Writings

สงกรานต์ที่บ้าน (ไม่) เกิด : ชวนฟังความหมายวันสงกรานต์ผ่านสายตาคนไทยในต่างแดน

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี และ พนิดา ช่างทอง

ภาพประกอบ: พนิดา ช่างทอง

‘สงกรานต์’ เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของคนไทย เป็นช่วงเวลาที่หลายครอบครัวได้กลับมารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นห้วงเวลาที่สร้างความสุข เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มให้กับใครหลายๆ คน ในขณะเดียวกัน กลับมีคนไทยบางคนที่ไม่มีโอกาสเฉลิมฉลองหรือถูกห้อมล้อมด้วยบรรยากาศแห่งความสุขเช่นเดียวกับเรา ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีเวลาหรือไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้ แต่เพราะพวกเขาอยู่ไกลเกินไป

         วันนี้ Varasarn Press อยากชวนให้ทุกคนมาฟังความรู้สึก ความคิดถึง และภาพความทรงจำของผู้หญิงไทย 3 คนซึ่งอาศัยอยู่กันคนละมุมโลก เพื่อทำความเข้าใจถึงความสำคัญของวันสงกรานต์ในสายตาของคนที่ไม่มีโอกาสได้กลับมาเยี่ยมบ้าน และชวนให้ผู้อ่าน (ที่ไทย) หวนนึกถึงคนไกลของทุกคนบ้าง

.

 ‘แป๋ว’ อายุ 58 ปี ใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงช่วงอายุสิบปลายๆ ที่จังหวัดอุดรธานี ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เพื่อไปทำงานในหลายประเทศ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายที่ต้องการหาเงินมาส่งเสียน้องๆ อีกหลายชีวิตของเธอให้ได้เรียนหนังสือ ณ ปัจจุบันก็เข้าปีที่ 8 แล้วที่เธอย้ายไปอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก เพื่อทำงานให้กับรัฐบาลและใช้ชีวิตร่วมกับสามีที่นั่น

ช่วงวันสงกรานต์ที่อยู่ต่างประเทศ คุณทำอะไรบ้าง

แป๋ว: ถ้าสงกรานต์ปีไหนไม่ตรงกับวันทำงาน ก็จะอยู่บ้าน รดน้ำต้นไม้ และทำอาหารกินกับสามีสองคน เพราะในละแวกที่ป้าอาศัยอยู่ ไม่มีคนไทย ไม่มีวัดไทย เลยไม่ได้มีใครจัดงานอะไร แต่ถ้าตรงกับวันทำงาน ก็จะรอช่วงค่ำๆ หลังเลิกงานป้าก็จะวิดีโอคอลไปหาหลานๆ ที่ไทย เพื่อดูว่าเขาทำอะไรกันอยู่ ที่บ้านเป็นอย่างไรบ้าง

ปกติแล้วถ้าอยู่ประเทศไทยทำอะไร

แป๋ว: สงกรานต์มี 3 วัน ป้าก็แบ่งว่าแต่ละวันจะทำอะไรบ้าง วันแรกช่วงเช้าก็ไปไหว้พระ ทำบุญ กับคนในหมู่บ้าน ไม่ได้มีอะไรมาก ช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ก็จะเข้าเมืองเพื่อไปซื้อของมาทำบาร์บีคิวกินกัน ช่วงค่ำๆ ก็ร้องคาราโอเกะกันกับญาติๆ 

วันที่สอง ก็จะรวมญาติกัน ทุกคนมาที่บ้านใหญ่ เพื่อรดน้ำดำหัว ‘แม่ย่า’ (คุณแม่ของคุณแป๋ว ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ในครอบครัวมีพี่น้อง 11 คน วันรวมญาติทีหนึ่งคนจะเยอะมาก ก็นั่งกินข้าวกัน พี่น้องแต่ละคนพาลูกหลานมา ป้าเองไม่มีลูก ก็เล่นกับหลานๆ เอา ล่าสุดที่กลับไปเมื่อสี่ปีก่อนก็เอาสระมาใส่น้ำและก็นั่งแช่ นั่งเล่นกับหลานๆ อยู่หน้าบ้าน

