ArticlesSocietyWritings

ครบรอบ 51 ปี วันประชาธิปไตย ประเทศไทยเดินทางถึงจุดไหนแล้ว ? : มองเส้นทางประชาธิปไตยไทย ผ่านมุมมอง -อ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

เรื่องและภาพประกอบ :  พรวิภา หิรัญพฤกษ์

.

เวียนมาเป็นปีที่ 51 แล้วหลังเยาวชนคน 14 ตุลาและประชาชนทั่วไป ได้เดินหน้าเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นเงื้อมมือของเผด็จการ โดยหลังจากนั้น 30 ปี สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เป็น‘วันประชาธิปไตย’ เพื่อจารึกไว้ว่าเราได้อัญเชิญประชาธิปไตยมาสถิตยังแดนขวานทองเรียบร้อยแล้ว แต่มันมาสถิตแล้วจริงๆ หรือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กันแน่

หากลองมองย้อนอดีตอันใกล้ เมื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่พรรคผู้ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดต้องสลับข้างกลับไปเป็นฝ่ายค้าน แทนที่จะได้เริ่มงานในฐานะรัฐบาลหน้าใหม่ที่ประชาชนไว้วางใจ

เช่นนี้แล้ว ระบอบการปกครองแบบไทยๆ แบบตามใจนี้ จะสามารถเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่

“เราอาจจะมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในระดับ 30-40 เปอร์เซ็นต์ คนทั่วไปจะรู้สึกว่าตัวเองมีเสรีภาพที่จะทำอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเสรีภาพเพื่อความเพลิดเพลิน เมื่อไหร่ที่คนแสดงออกซึ่งการพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง เราก็จะเห็นการใช้กระบวนการทางด้านตำรวจ การศาล กฎหมาย เข้ามาเล่นงาน” ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าว

อาจารย์ธำรงศักดิ์เรียกระบบการปกครองเช่นนี้ว่า ‘ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ใส่เสื้อคลุมประชาธิปไตย’ ที่ซ่อนกลไกการปกครองไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนโดยฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายธุรกิจ และกลุ่มผู้ปกครองเก่าที่พยายามจะยึดกุมอำนาจไว้ในมือ ซึ่งกลไกสถาบันทางการเมืองและระบบราชการนี้เป็นเหมือนลูกระนาดบนถนนที่คอยชะลอไม่ให้ประเทศไทยได้เดินทางไปถึงจุดมุ่งหมายได้ เพราะมันไม่ใช่เครื่องมือที่เอาไว้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างเช่น การเขียนกฎหมายไว้ให้ส.ว.เข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วซ้อนด้วยการเขียนกฎให้พวกพ้องของตัวเองได้เป็นส.ว.อีกที

หลังจาก พ.ศ.2516 มีการทำรัฐประหารมากถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2519 พ.ศ.2520 พ.ศ.2534 พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2557  หรือโดยเฉลี่ยแล้วคือทุกสิบปีจะมีการยึดอำนาจหนึ่งครั้ง ซึ่งสิ่งนี้เองได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของคนบางกลุ่มที่ต้องการจะรวบอำนาจไว้กับตนเอง แต่ถึงแม้ว่าจะมีการทำรัฐประหารมาหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับไม่สามารถต้อนประชาชนให้กลับเข้าไปอยู่ในคอกล้อมแห่งเผด็จการได้อยู่ดี นั่นก็เป็นเพราะว่าหลักคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนได้เปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อ 51 ปีก่อนแล้ว  สถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยของไทยในตอนนี้ จึงเป็นการยื้อยุดฉุดอำนาจกัน ระหว่างประชาชนและกลุ่มเผด็จการใต้ผ้าประชาธิปไตย

.

