Ready-to-readWritings

สิ่งที่ นักเรียนสื่อ – คนสอนสื่อ – คนทำสื่อ ควรหาทำ

เรื่อง : รุจน์ โกมลบุตร

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

ก่อนจะเปิดเทอมใหม่ ก็มีวาระที่ผมและเพื่อนๆ ที่ทำงานสอนในโรงเรียนสอนคนทำสื่อจะมานั่งสุมหัวกันเพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และหาแนวทางปรับปรุงการทำงานของพวกเราให้ดีขึ้น รัดกุมขึ้น มีทิศทางที่แม่นยำขึ้น

เช่นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ทางสาขาวารสารศาสตร์ (เดิมคือสาขาหนังสือพิมพ์ฯ) ได้ชวนคนทำสื่อ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นศิษย์เก่าของคณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. จำนวน 4 คนมาเล่าสถานการณ์การทำงานสื่อให้พวกเราฟัง เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญด้านหนึ่งในการพัฒนางานของพวกเรา

ข้อมูลที่ได้จากวิทยากรน่าสนใจมาก ในฐานะอาจารย์โรงเรียนสื่อที่ฝึกคนทำข่าว ทำให้รู้ว่าเราต้องเข้มข้น เพิ่มเติม หรือปรับลดอะไรบ้างทั้งในและนอกห้องเรียน และนักเรียนสื่อทั้งหลายควรจะเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรกันบ้างในการออกสนาม โดยเฉพาะในยุคที่วงการสื่อกำลังถูกตั้งคำถามจากสังคม ทั้งในเรื่องความรับผิดชอบ การมุ่งเสนอข่าวเร้าอารมณ์ การทำ advertorial โดยไม่ติดป้ายเตือนผู้ชม การแข่งขันกับสื่อสารพัดชนิด ฯลฯ ผมก็เลยอยากทำตัวเป็นลำโพงในการนำเนื้อหาที่ได้แลกเปลี่ยนกันในฟอรัมดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟัง

(อนึ่ง วิทยากรทั้ง 4 คน มีทั้งนักเขียนอิสระ นักข่าวสำนักข่าวต่างประเทศในเมืองไทย บก.สื่อออนไลน์ และคนทำงานเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ แต่เนื่องจากวงสนทนาดังกล่าวเป็นวงเปิดเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้า (ซึ่งไม่มีเท และไม่เปิดรับการวอล์คอิน) อีกทั้งผมไม่ได้ขออนุญาตวิทยากรว่าจะนำเนื้อหาไปเผยแพร่นอกวง ดังนั้นในที่นี้ผมจึงต้องขอปกปิดชื่อวิทยากรไว้ – ทว่าความดีความงามที่เกิดขึ้นจากบทความนี้ (หากมี) ก็ขอยกให้แก่ทั้ง 4 คนนะครับ)

ประเด็นสำคัญจากงานเสวนาดังกล่าวมี 5 เรื่องดังนี้ครับ

ประการแรก ความสำคัญของงานสื่อ วิทยากรบอกว่า การแผยแพร่ข่าวสารและความรู้ของสื่อ จะสร้างการเรียนรู้แก่สังคม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ โดยเฉพาะหากสังคมขบคิดและมีคนจำนวนมากเริ่มเห็นด้วยกับสื่อ ก็จะนำไปสู่การกดดันนักการเมืองให้ทำนโยบายที่ดีออกมา เพื่อพัฒนาสังคมของเราให้ดีขึ้น

ประการที่สอง เนื้อหาที่มีคุณภาพ การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากการที่สื่อต้องนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพ เกิดประโยชน์ต่อสังคม

ในยุคที่คนในสังคมแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่ค่อยยอมฟังกัน (หรือที่เรียกว่า “หูดับ” ไม่ยอมรับฟังเนื้อหาที่แตกต่าง) วิทยากรเสนอว่า สื่อควรทำตัวเป็นเวทีสาธารณะที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่น่าไว้วางใจ ไม่ชุ่ย ไม่มั่ว กล่าวคือนำเสนอเนื้อหาที่มุ่งก่อประโยชน์แก่ส่วนรวม นำเสนอด้วยหลักการ สุภาพ ไม่ดูถูกคนอ่าน ไม่ด่าคนเห็นต่าง แม้คนอ่านที่ไม่เห็นด้วยก็ควรได้รับความรู้ที่เป็นสากล (universal) เหล่านั้นจากสื่อ และต้องยอมรับสภาพว่า แม้งานจะสมบูรณ์รอบด้านเพียงใด ก็ย่อมจะมีเสียงวิจารณ์จากผู้ที่เห็นต่าง แต่ควรมองว่าความเห็นต่าง หรือการทะเลาะกัน ไม่ใช่ปัญหา (ตราบเท่าที่ไม่หูดับใส่กันซะก่อน) เพราะยิ่งทะเลาะ ยิ่งแลกเปลี่ยน จะยิ่งทำให้เห็นว่าเนื้อหาเหล่านั้นเป็น “เนื้อแท้” ทนทานต่อการพิสูจน์หรือไม่