วันที่สามจะพิเศษหน่อย เพราะเป็นวันเดินสายไปสวัสดี ‘พ่อเฒ่าแม่เฒ่า’ ที่เคารพ ในอุดรฯ ญาติบ้านเราค่อนข้างเยอะ ก็จะเดินทางไปสวัสดี เอากระเช้าผลไม้ไปให้ ถามไถ่สุขภาพและความเป็นอยู่ เป็นบรรยากาศที่ดีนะ ได้เจอ ได้พุดคุยกับญาติหลายๆ คนที่ปกติจะเห็นกันแค่ในเฟซบุ๊ก

ที่เดนมาร์กมีกิจกรรมอะไรที่ทำคล้ายๆ วันสงกรานต์ไหม

แป๋ว: ถ้าแถวที่ป้าอยู่ไม่มีนะ มากสุดก็จะมีแค่ช่วงหน้าร้อนที่เขามีปาร์ตี้ มีเทศกาลดนตรี ซึ่งในงานก็มีแต่วัยรุ่นเสียส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้มีการเล่นน้ำเหมือนบ้านเราหรอก

ความหมายหรือความสำคัญของวันสงกรานต์ลดลงหรือไม่เมื่ออยู่ต่างประเทศ

แป๋ว: พอมาอยู่เดนมาร์ก สงกรานต์สำหรับป้าก็เปลี่ยนไปเยอะนะ มันไม่เหมือนเวลาอยู่ไทยที่เราตั้งตารอให้ถึงวันสงกรานต์เร็วๆ เพราะจะได้เจอพี่ๆ น้องๆ หลานๆ พออยู่ที่นี่มันก็เหมือนวันธรรมดาหนึ่งวัน วิถีชีวิตก็เหมือนเดิม ตื่นนอน ทำอาหารให้สามีกิน และไปทำงาน จะมีก็แค่วิดีโอคอลหาทางนู้น ซึ่งมันไม่ได้พิเศษอะไรมาก เพราะปกติป้าก็คอลหาอยู่เรื่อยๆ         สามีก็รู้นะว่าปกติช่วง 13 – 15 เมษายน จะเป็นช่วงที่มีเทศกาลที่ไทย สามีก็จะพาเราไปกินข้าวในเมือง พาเราไปช็อปปิ้ง ให้เหมือนว่าช่วงสามวันนั้นเป็นวันพิเศษ แม้ตัวเราจะไม่ได้ฉลองแบบที่เคยทำ

คิดถึงอะไรที่ประเทศไทยบ้าง

แป๋ว: ทุกอย่างเลย ครอบครัว พี่น้อง ลูกหลาน มันเป็นอะไรที่เดนมาร์กทดแทนให้ไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าคิดถึงจริงๆ แบบคิดถึงมากๆ น่าจะอาหารอีสาน (หัวเราะ) แบบอาหารรสจัดๆ รสที่กินที่บ้าน เพราะแถวบ้านป้าไม่ค่อยมีร้านอาหารไทย ที่มีเปิดอยู่ก็ทำไม่เหมือนที่บ้านเรา

ถ้าเลือกได้อยากอยู่ไทยหรือต่างประเทศมากกว่าในช่วงวันสงกรานต์

แป๋ว: เอาจริงๆ ก็อยากอยู่ที่ไทยมากกว่าอยู่แล้ว ป้าก็คุยกับสามีตลอดว่าอยากย้ายกลับไปอยู่ไทย แต่ด้วยความที่เขายังมีพ่อแม่ต้องดูแล ทำให้เขาย้ายไปอยู่กลับเราไม่ได้ แต่พ่อแม่ของป้าก็ไม่อยู่กันหมดแล้ว และป้าก็ไม่ได้มีพันธะอะไรที่ไทย นอกจากว่าจะแค่อยากกลับไปอยู่บ้านเกิด อยากกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัวและหลานๆ แต่ยังไงก็อยากย้ายกลับไปอยู่ดี

.

