เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
ภาพประกอบ : พรวิภา หิรัญพฤกษ์
จากวัน ‘น้ำตานอง’ ถึงวัน ‘น้ำตาเหือด’ สำรวจการคล้อยตามที่ซ่อนอยู่ใน ‘รอยน้ำตา’
ปรากฏการณ์คนไทย ‘น้ำตานอง’ แทบทั้งแผ่นดิน และพร้อมใจกันเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นสีดำ ก่อนที่ไม่กี่ปีถัดมา น้ำตาก็ ‘แห้งเหือด’ หายทิ้งไว้เพียงรอยน้ำตา
หากมองย้อนกลับไป เราเห็นอะไรจาก ‘รอยน้ำตา’ เหล่านั้นบ้าง และการที่คนจำนวนมากพลิกฝั่ง เปลี่ยนความคิดอย่างพร้อมเพรียงกันนั้นมีอะไรซ่อนอยู่
จากวันที่ ‘น้ำตานอง’
วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว โทรทัศน์ที่กำลังฉายรายการตามปกติอยู่ จู่ๆ ก็ถูกตัดไปที่ประกาศสำนักพระราชวังในโทนขาวดำว่า รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตแล้ว
ไม่นานหน้าฟีดข่าวบนเฟซบุ๊กก็เต็มไปด้วยข้อความไว้อาลัย พร้อมอิโมจิรูปหัวใจสีเหลือง มือสองข้างประกบกัน ธงชาติไทย หรือนกสีขาว และเพื่อนบนโลกออนไลน์ก็พร้อมใจกันเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นสีดำ
ภาพผู้คนทุกหมู่เหล่า ทุกช่วงวัย ถือรูปท่านพร้อมร้องไห้แทบขาดใจถูกโพสต์อยู่เต็มเฟซบุ๊ก และตั้งแต่วันนั้น กิจกรรมแสดงความอาลัยก็ค่อยๆ เกิดขึ้น ทั้งแปรอักษรท่ามกลางแดดเปรี้ยง จุดเทียนไว้อาลัยตามสถานที่ต่างๆ หรือบางคนสักข้อความ “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” ไว้บนตัว จนกลายเป็นปรากฏการณ์คนไทยน้ำตานองแทบทั้งแผ่นดิน
ณ ตอนนั้นคนไทยส่วนใหญ่รู้สึกเช่นนั้น แต่อาจมีบางคนที่คิดต่างไป เพียงแค่ไม่พูดหรือแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งเท่านั้นเอง หน้าฟีดข่าวในทุกแอปพลิเคชันจึงเต็มไปด้วยสีขาวดำ
สู่วันที่ ‘น้ำตาเหือด’
คำว่า ‘น้ำตาเหือด’ ในที่นี้ เปรียบเสมือนความคิดหรือความเชื่อที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสุดขั้ว อาจเพราะได้รับข้อมูลใหม่ หรือได้เห็นความเป็นไปของสังคมที่เริ่มเปลี่ยนทิศทางจาก ‘ขวา’ ไป ‘ซ้าย’ โดยเริ่มจากการชุมนุมไล่เผด็จการจนโยงมาถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
ปรากฏการณ์น้ำตาเหือดค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ พ.ศ.2563 เมื่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากการชุมนุมขับไล่เผด็จการ และผู้ชุมนุมบางส่วนอ้างว่า ‘เบื้องบน’ มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันฯ จึงเริ่มถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 และตั้งแต่นั้นภาพกลุ่ม ‘คนไล่ลุง’ ก็คล้ายจะถูกโยงเข้ากับกลุ่ม ‘คนล้มเจ้า’ ไปอย่างเหมารวม
จนราวกับว่า…ไม่สามารถไล่ลุงและรักเจ้าไปพร้อมๆ กันได้
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางคนเริ่มโพสต์ภาพสักทับและเลเซอร์รอยสักเดิม จนกลายเป็นกระแส ‘อดีตที่ลบได้’ เต็มฟีดข่าว บางคนลบรูปโปรไฟล์สีดำตอนนั้นทิ้ง บ้างก็แชร์โพสต์วันนี้ในอดีตมาแสดงความเขินอายปนขำขันกันเต็มโลกออนไลน์
ผู้คนโพสต์ถึงเป็นจำนวนมากไม่ต่างจากเหตุการณ์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว…แต่กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ
แล้วในโลกแห่งความจริงเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ความเป็นไปในโลกแห่งความจริง
ช่วงที่เสื้อผ้าสีดำเต็มตู้ ผู้คนใส่แต่เสื้อสีเข้มจนเป็นเสมือนกฎของสังคมในเวลานั้น กลายเป็นว่าหากบางคนไม่ใส่เสื้อดำก็จะถูกมองเหยียด ซุบซิบนินทา โดนด่า หรือแม้กระทั่งโดนทำร้ายร่างกาย เพราะกลุ่มคนรักเจ้าหรือรอยัลลิสต์บางท่านอาจตีความสีเสื้อเกินเลยไปถึงอุดมการณ์ทางการเมือง
เหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นอีกใน 4-5 ปีถัดมา ในยุคที่สถาบันฯ ไม่ได้รับความนิยมชมชอบเท่าแต่ก่อน หากแต่เปลี่ยนจากเสื้อสีดำเป็นสีเหลือง เพราะสำหรับบางพื้นที่หรือกลุ่มสังคม ถ้าคุณบังเอิญใส่เสื้อสีเหลืองออกจากบ้าน คุณก็อาจจะกลายเป็นรอยัลลิสต์ตัวเป้งทันที และเตรียมใจรับมือกับสายตาแปลกๆ ที่จับจ้องมาได้เลย
เพียงแค่สีเสื้อก็ตีความไปได้ไกลถึงขั้นนั้นเชียวหรือ ?