สำหรับข่าวเร้าอารมณ์ต่างๆ ที่มีคนชอบเยอะแยะและมีอยู่เต็มตลาด จนนำไปสู่การเบียดบังการนำเสนอเนื้อหาหรือข่าวประเภทอื่นๆ  หากมองในแง่ดีก็คือข่าวเร้าอารมณ์อาจทำให้คนเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น แต่คนในสังคมต้องช่วยกันถกเถียงต่อไปว่าการนำเสนอข่าวแบบนั้นควรนำไปสู่อะไร

ประการที่สาม กระบวนการทำงานที่มีคุณภาพ กองบก.ต้องมีกระบวนการทำงานที่มีมาตรฐาน ตรวจสอบความถูกต้อง แม่นยำ รอบด้าน และอาจสำคัญมากกว่าความเร็วด้วย มีการเปรียบเทียบว่า หากหมอทำพลาด คนไข้ตายเป็นรายๆ (เว้นแต่เตียงไม่พอ… หุ หุ) แต่หากสื่อทำพลาด อาจทำให้ตายหมู่

นอกจากนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผลงานของสำนักข่าวต้องโดดเด่นกว่าตัวนักข่าว (มีวิทยากรคนหนึ่งถามว่า นิวยอร์กไทมส์ที่น่าเชื่อถือระดับโลกนั้น มีใครจำชื่อ บก.ได้ไหม) สำนักข่าวต่างประเทศระดับโลกบางแห่งจะห้ามนักข่าวใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวแสดงความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่นใดที่กระทบกับองค์กร เพราะข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากกอง บก. จึงอาจผิดพลาดได้ และอาจมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกองบก.ไปด้วย แสดงให้เห็นว่ากระบวนการบรรณาธิกรที่มีคุณภาพ ช่วยกันทำ ช่วยกันตรวจสอบ อย่างเป็นระบบ สามารถนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือที่สูงกว่าได้

ในขณะที่สื่อบางแห่งของเมืองไทยจะสนับสนุนให้นักข่าวใช้สื่อโซเชียลฯ คู่ขนานไปกับการรายงานข่าวด้วย จน “นักข่าว” กลายเป็น “ซุปตาร์” ซึ่งอาจหมายถึงชื่อเสียงและรายได้ของสถานีและซุปตาร์ที่เพิ่มขึ้น

ประการที่สี่ คุณภาพคนข่าว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่วิทยากรแลกเปลี่ยนกันมาก เพราะหากโครงสร้างดี ระบบดี แต่คุณภาพคนไม่ดี ก็อาจจะพาสังคมเข้ารกเข้าพงได้เช่นกัน

วิทยากรเสนอว่า คนทำสื่อต้องแสวงหาความเชี่ยวชาญของตัวเองให้เจอ เพราะคนเราไม่สามารถเก่งไปทุกเรื่อง เรื่องไหนเป็นเรื่องที่เราถนัด เราต้องเป็นตัวจริงที่ทำเรื่องนั้นออกมาให้ดีที่สุด (อีกนัยหนึ่งคือ หากไม่ถนัดแต่ต้องทำ ก็ต้องพยายามให้มาก อย่าทำงานออกมาแบบฉาบฉวย)

สำหรับการที่นักข่าวมีทักษะการผลิตสื่อหลายๆ รูปแบบ เช่น เขียนข่าว ถ่ายคลิป ตัดต่อ ออกแบบ  ฯลฯ ถือเป็นมูลค่าเพิ่มที่หากทำได้ก็จะมีโอกาสมากขึ้นในการถูกจ้างงาน อย่างไรก็ตามพื้นฐานเรื่องการเขียนน่าจะสำคัญที่สุด เพราะไม่ว่าจะไปทำสื่อแบบไหนก็ล้วนแต่ต้องคิด-จับประเด็น-และเขียนออกมาให้ได้ก่อนเสมอ