 ‘นันท์’ อายุ 63 ปี เดิมอาศัยอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อ 34 ปีที่แล้วได้มีโอกาสมาช่วยเลี้ยงหลานอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนมาเจอกับสามี จึงได้แต่งงานกันและใช้ชีวิตกับครอบครัวที่นี่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ช่วงวันสงกรานต์ที่อยู่ต่างประเทศ คุณทำอะไรบ้าง

นันท์: ไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย เลี้ยงลูก ทำกับข้าว เป็นแม่บ้าน

มีการเล่นสงกรานต์ที่สวิตเซอร์แลนด์ไหม

นันท์: มีค่ะ มีวัดไทยที่สวิตเซอร์แลนด์ ชื่อวัดศรีนครินทรวราราม (Wat Srinagarindravararam) ที่รัฐโซโลธูร์น (Solothurn) เป็นวัดที่สวยที่สุดในยุโรป ทุกอย่างเหมือนที่เมืองไทย จัดกิจกรรม(สำหรับช่วงสงกรานต์)เหมือนที่ไทย เขาก็จะมีการสรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร มีสาดน้ำสงกรานต์กัน รำกลองยาว ก่อเจดีย์ทราย ปักธงตกแต่งบนเจดีย์ทราย ตกแต่งธงตามวัด ตอนเช้ามีการใส่บาตรทำบุญ มีพระระดับดอกเตอร์บวชอยู่ที่วัด

รู้สึกว่าจะมีวัดอยู่ 4 วัดในสวิตฯ จัดเหมือนกันหมด ก็สนุกสนาน ถ้ามีประเพณีอะไรเขาก็จะสนุกกันที่วัดมากกว่า ที่บ้านไม่เท่าไหร่หรอก นอกจากว่าจะเป็นครอบครัวของคนไทยโดยตรงที่ไม่ได้แต่งงานกับฝรั่งเขาถึงจะมีการสังสรรค์กับที่บ้าน ถ้าเป็นครอบครัวของคนไทยกับฝรั่งก็จะไม่เท่าไร แค่ไปวัดแล้วก็ไม่มีอะไร

คนที่ไปร่วมงานมีทั้งคนไทยและฝรั่งราว ๆ  500-2,000 คน จากประเทศใกล้เคียงอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีก็มี เขาจะมาพร้อมกัน เพราะติดเขตเยอรมนีกับอิตาลี บางทีเขาจะเหมารถบัสมาเล่นสงกรานต์ที่นี่กัน 

เราก็เคยไปกับเขาด้วยนะ สนุกสนานเลยทีเดียว เขามีประกวดนางสงกรานต์ด้วย คนประกวดก็มีทั้งคนไทยและลูกครึ่ง มีการแต่งชุดไทยแล้วก็รำวงกัน ที่วัดจัดทุกอย่างเหมือนที่ไทยในทุกวันสำคัญที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ วัดที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นแบบไทยทุกอย่างเลย

นอกจากคนไทยและฝรั่งแล้ว มีชาวเอเชียประเทศเพื่อนบ้านเราที่อยู่สวิตเซอร์แลนด์ ไปร่วมสงกรานต์กันเยอะไหม เพราะถือว่ามีประเพณีที่คล้ายกัน?