ย้อนกลับไปอีกที คุณว่าจะมีสักคนไหมที่โพสต์ไว้อาลัยเพราะเห็นคนอื่นโพสต์กัน ทั้งคนที่โพสต์โดยรู้สึกอาลัย และคนที่โพสต์โดยไม่รู้สึกอะไร มันคงต้องมีบ้าง เพียงแต่บางทีการไม่พิมพ์อะไรลงในช่อง “คุณคิดอะไรอยู่…” และกดโพสต์มันออกไป มนุษย์ออนไลน์บางคนอาจคิดว่าคุณไม่ได้ ‘คิดอาลัย’ อย่างที่ควรจะคิดกันในเวลานั้น
ขยับมาสักหน่อย ช่วงที่มีกระแสนักเรียนชูสามนิ้วหน้าเสาธงเพื่อแสดงสัญญะต่อสู้กับเผด็จการ คุณว่าจะมีนักเรียนสักคนไหมที่เห็นด้วยกับการขับไล่เผด็จการ แต่ไม่อยากชูสามนิ้ว มันคงต้องมีบ้าง เพียงแต่ความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจคงก่อตัวขึ้นไม่น้อย หากคุณลองจินตนาการว่าเพื่อนๆ ทั้งทางซ้าย ขวา หน้า และหลัง ต่างยกแขนชูสามนิ้วกันหมด แต่คุณกลับไม่ยกมืออยู่คนเดียว ความกดดันจากรอบข้างคงบีบให้คุณค่อยๆ ยกแขนและชูสามนิ้วขึ้นมาเอง เพราะไม่อย่างนั้นสายตานับสิบคงพุ่งเป้ามาที่คุณเป็นแน่
ที่น่ากลัวยิ่งกว่า ‘ตกขบวน’ คือกลัวโดน ‘ผลักออกจากขบวน’ นี่แหละ
เราสังเกตเห็นอะไรจากเหตุการณ์เหล่านี้บ้าง
มนุษย์เป็นสัตว์คล้อยตาม
มนุษย์เจนวายและมนุษย์เจนซีที่อายุเลขสองถึงเลขสาม ซึ่งเติบโตมากับอินเทอร์เน็ต อาจเคยผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาบ้าง ทั้งในโลกออนไลน์และชีวิตจริง ไม่ว่าจะช่วงเวลาแห่งการเลือกเชื่อหรือเลิกเชื่อ ไม่ว่าจะกดโพสต์หรือลบโพสต์ ไม่ว่าจะใส่เสื้อดำหรือเลี่ยงเสื้อเหลือง ทุกอย่างมักเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงกัน จนกลายเป็นกระแสนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง
แต่คุณเคยตั้งคำถามไหมว่าผู้คนเลือกทำบางสิ่งเพราะรู้สึกเช่นนั้นจริง หรืออาจเพราะคล้อยตามไปกับสังคมรอบข้างเพียงเท่านั้น
ความตอนหนึ่งจากบทความเรื่อง ‘จิตวิทยากับการเลือกข้าง’ ของ ทิพย์นภา หวนสุริยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของคณะไว้ใน พ.ศ.2564 ได้เขียนไว้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่ชอบความไม่กลมกลืนในสังคม มนุษย์จึงคล้อยตามไปกับความเห็นของคนใกล้ชิดหรือคนส่วนใหญ่ เพราะคิดว่าน่าจะถูกต้องและช่วยให้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับแตกต่างอยู่เพียงคนเดียว
ข้อมูลข้างต้นอาจช่วยตอบคำถามได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่คนส่วนใหญ่คิดหรือทำคล้ายๆ กันไปตามช่วงเวลานั้น อาจไม่ได้มาจากการรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ แต่เป็นเพราะ ‘การคล้อยตาม’ (conformity) ซึ่งคือการที่คนถูกแรงกดดัน (ทั้งเกิดขึ้นจริงและคิดไปเอง) จากบุคคลหรือกลุ่มให้เปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือพฤติกรรมให้เป็นไปตามบรรทัดฐานของบุคคลหรือกลุ่มนั้นๆ
นอกจากการคล้อยตามที่ทำให้คนมีแนวโน้มเห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่แล้ว ยังมีแนวโน้มที่คนซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยจะไม่กล้าแสดงความเห็นออกมา เพราะรู้ดีว่าอาจกลายเป็นคนแปลกแยก และไม่กลมกลืนไปกับสังคม เป็นไปตาม ‘ทฤษฎีวงเกลียวแห่งความเงียบ’ (Spiral of Silence) ของ Elisabeth Noelle-Neumann นักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่ว่า คนที่คิดไม่เหมือนเสียงส่วนใหญ่จะเก็บความคิดเห็นของตัวเองไว้ให้ ‘เงียบ’ และตามน้ำไปกับกลุ่ม เพื่อไม่ให้ตัวเองแปลกแยก
