับการพัฒนาของวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligent หรือ AI) ...

Writings

ไขรหัสลับ ‘หน้าตั๋วรถเมล์’ เศษกระดาษบ่งชี้ที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญา

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เมื่อเรานั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าจะเป็นภาพจำก็คงเป็นระบบ ‘ตั๋ว’ รถเมล์ ทั้งเสียง ‘แก๊บๆ’ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าให้เตรียมเงินจ่ายค่าโดยสารได้แล้ว พร้อมกับตั๋วม้วนยาวที่มีตัวเลขล้อมอยู่เต็มไปหมดและการฉีกตั๋วอย่างฉับไวที่ดูไปก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าทำไปทำไม ดูเผินๆ จะไม่ค่อยเห็นประโยชน์อะไรของตั๋วนอกจากจะเป็น ‘เศษกระดาษที่ทำให้โลกร้อนขึ้น’ ...

Writings

‘นักชิมมืออาชีพ’ ผู้อยู่เบื้องหลังทุกความอร่อย

เรื่องและภาพประกอบ : พนิดา ช่างทอง ผู้เขียนและคนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับอาชีพ ‘นักชิมอาหาร’ หรือ ‘นักวิจารณ์อาหาร’ ในภาพของ Food Critic อาชีพในฝันของผู้ที่ชื่นชอบการกิน แต่สำหรับ ‘นักชิมมืออาชีพ’ หรือ ...

Articles

เมื่อเราไม่อยู่บ้าน หมาจะคิดถึงเราไหมนะ?

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดยาว เมื่อได้เว้นว่างจากการทำงานและการเรียนอันแสนเหน็ดเหนื่อย หลายคนจึงเลือกจะกลับบ้าน ดังนั้น  หากจะเรียกว่าเป็น ‘วันแห่งการกลับบ้าน’ ก็อาจไม่ผิดนัก  หลายครอบครัวอาจมีสมาชิกอย่างพ่อ แม่ ญาติ หรือใครสักคนที่ทำให้อยากกลับบ้านไปหา ...

Writings

สงกรานต์ทั้งที ไม่มีความสงสัยบ้างไม่ได้หรอ?: เมื่อคำถามจากญาติในช่วงเทศกาลแห่งความสุขสร้างความทุกข์ให้ลูกหลาน

เรื่องและภาพประกอบ: ทยาภา เจียรวาปี หมายเหตุ: ประโยคคำถามในบทความชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมจากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน และคนรอบตัวของผู้เขียนเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ในสายตาผู้อ่าน ภาพวันสงกรานต์หน้าตาเป็นอย่างไร? เชื่อว่าสำหรับหลายๆ คน คงเห็นภาพการสาดน้ำดับร้อน ภาพความสุข รอยยิ้ม ...

Writings

แตก 4 ซีซัน 4 ประเด็นของซีรีส์เพศศึกษา

เขียน จิรัชญา นุชมี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร Sex Education คือซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix ที่โด่งดังและจัดจ้านในประเด็นการเล่าถึงเรื่องเพศศึกษา อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ทว่าไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง เพศ เท่านั้น ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save