เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร
ภาพประกอบ : พรวิภา หิรัญพฤกษ์
เปิดมาเจอไลฟ์สไตล์สุดหรูผ่านไอจี เลื่อนไปเจอข่าวคนที่ไม่มีแม้แต่อันจะกิน สไลด์ไปเจอหมีเนย ไถอีกทีเจอสงคราม ภายในเสี้ยววินาทีต่อมาเราก็ปัดไปเจอหมูเด้งเสียแล้ว
ท่ามกลางโลกที่เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากมาย เราต่างเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แก้ไขรัฐธรรมนูญ, นิรโทษกรรมประชาชน, ปล่อยตัว และยกเลิกข้อหานักกิจกรรม, ปลาหมอคางดำ, Saveทับลาน, คัดค้านแก่งเสือเต้น, หยุดอุตสาหกรรม EEC, Free Palestine และเรื่องต่างๆ อีกร้อยแปดพันเก้า ทุกอย่างผ่านตาผ่านใจภายในไม่ถึงหนึ่งนาที จึงไม่ยากเลยที่เราจะ ‘อิน’ ไปกับความยากลำบากของผู้คนในแต่ละบรรทัด กดลงชื่อสนับสนุนในแต่ละประเด็น ฝากความหวังไว้ที่ปลายนิ้วด้วยการกดไลก์ กดแชร์ และกดลงชื่อ พร้อมกับยืดอกภูมิใจในการมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมอยู่บนโลกออนไลน์
Slacktivism แค่คลิกก็ฟินแล้ว
‘slacktivism’ เกิดจากการนำคำ slacker + activism ถ้าเป็นในภาษาไทยก็อาจแปลได้ว่า คนขี้เกียจ+นักเคลื่อนไหวทางสังคม สองคำนี้ดูขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง แต่พอเอามารวมๆ กันแล้ว ก็จะได้ความหมายว่า ‘พวกนักกิจกรรมจอมอู้’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘คนดีที่ขี้เกียจ’ นั่นเอง เป็นคำที่มีไว้เพื่อใช้อธิบายถึงผู้ที่มีความสุข และรู้สึกมีคุณค่าที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านโลกโซเชียลมีเดีย เช่น การถูกใจ การแชร์คอนเทนต์ การมีส่วนร่วมวิพากษ์วิจารณ์ การลงชื่อในแคมเปญรณรงค์ออนไลน์ และแชร์การมีส่วนร่วมให้ผู้อื่นได้รับรู้ เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วมเคลื่อนไหว
ในบทความ “Performing Wokeness: Signaling you’ve got the “social justice know-how” for the sake of your own self-image” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2018 ในหนังสือพิมพ์ The Harvard Crimson หนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีการกล่าวถึง performative wokeness หรือก็คือ “การแสดงออกว่าตัวเองตาสว่าง/ตื่นรู้” ว่าคือการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง หรือประเด็นอะไรก็ตามโดยที่ไม่ได้เข้าใจ หรือศึกษาไปที่ตัวปัญหาจริงๆ แต่เป็นการทำเพื่อเสริมภาพลักษณ์ว่า “ฉันเองก็สนใจเรื่องพวกนี้นะ” เป็นการสร้างเสริมภาพลักษณ์ในสังคม
เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า slacktivism หรือก็คือ “มายาคติที่ทำให้รู้สึกดีต่อการกดไลก์ กดแชร์ ว่าเท่ากับการทำกิจกรรมทางการเมืองที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง”
ซึ่งในกรณีนี้ก็นำไปสู่ความฉาบฉวย ที่อาจจะไม่ได้ให้ข้อมูล หรือสร้างความเข้าใจอะไรแก่สังคม และง่ายที่จะแชร์เรื่องที่ผิดข้อเท็จจริง ขอยกตัวอย่างอย่างในปัจจุบันที่แพลตฟอร์มออนไลน์ได้สร้างพื้นที่ในการแสดงออกอย่าง add yours ในแอปฯ Instagram ที่สามารถร่วมแชร์ หรือใส่ภาพ โดยกดเทมเพลต (template) ต่อจากสตอรี่ไอจีผู้ใช้คนอื่นได้อย่างรวดเร็ว มักถูกนำมาใช้แชร์ข่าวสาร และแสดงจุดยืนในประเด็นต่างๆ
All Eyes On Rafah