ยิ่งในโลกออนไลน์ที่อัลกอริทึมของ ‘พี่มาร์คและพี่มัสก์’ ในแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กและเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) มีผลต่อกระจายความเชื่อหนึ่งๆ ให้กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ จนผู้คนอาจคล้อยตามกัน และเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปรากฏการณ์น้ำตานองและน้ำตาเหือดขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันการมีอยู่ของแอปพลิเคชันก็ทำให้คนที่เห็นต่างได้ปกปิดตัวตน และออกมาจากวงเกลียวแห่งความเงียบ กล้าพูดสิ่งที่ตัวเองคิดออกมา จนบางครั้งก็อาจกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้
คราบ ‘รอยน้ำตา’ ของปรากฏการณ์เหล่านี้อาจกำลังชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่า สิ่งที่เราเชื่อกันตามกระแสนิยมนั้นอาจเกิดจากการคล้อยตามกัน และคนคิดต่างก็เก็บความคิดของตัวเองไว้เงียบ ทำให้หลายคนเชื่อแบบเดียวกันในช่วงหนึ่ง หรือเปลี่ยนความเชื่ออย่างพร้อมเพรียงกันในอีกช่วงหนึ่ง และจะยิ่งเห็นชัดขึ้นเมื่ออยู่บนโลกออนไลน์ที่่ทุกอย่างกระจายไปเร็ว
ถึงอย่างนั้น ไม่ว่าวันนี้คุณจะเป็นมนุษย์ ‘น้ำตานอง’ หรือมนุษย์ ‘น้ำตาเหือด’ ผู้เขียนอยากชวนคุณนึกย้อนไปว่าอะไรทำให้คุณคิดเช่นนั้น คุณรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ หรือเป็นเพียงการคล้อยตามไปกับสังคมรอบข้างเท่านั้น
สำหรับผู้เขียน เมื่อมองย้อนกลับมาในสังคมไทย หากคนลองเลิกคล้อยตามสิ่งที่เราไม่ได้เห็นด้วยจริงๆ หรือลองพูดความคิดเห็นส่วนน้อยออกมา มันอาจทำให้การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและการต่อสู้ระหว่าง ‘สี’ น้อยลง จนอาจพอเป็นได้ที่คนๆ หนึ่งจะเฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงของประเทศจากพรรคส้ม และเป็นรอยัลลิสต์ไปพร้อมๆ กันได้
สุดท้าย ในระหว่างที่คุณอ่านบทความนี้อยู่ก็เช่นกัน…อย่า ‘คล้อยตาม’ ผู้เขียนไปเสียทุกเรื่อง และหากคุณไม่เห็นด้วยกับสิ่งไหน ก็อย่าปล่อยให้มันเงียบต่อไปอีกเลย
รายการอ้างอิง
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (22 ตุลาคม 2022). Conformity – การคล้อยตาม. เข้าถึงได้จาก psy.chula: https://www.psy.chula.ac.th/en/feature-articles/conformity#:~:text=%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%20(Conformity)%20%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD
ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา. (27 ตุลาคม 2021). จิตวิทยากับการเลือกข้าง. เข้าถึงได้จาก psy.chula: https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/take-side/
BrandThink. (6 มีนาคม 2019). เคยเลือกที่จะเงียบ เพราะกลัวถูกมองเป็นเสียงส่วนน้อยไหม ? เข้าถึงได้จาก BrandThink: https://www.facebook.com/brandthink.me/posts/society-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0