คูหา ปากกา การเลือกตั้ง อาวุธเดียวของประชาชน

ผู้อ่านเคยได้ยินคำว่า ‘หนามยอก เอาหนามบ่ง’ กันหรือไม่ สำนวนที่หมายความถึง การแก้ไขหรือตอบโต้อะไรบางอย่างด้วยสิ่งเดียวกัน

ก้าวต่อไปของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็คล้ายว่าจะไม่ต่างกัน

เพราะเราจะต้องสู้กับผู้ออกแบบกลไก ด้วยกลไกที่พวกเขาเขียนขึ้นมาเอง 

ทางออกสู่โลกประชาธิไตยที่อาจารย์ว่าไว้นั่นก็คือ ‘การเลือกตั้ง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมที่กลุ่มเผด็จการเขียนไว้หล่อเลี้ยงหัวใจประชาชน ว่าพวกเขายังมีสิทธิ์มีเสียงอยู่บนระบอบคล้ายความเป็นประชาธิปไตยนี้ ทว่าช่องว่างตรงนี้เองก็เป็นทางออกของเหล่าปวงประชา ที่จะสู้กลับด้วยการเลือก ‘ผู้แทนราษฎร’ ที่เขาไว้ใจ เข้าไปตรวจสอบ ขุดคุ้ยเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ใต้พรมและนำมาเปิดโปงจี้ใจกลุ่มเผด็จการในเวทีสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงการพยายามแก้กลไกที่ถูกบัญญัติไว้ด้วยวิธีที่ชอบธรรมและสันติ

แม้ว่าวิธีการนี้จะเป็นหนทางที่ไม่สามารถพลิกโฉมประชาธิปไตยไทยจากหลังมือเป็นหน้ามือได้เพียงข้ามวัน แต่มันจะเป็นเหมือนการเทน้ำใสใส่แก้วน้ำสี ที่ต้องใช้เวลาและปริมาณที่มากพอที่จะทำให้แก้วน้ำสีทั้งแก้วกลายเป็นน้ำใส 

“ยิ่งเลือกตั้ง อำนาจก็จะยิ่งเป็นของประชาชน ยิ่งเลือกตั้ง พละกำลังของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้อย่างสันติวิธีก็จะยิ่งเพิ่มขั้น นี่คือพลังอำนาจของการเลือกตั้ง” อาจารย์กล่าว

นอกจากการเลือกตั้งแล้ว อาจารย์ได้เล่าถึงอีกสิ่งหนึ่งที่จะปิดประตูไม่ให้เผด็จการเรืองอำนาจ นั่นก็คือความตระหนักรู้ของประชาชน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความเป็นประชาธิปไตย แต่ผู้คนในตอนนี้ต่างมีความตื่นรู้ด้าน ‘สิทธิมนุษยชน’ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความเป็นประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังมีความกระตือรือร้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ทางใด ก็ในทางหนึ่ง 

สุดท้ายนี้ผู้เขียนเชื่อว่าความหวงแหนในสิทธิมนุษยชนและใจฝักใฝ่ในความเปลี่ยนแปลงนี้เอง ที่จะเป็นจุดเหนี่ยวรั้งไม่ให้ใครมาพรากประชาธิปไตยไปจากพวกเขาอีกแล้ว

พวกเขาไม่ใช่คลื่นลูกใหม่ แต่เป็นสายน้ำใสที่ไหลมาอย่างไม่หยุดยั้งต่างหาก

อ้างอิง

ศูนย์วิทยบริการศาลยุติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ห้องสมุดศาลยุติธรรม. (14 ตุลาคม 2567). วันประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2567 เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567. https://library.coj.go.th/th/importanttoday/importanttoday-915.html

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Articles

Articles

ลอยกระทงถึงไม่ได้อะไร แต่ฉันก็ยังอยากลอยอยู่ดี

เรื่องและภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง “วันเพ็ญเดือน 12 น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง…” เพลงคุ้นหูที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่จำความได้ จะทีวีหรือวิทยุทำนองก็เล่นซ้ำวนไปไม่อาจหลีกหนี ฉันจำได้เสมอเมื่อวันนี้เวียนมาถึง แม่ของฉันจะมีกิจวัตรที่เธอทำอยู่ทุกปี ...

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

Articles

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save