เพื่อบอกว่าทุกคนบนโลกกำลังจับตามองสิ่งที่เกิดขึ้นในราฟาห์ ที่ถูกอิสราเอลโจมตีอย่างต่อเนื่อง จนชาวปาเลสไตน์สามารถอยู่ได้แค่ในพื้นที่ใต้สุดของฉนวนกาซา มีการ Generative AI แทนภาพเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซ่าที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะนั้น ซึ่งภาพนี้ไม่ได้ให้ข้อมูล สร้างความตระหนักถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้น หรือให้ความเข้าใจแก่สังคมเลย
มีการแสดงจุดยืนที่ง่ายมากขึ้นต่อประเด็นสังคมต่างๆ อย่างการ #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน และไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า
อีกทั้งยังมีกรณี #Saveทับลาน ที่เคยเป็นกระแสอยู่ในโลกโซเชียล ว่าด้วยเรื่องของพื้นที่ที่ทับซ้อนกัน จึงทำให้เกิดข้อขัดแย้ง ระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งระบุไว้ว่าชาวบ้านเข้ามาทำกินในพื้นที่นี้ได้ ขณะที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งระบุว่าเป็นเขตอุทยาน ชาวบ้านไม่สามารถเข้ามาได้ จนกลายเป็นปัญหา ‘ที่ดินทำกิน’
ประชาชนได้ออกมาแสดงความคิดเห็น #Saveทับลาน ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากถึง 1.73 ล้านการมีส่วนร่วม (engagement) และช่วยกันรณรงค์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อคัดค้านการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เพราะกังวลว่าจะเป็นช่องทางให้กลุ่มนายทุนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า
เนื่องจากกระแสที่มาแรงทำให้ประชาชนลงชื่อไม่เห็นด้วยในการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานพื้นที่ 265,000 ไร่ มากถึง 95.2% จากผู้ร่วมแสดงความเห็นจำนวนมากกว่า 901,892 คน
ก่อนที่จะรู้ว่าข้อมูลที่ช่วยกันรณรงค์ และร่วมกันไปลงชื่อนั้น เป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนมาจากฝั่งอุทยาน จากการรายงานของ 3plusnews พบว่า ชาวบ้านทับลานได้ยื่นสอบสวนกลาง หลังจากอุทยานฯ ทับลานบิดเบือนข้อมูล ทำให้สังคมเข้าใจว่าพื้นที่ 2.6 แสนไร่ ที่จะทำการเพิกถอนนั้น มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ทั้งที่ความจริงเป็นชุมชนที่ประชาชนอยู่มาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติ และไม่มีสภาพป่าเลย
ปัจจุบันโซเชียลมีเดียลดทอนพลังการเคลื่อนไหวในสังคม
สมัยก่อนโซเชียลมีเดีย ไม่ได้มีความซับซ้อน หลากหลาย และถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากเท่าในปัจจุบัน แต่ด้วยการสื่อสารแบบกลุ่มต่อกลุ่ม (many-to-many) จึงทำให้เกิดการสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การรวมตัวกันในชีวิตจริง อย่างการชุมนุม การประท้วง การเดินขบวน
เนื่องด้วยในปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อใหม่มีแพลตฟอร์ม และฟีเจอร์ ต่างๆ ที่ออกแบบมาให้แสดงตัวตน และสร้างความรู้สึกที่ ‘เสมือนจริง’ ให้เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวตนและโลกออนไลน์ค่อยๆ ถูกหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน อีกทั้งยังมีระบบอัลกอริทึมที่แสดงผลสิ่งที่เราสนใจ หรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วยบ่อยๆ มันจึงกลายเป็นห้องเสียงสะท้อน (echo chamber) ที่จะแสดงผลให้ตรงกับความเห็นของเรา ทำให้ดูเหมือนว่ามีคนเห็นตรงกัน จนเกิดการคิดไปเองว่าเสียงของเราดัง ซึ่งอาจจะเกินความ เป็นจริง ในขณะที่โลกภายนอกอาจจะไม่มีคนคิดแบบเราเลย
การเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลที่ลดข้อจำกัดทางทรัพยากร และเวลา จึงได้กลายเป็นทางเลือก และเมื่อพื้นที่บนโลกออนไลน์มันชัดเจนขึ้น จึงไม่แปลกที่จะรู้สึกว่าการแสดงออกบนโลกโซเชียล ก็อาจจะไม่ต่างจากการแสดงออกในโลกทางกายภาพ