คุณภาพคนข่าวอีกเรื่องหนึ่งคือการสะสมความรู้ไปเรื่อยๆ อ่านให้มาก ฟังคนให้มาก สามารถแยกเปลือก แยกแก่น ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าเราไม่รู้อะไร และต้องพร้อมโดดลงทะเลกว้างไปหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งที่จริงแล้วความรู้เปลี่ยนแปลงตลอด ดังนั้นทุกคนล้วนเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ด้วยกันทั้งนั้น อย่าเพิ่งท้อใจที่คิดว่าตัวเองรู้น้อย

นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องทัศนคติ เช่น ทัศนคติที่เป็นประชาธิปไตย รับฟังคนอื่น ทำงานเป็นทีม มีความยืดหยุ่นสูง มีวิทยากรพูดว่า เอกลักษณ์ของบัณฑิตวารสารฯ ที่ควรรักษาไว้ คือ การไม่ดูดายต่อความเดือดร้อนของประชาชน กระหายใคร่รู้ กลั่นกรองข้อมูล และมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาต่อสังคม

ประการสุดท้าย จริยธรรมในวิชาชีพ ในวงเสวนามีการพูดถึงนักข่าว/นักเขียน “โดนเงินฟาด” ทั้งทางตรง ทางอ้อม เช่น วิทยากรเสนอว่า การนำเสนอข่าวแบบ advertorial รวมทั้งรับจ้างรีวิวสินค้า แม้จะหมายถึงรายได้ของสำนักข่าวและโบนัสที่มากขึ้น ทว่าเนื้อหาแบบนี้จะลดความน่าเชื่อถือขององค์กรสื่อ (และตัวนักเขียน) ลงไปเรื่อยๆ เพราะงานข่าว ไม่ใช่พีอาร์ ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ ข่าวต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ เป็นสื่อตัวจริง จึงจะสร้างความยั่งยืนให้แก่ตัวเองและวงการได้

ดังนั้นจริยธรรมวิชาชีพจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสื่อและคนทำสื่อมีอิสระ และทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ จริยธรรมจึงเปรียบเสมือนพรหมจรรย์ที่สื่อต้องรักษาไว้ให้ได้ ไม่เสียไปให้แก่อำนาจทุน หรืออำนาจรัฐบาล

(วิทยากรคนหนึ่งยกตัวอย่างจริงว่า คนทำสื่อบางคนก็ทำตัวเป็นเอเยนต์ของรัฐอย่างภาคภูมิใจในการช่วยคัดเลือก VIP ให้ไปรับวัคซีน – เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หนึ่ง คนทำสื่อคนนั้นไม่รู้หน้าที่ สอง VIP ไม่รู้จักเข้าคิว สาม รัฐบาลช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย)

ส่วนกรณีที่เรียกว่า “ความเป็นกลาง” นั้น วิทยากรเสนอว่า สังคมควรยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า นักข่าวก็เป็นมนุษย์ มี รัก-โลภ-โกรธ-หลง เป็นธรรมดา แค่การเลือกสัมภาษณ์แหล่งข่าวคนนี้ ไม่อยากสัมภาษณ์แหล่งข่าวคนนั้น บางทีก็มาจากความรู้สึกนึกคิดแบบดังกล่าวนี่เอง

อย่างไรก็ตาม สังคมยังต้องคาดหวังให้เมื่อถึงหน้างานแล้ว นักข่าวควรทำงานแบบมืออาชีพ นำเสนอเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ และตรวจสอบอำนาจรัฐที่มาจากพรรคการเมืองทุกพรรค หรือกองทัพ ไม่มีละเว้น

ทั้งหมดนี้เป็นสาระสำคัญสำหรับนักเรียนสื่อที่อยากเป็นนักข่าว/นักเขียนในอนาคตต้องหาทำ-หารู้ไว้ล่วงหน้า ส่วนคนสอนในโรงเรียนสื่อก็ต้องหาทางปรับห้องเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

และท้ายที่สุดก็อยากจะชวนนักข่าวที่เป็นผู้ใหญ่ พร้อมบวกไปด้วยกันด้วย ไหวมะ?