นันท์: มีนะคะ มีทั้งชาวลาว ชาวเวียดนาม ชาวกัมพูชา ก็จะมาเล่นด้วย คนลาวเยอะมากที่มาร่วมทำบุญ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย เวลาไปก็เหมารถบัสกันไป แต่งตัวสวย ๆ ด้วยชุดไทยที่สั่งมาจากประเทศไทย เอาดอกไม้ทัดหู มีพวงมาลัยดอกไม้เหมือนช่วงสงกรานต์ที่ไทย แต่งเหมือนคนไทยเลยแต่แต่งให้โดดเด่นกว่าหน่อย เพราะฝรั่งเห็นแล้วจะได้รู้จักบ้านเรา

แล้วสำหรับคนที่นั่น เขาจดจำวัฒนธรรมไทยอะไรได้บ้าง?

นันท์: อาหารไทย รำไทย ผัดไทย ดนตรีไทย นวดแผนโบราณ รำกลองยาว ฝรั่งจะชอบเป็นส่วนใหญ่ และรู้จักว่านี่คือวัฒนธรรมบ้านเรา ของแบบนี้จะมีทุกงานที่จัดเกี่ยวกับประเพณีไทย คนที่เขาเอามาจัดเป็นกรรมการวัดไทย ส่วนใหญ่เวลามีประเพณีอะไรก็จะมีสิ่งเหล่านี้อยู่ที่วัดด้วย

ที่สวิตเซอร์แลนด์มีกิจกรรมอะไรที่ทำคล้ายๆ สงกรานต์ไหม

นันท์: ไม่มีนะอย่างคริสต์มาสก็แค่พี่น้องมารวมตัวกัน กินข้าวเสร็จก็แยกย้าย แต่สงกรานต์เรารู้สึกถึงความผูกพันกันมากกว่า โอเคอยู่คริสต์มาสลูกหลานก็จะมารวมตัวกินข้าวกัน มาคุยกันเรื่องจิปาถะ 2-3 ชั่วโมงก็กลับบ้าน อย่างของสงกรานต์จะมีรดน้ำดำหัว จะรู้สึกใกล้ชิดกว่า มีความเป็นครอบครัวมากกว่า อันนี้ก็ต่างคนต่างมา แต่สงกรานต์ทำกับข้าวล้างจานด้วยกัน รวมตัวกันทำทั้งวัน แต่ที่นี่ บ้านใครเป็นคนจัดบ้านนั้นก็เป็นคนทำ รู้สึกว่ามันไม่อบอุ่นเหมือนบ้านเรา นอกจากว่าจะสั่งของมากินถึงเวลาเลิกก็ล้างจานเฉยๆ  อาจจะมีบางบ้านที่ดื่มไวน์ ดื่มวิสกี้กันต่อ สักประมาณ 5 ทุ่มก็แยกย้าย บางครอบครัวใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงก็แยกย้ายกันแล้ว แต่สงกรานต์คือกิจกรรมที่ทำกับครอบครัวทั้งวัน

คนที่บ้าน (ที่สวิตฯ) ชอบสงกรานต์กันมั้ย?

นันท์: ชอบนะ แต่สนุกแค่สามีกับเรานะ ลูกชาย (23 ปี) ไม่เอา เขาบอกว่าน่าเบื่อ เบื่อคนร้องวีดว้ายเล่นกันเสียงดังปวดหู เขาไม่ชอบเล่นน้ำกับคนเปิดเพลงเสียงดัง

ปกติแล้วถ้าอยู่ประเทศไทยทำอะไร

นันท์: เคยกลับไทยช่วงสงกรานต์อยู่ครั้งหนึ่งเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้เล่นเลย เที่ยวไม่ได้ ร้อนมาก อยู่แต่ในห้องแอร์ที่บ้าน

ความหมายหรือความสำคัญของวันสงกรานต์ลดลงหรือไม่เมื่ออยู่ต่างประเทศ

นันท์: สงกรานต์ทำให้คิดถึงที่ไทยมากขึ้น สงกรานต์คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ คิดถึงญาติพี่น้องทุกคน รวมถึงที่เสียชีวิตไปแล้ว เพราะถ้าเราอยู่เมืองไทยเราก็ได้ทำบุญอย่างเต็มที่ เพราะอยู่ที่นี่ใส่บาตรเสร็จก็ทำเร็วๆ ก็รีบไป เพราะมันคือการทำกิจกรรมสงกรานต์ในที่สาธารณะ แต่ต่างจากที่ไทยที่เราทำกิจกรรมกันที่บ้าน