การเคลื่อนไหวทางออนไลน์เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวในทุกๆ ครั้ง มาจากการสื่อสาร เราจะเห็นประเด็นการเคลื่อนไหวมากมายในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งแต่ละครั้งต่างก็มีเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมือนกัน อย่าง Ice bucket challenge (2014) ที่ดังไปทั่วโลก เป็นแคมเปญใช้ถังน้ำแข็งราดตัว เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS Assocition)
หรือ อย่าง Me too (2017) ที่ใช้แฮชแท็กในการสร้างความตระหนักรู้กับผู้คนในสังคมในเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
นอกเหนือจากการสื่อสารยังมีการลงชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org ที่ทำหน้าที่เหมือนพื้นที่สาธารณะในการระดมเสียงจากมวลชนออนไลน์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยกิจกรรมหลักคือ การรวบรวมรายชื่อ เพื่อนำไปต่อรองกับรัฐฯ หรือบริษัทเอกชนต่างๆ มีแคมเปญการรณรงค์เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่สนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม (ปฏิรูปศาล, ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง, ยกเลิก112) ยันลงชื่อเพื่อให้อนิเมะ “ชมรมรัก คลับมหาสนุก” มีช่องทางถูกลิขสิทธิ์ให้รับชมอีกครั้ง กันเลยทีเดียว
ในไทยก็มีแคมเปญที่สำเร็จ เช่น เคเอฟซี ทาโก้เบล และพิซซ่าฮัท: โปรดเลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ใช้กรงขังแม่ไก่ ในปี 2021, การแก้ปัญหา #ม็อบชาวนา เร่งโอนหนี้ชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ ในปี 2022 ซึ่งความสำเร็จของ 2 แคมเปญนี้ไม่ได้มาจากการแชร์ หรือการลงชื่อเพียงอย่างเดียว แต่มีการรวมกลุ่ม ร่วมชุมนุม และยืนประท้วงอีกด้วย
อีกทั้งยังมีสมรสเท่าเทียมที่ถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงสื่อที่มีผลในการจุดกระแส ทำให้ถูกพูดถึง หรือเปลี่ยนทัศนคติบางส่วนของคนในสังคม มีการสนับสนุน และรณรงค์จากโซเชียลเป็นอย่างมาก เช่น การลงชื่อในเว็บไซต์ support1448.org กว่า 362,425 รายชื่อ เป็นเสียงของประชาชนที่ดังถึงรัฐสภา มีการจัดงาน pride month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) และอื่นๆ อีกมากมาย จนออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เป็นความสำเร็จที่มาจากทุกภาคส่วน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการสื่อสารนั่นเอง
งานวิจัยพลังของสื่อสังคมกับการขับเคลื่อนขบวนการเคลื่อนไหว ทางสังคมใหม่ ของวารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า พลังที่แท้จริงของการเคลื่อนไหวทางสังคม ยังคงอยู่ที่การชุมนุม และการเดินขบวนในสถานที่จริง มีการพบปะให้รู้สึกว่า ‘จริง’ เพราะการติดตามผ่าน social media ไม่ได้เป็นการรับประกันว่ามีส่วนร่วมในขบวนการอย่างแท้จริง เพราะเทคโนโลยีของสื่อใหม่ อาจสร้างความรู้สึกเสมือนจริงให้เกิดขึ้น จนบางคน อาจจะรู้สึกว่า การเข้าร่วมการชุมนุมทางออนไลน์ก็เพียงพอแล้ว จนไม่สามารถนำไปสู่การรวมพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างแท้จริง จึงเป็นอีกโจทย์ที่สำคัญในโลกปัจจุบัน