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
23
Love รักเลย
5
Haha ตลก
1
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
0
Ready-to-read

ศาสนา ป้ายหาเสียง การเลือกตั้ง

เขียนโดย จิรัชญา นุชมี ภาพโดย จิรัชญา นุชมี ใกล้เข้ามามากแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้เห็นป้ายหาเสียงติดตามเสาไฟ กำแพง ตามท้องถนน โดยแต่ละพรรคการเมืองก็เลือกใช้สีที่โดดเด่นและเขียนชูนโยบายของพรรคอย่างชัดเจน ...

Writings

สิ่งที่ “เห็น” ในข่าว อาจไม่ใช่สิ่งที่ “เป็น”

เรื่อง รุจน์ โกมลบุตร ภาพ เก็จมณี ทุมมา เมื่อผู้บริโภคเปิดรับข่าว ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะคาดหวังจะได้รับข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบแล้ว มีการนำเสนอเนื้อหาอย่างรอบด้าน ชัดเจน และสามารถนำพาสังคมไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่าได้ ทว่าในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อาจสังเกตเห็นได้ว่าเรากำลังได้รับข่าวที่เจือปนไปด้วยข้อมูลเท็จ ปราศจากการตรวจสอบ เป็นข้อมูลด้านเดียว ...

Writings

มนต์รักทรานซิสเตอร์: การเกณฑ์ทหารที่ทำให้ชีวิตต้อง “ผิดแผน”

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย ภาพ เก็จมณี ทุมมา ภาพยนตร์คือเครื่องบันทึกร่องรอยของสภาพสังคมที่เรื่องราวนั้นถูกสร้างขึ้น ภาพยนตร์หลายเรื่องจึงทำให้คนหวนคิดถึงวันวาน หลายเรื่องสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน และหลายเรื่องก็ชวนฝันถึงอนาคต แต่จะมีภาพยนตร์สักกี่มากน้อยที่สามารถตีแผ่สังคมได้ตั้งแต่วันที่เข้าฉาย แล้วยังลอยละล่องเหนือกาลเวลา ทำหน้าที่สะท้อนสังคมซึ่งให้หลังไปอีกกว่า 20 ปี ...

Writings

วันสงกรานต์ที่ไม่ได้กลับบ้าน

เรื่อง ปาณัสม์ จันทร์กลาง ภาพ เก็จมณี ทุมมา ในคืนของวันที่ 10 เมษายน ผมกลับห้องมาด้วยความเหนื่อยล้าสะสม ตลอดทั้ง 3 วันที่ต้องเป็นสตาฟฟ์จัดงานกีฬาของมหาวิทยาลัย แม้งานจะจบไปได้ด้วยดีทำเอาชื่นใจ แต่ก็ไม่สามารถชดเชยความอยากนอนของผมได้ ...

Writings

‘เวลา’ เรื่องราวของความรัก ใต้เวรกรรมทางการเมือง

เรื่อง สมิตา พงษ์ไพบูลย์ ภาพ เก็จมณี ทุมมา ภาพยนตร์เป็นสื่อที่บันดาลใจใครหลายคน หากเปรียบสื่อนี้เป็นอาหาร การได้เดินผ่านโรงภาพยนตร์ ก็นับเป็นหนึ่งรสชาติที่ทำให้ก้อนเนื้อในอกเริ่มเคลื่อนไหวด้วยจังหวะที่รวดเร็วขึ้น แต่ความรู้สึกสงบหลังภาพสีฉูดฉาดของหนังจบลง แล้วทาบทับด้วยผืนภาพสีดำเข้มใต้ตัวอักษรที่บอกเล่าชื่อของผู้มีส่วนร่วมในการสร้าง นี่สิที่ยิ่งกว่า…นี่เป็นช่วงเวลาได้ตกผลึก และไตร่ตรองถึงเนื้อเรื่องที่ถูกขมวดเล่าผ่านกรรมวิธีที่งดงาม ได้นั่งคิดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ...

Writings

สังคมที่บีบให้ดอกหญ้าต้องโตในป่าปูน

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย ภาพ เก็จมณี ทุมมา เพลงคือผลผลิตจากคนที่เติบโตขึ้นในสังคม เพลงจึงถ่ายทอดความสุข ความทุกข์ และชีวิตของคน กระทั่งสะท้อนถึงสภาพสังคมที่คนต้องเจอ โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งซึ่งมีความโดดเด่นในการเล่าถึงชีวิตของคนต่างจังหวัดที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับเพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน” เพลงดอกหญ้าในป่าปูนเป็นเรื่องราวของผู้หญิงต่างจังหวัดที่ต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save