คิดถึงอะไรที่ประเทศไทยบ้าง

นันท์: คิดถึงทุกอย่าง แต่กลับไม่ได้ เพราะเรามีครอบครัวอยู่ที่นี่

ถ้าเลือกได้อยากอยู่ไทยหรือต่างประเทศมากกว่าในช่วงสงกรานต์

นันท์: ถ้าเลือกได้อยากกลับช่วงสงกรานต์ เพราะอยากให้แฟนได้เล่นน้ำ แต่มันร้อนมาก

.

‘เจน’ อายุ 22 ปี นักศึกษาปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น หลังจบการศึกษาภาคมัธยมจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ ก็สอบชิงทุนจนได้โยกย้ายไปเรียนที่ญี่ปุ่น ปัจจุบันอาศัยที่นั่นประมาณ 3 ปีครึ่งแล้ว

ช่วงวันสงกรานต์ที่อยู่ต่างประเทศ คุณทำอะไรบ้าง

เจน: เรียนค่ะ (หัวเราะ) เมษาฯ เป็นเดือนที่มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เปิดเทอมกันพอดี จริง ๆ ที่ญี่ปุ่นพอมีวัดไทยบ้าง ช่วงวันสงกรานต์ก็จะมีจัดกิจกรรมสงกรานต์เหมือนกันแต่ไม่เคยได้ไป มันแอบไกล ปกติถ้ามีเวลาก็จะโทรหาครอบครัวที่ไทยแทน

ปกติแล้ว ถ้าอยู่ประเทศไทยทำอะไร

เจน: ปกติถ้าอยู่ไทยช่วงสงกรานต์ก็จะพักผ่อนอยู่บ้านส่วนใหญ่ กับใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ครอบครัวฝั่งแม่ค่อนข้างใหญ่ สงกรานต์จะเป็นช่วงที่ทุกคนกลับบ้านมาพร้อมกัน เลยจะมีนัดกินข้าวด้วยกัน ไม่ค่อยได้เล่นสงกรานต์เพราะแดดประเทศไทยร้อนไม่ไหว (หัวเราะ)

ที่ญี่ปุ่นมีกิจกรรมอะไรที่ทำคล้ายๆ สงกรานต์ไหม

เจน: เทียบกับที่ญี่ปุ่น คงจะเป็นวันปีใหม่ที่ทุกคนใช้เวลากับครอบครัวมากที่สุด ช่วงวันหยุดอื่น ๆ ของญี่ปุ่น คนจะเที่ยวกันเสียส่วนใหญ่ แต่พอถึงปีใหม่ทุกคนอยู่บ้านกันจริงจังเลย ร้านอะไรก็ปิดหมด แทบจะไม่มีร้านอะไรเปิดเลยเพราะคนอยู่บ้านหมด

ความหมายหรือความสำคัญของวันสงกรานต์ลดลงหรือไม่เมื่ออยู่ต่างประเทศ

เจน: ตอนอยู่ที่ไทย สงกรานต์จะเป็นช่วงที่ตั้งตารอให้ถึง เพราะเป็นวันหยุดยาว ได้พัก กลับไปหาพ่อแม่ แต่ว่าพออยู่ญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ตั้งตารอเท่าไร เพราะสงกรานต์ก็เป็นเหมือนวันธรรมดา แต่ถ้าถามว่าสำคัญลดลงไหม ก็คงไม่ เพราะสำหรับเรา สงกรานต์ยังเป็นวันที่ถือว่าเป็นวันครอบครัวอันดับ 1 เทียบกับเทศกาลอื่น ๆ พอสงกรานต์มันตรงช่วงเปิดเทอมพอดี ช่วงนั้นเลยจะยุ่งเป็นพิเศษเพราะปรับตัวกับวิชาเรียนและเพื่อนใหม่ๆ เลยอาจจะไม่ได้ทำให้คิดถึงไทยมากขึ้นหรืออะไร