จึงไม่ใช่เรื่องผิดที่จะไลก์ จะแชร์ จะเล่าในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสาร แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจมากพอขนาดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้โดยที่ไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่ลองถามตัวเองก่อนที่จะส่งต่อว่าเราได้รู้ปัญหา และเรื่องราวที่กำลังจะแชร์อย่างถ่องแท้แล้วหรือไม่ เพราะการแชร์เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเคลื่อนไหว
งานที่อ้างถึง
นู ฉันทัช พานิชชานนท์. (22 กรกฎาคม 2566). ถอดความหมาย “Woke Performative Bullsh*t” ที่ ‘แสนปิติ’ ลูกชายชัชชาติ ผู้ว่า กทม. กล่าวถึง ก่อนที่จะลบออก หลังถูกด้อมส้มทัวร์ลง. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก thestructure: https://thestructure.live/what-woke-performative-is-22-7-23/
Nutthapat Mingmalairak. (18 มิถุนายน 2562). Medium. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก จาก Slacktivism ก้าวสู่ Active Citizenship: https://medium.com/@nutthapatmingmalairak/จาก-slacktivism-ก้าวสู่-active-citizenship-710417857409
Akkanut Wantanasombut. (1 พฤศจิกายน 2562). The Matter.เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก โซเชียลมีเดียสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมได้ แต่ก็ทำให้ล้มเหลวได้เช่นกัน? เรียกใช้เมื่อ https://thematter.co/thinkers/success-and-failure-of-social-media/88989
นู ฉันทัช พานิชชานนท์. (22 กรกฎาคม 2566). ถอดความหมาย “Woke Performative Bullsh*t” ที่ ‘แสนปิติ’ ลูกชายชัชชาติ ผู้ว่า กทม. กล่าวถึง ก่อนที่จะลบออก หลังถูกด้อมส้มทัวร์ลง. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก thestructure: https://thestructure.live/what-woke-performative-is-22-7-23/
อาณาจักรไบกอน V. (7 กรกฎา 2567). #saveอุทยานแห่งชาติทับลาน. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก facebook: https://www.facebook.com/bygonkingdomv4/photos/saveอุทยานแห่งชาติทับลาน-ด่วนครับอุทยานทับลานกำลังจะถูกตัดพื้นที่ป่า-26-แสนไร่-อ/1011158170473585/?paipv=0&eav=AfZ80y45m7kPTw5CRjDXSmc9-ypTwXDqfWUtgnZ7uRX9qkWfmdM47G7fi-LPCJUg2cQ&_rdr
thanaporn_s. (22 สิงหาคม 2567). ชาวบ้านทับลาน ยื่นสอบสวนกลางเอาผิด 157 อุทยานฯทับลานบิดเบือนข้อมูล. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก 3PlusNews: https://ch3plus.com/news/social/morning/413752
ธนธร จิรรุจิเรข. (9 กรกฎา 2567). ป่าทับลาน หรือ ป่าทับคน ? ต้อง save คน หรือ save ป่า ?เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก theactive: https://theactive.net/data/tublan-social-listening/
กรุงเทพธุรกิจ. (13 กรกฎาคม 2567). เปิดโพล 9 แสนคนค้านปรับปรุงแนวเขตอุทยานทับลาน ‘ชัยวัฒน์’ เชื่อ ครม.ทบทวนแน่. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก กรุงเทพธุรกิจ: https://www.bangkokbiznews.com/politics/1135650
change.org. (ม.ป.ป.). แคมเปญที่ประสบความสำเร็จ. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก change.org: https://www.change.org/impact
สุธิดา พัฒนศรีวิเชียร. (มกราคม – เมษายน 2562). พลังของสื่อสังคมกับการขับเคลื่อนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ The Power of Social Media on Mobilizing the New Social Movements. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 27(53), 152.