คิดถึงอะไรที่ประเทศไทยบ้าง

เจน: คิดถึงอาหารไทย! อาหารไทยที่ญี่ปุ่นก็มีขายแต่รสชาติสู้ที่ไทยไม่ได้ คิดถึงครอบครัวด้วย มีกังวลบ้างว่าพ่อแม่จะเป็นอย่างไรเพราะเริ่มอายุเยอะแล้ว เป็นห่วงนิดหน่อย ถ้าเขาป่วยหรือเป็นอะไรเราก็ดูแลด้วยตัวเองไม่ค่อยได้เพราะอยู่ไกล แต่ยังพอเบาใจเพราะมีน้องสาวอยู่ที่ไทยคนนึง

ถ้าเลือกได้อยากอยู่ไทยหรือต่างประเทศมากกว่าในช่วงสงกรานต์

เจน: อยู่ไทย พอไม่ได้เล่นสงกรานต์นานๆ ก็อยากเล่นสักที อยู่ญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ร่วมเทศกาลอะไรมาก ยกเลิกไปหลายปีเพราะโควิด

.

ผู้หญิงทั้งสามคนเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ความทรงจำในช่วงวันสงกรานต์ตอนอยู่ที่ไทยเต็มไปด้วยความสุข และพวกเธอก็ตั้งตารอให้สามวันนั้นวนกลับมาเร็วๆ ในทุกๆ ปี จึงไม่แปลกนัก เมื่อให้พวกเธอถ่ายทอดความรู้สึกในวันที่ไม่มีโอกาสได้ใช้เวลาเหล่านั้นกับครอบครัวที่ประเทศไทย คำตอบที่ได้รับจึงเต็มไปด้วยคำว่า ‘คิดถึง’ 

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เราเห็นจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้คือ คนไทยส่วนใหญ่ที่ย้ายตัวเองไปอยู่ที่ใดๆ ก็ตามบนโลกใบนี้ก็ล้วนทำไปเพราะหน้าที่ เหตุผล หรือความจำเป็นส่วนตัวกันทั้งนั้น ซึ่งเมื่ออยู่ประเทศไทยพวกเขาจะไม่สามารถทำตามสิ่งเหล่านั้นได้ เช่นเดียวกันที่ประเทศที่พวกเขาไปอาศัยอยู่ ก็ไม่สามารถเติมเต็มหรือทดแทนวันสงกรานต์ที่พวกเขาคุ้นเคยและเติบโตมาพร้อมกับมันได้เสียทั้งหมด และถึงแม้ว่าจะมีงานสงกรานต์จำลองที่จัดเหมือนที่ไทยทุกกระเบียดนิ้ว แต่สิ่งหนึ่งที่งานเหล่านั้นจำลองขึ้นมาไม่ได้เลยคือ ‘ครอบครัว’ 

และคงไม่ได้มีเพียงสามคนนี้เท่านั้นที่ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านในปีนี้ เพราะผู้เขียนเชื่อว่ายังมีคนไทยในต่างแดนอีกมากที่เฝ้ารอวันที่จะได้หวนกลับมาเจอครอบครัวในช่วงวันสงกรานต์นี้อีกครั้ง และผู้เขียนก็หวังว่าวินาทีใดที่คิดถึงภาพความสุขและการรวมตัวกันของครอบครัวในวันวาน ทุกท่านจะสามารถค้นลงไปในใจเพื่อหาความทรงจำที่มีแต่ความสุข และใช้มันเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า ‘ไม่ว่าคุณจะอยู่แห่งหนใดบนโลกใบนี้ แต่ที่ประเทศไทยยังมีครอบครัวที่รอการกลับมาของพวกคุณเสมอ’

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
4
Love รักเลย
2
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Writings

Writings

‘Dark souls III’ จุดสูงสุดของไตรภาคอันยิ่งใหญ่ ผู้จะสถิตอยู่ในดวงใจของผู้เล่นตลอดไป

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง TW : ในบทความชิ้นนี้มีภาพตัวละครศัตรูที่ทำให้รู้สึกขยะแขยงได้ หากผู้อ่านท่านใดรู้สึกไม่สบายใจ สามารถข้ามหัวข้อ “เหล่าศัตรูที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อ (ไม่ก็ อี๋)” เพื่ออ่านหัวข้อถัดไปได้เลย ตัวละครของผมตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่คล้ายคุก ไม่มีอะไรติดตัวนอกจากดาบหักๆ หนึ่งเล่ม ...

Writings

‘RICE สาระ’ เรื่องข้าวๆ ของคนวิจัยข้าว

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นี่สินะที่เรียกว่า ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’ ความเงียบก่อตัวขึ้นในกองบรรณาธิการเล็กๆ ของเรา หลังสิ้นคำถามของฉันว่า “มีใครรู้จักศูนย์วิจัยข้าวไหม” แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ‘รู้จัก’ อยู่เล็กน้อย แต่ความเงียบก็ได้ตอบคำถามแล้วว่า ‘ไม่มีใครรู้จักเลย’ ...

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

When the party’s over, what do we need to recover? งานธรรมศาสตร์แฟร์ ทิ้งปัญหาอะไรไว้ให้เราบ้าง

เรื่องและภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง “ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ” คำพูดที่มีความหมายว่า แม้จะเจออะไรที่แย่ขนาดไหน แต่หลังจากที่มันผ่านไป ก็จะมีสิ่งดีตามมาเสมอแต่สำหรับงานธรรมศาสตร์แฟร์ (Thammasat Fair) เหมือนว่าจะไม่ใช่แบบนั้น งานธรรมศาสตร์แฟร์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ...

Writings

ผู้ดูแลคนพิการคือสมาชิกในครอบครัวของฉัน

เรื่องและภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ฉันกำลังทำความสะอาดข้าวของเก่าๆ ในห้องเก็บของอยู่ สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นกล่องพลาสติกใสมีฝาปิด ด้านในอัดแน่นไปด้วยอัลบั้มรูปภาพตั้งเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ  ฉันตัดสินใจนั่งลงบนพื้นแล้วเปิดฝากล่องออก ค่อยๆ หยิบอัลบั้มแต่ละเล่มออกมาเปิดดูด้วยความสงสัย รูปทั้งหมดหลายร้อยใบล้วนเป็นรูปครอบครัวของฉัน มันได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีในซองพลาสติกใสของอัลบั้ม ทว่าน่าเสียดายที่ไม่มีใครเขียนวันเดือนปีระบุเอาไว้ ...

Writings

ครบรอบ 45 ปี กับการปรากฏตัวของ Dorami ตัวประกอบหลักผู้คงอยู่เพื่อคนอื่น?

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “โดราเอมอนถูกหนูกัดใบหูจนต้องนำหูออก เขาเศร้าใจมากและร้องไห้จนสีตัวของตัวเองเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้า” ส่วนหนึ่งจากที่มาที่ไปของ ‘โดราเอมอน’ เจ้าหุ่นยนต์อ้วนกลมตัวสีฟ้า ผู้ที่ย้อนเวลามาช่วยเหลือ ‘โนบิ โนบิตะ’ เด็กผู้ชายที่ใช้ชีวิตอยู่บนความขี้เกียจและไม่สนใจการเรียน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและมีชีวิตที่สดใสในอนาคต แต่คนที่ทำให้โดราเอมอนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save