ทำไมต้อง “แขวน”
คำถามแรกที่เราเกิดความสงสัยเมื่อเห็นชื่องานนิทรรศการรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ปีนี้
เราเก็บความสงสัยนี้ไว้จนเมื่อเดินทางมาถึงตัวงาน แล้วก็ได้พบกับตอบที่ว่า ทำไมต้องเป็นงาน “แขวน”
จากจุดเริ่มต้นที่ประตูรั้วสีแดง ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชาย 2 คนถูกสังหารและเอาไปแขวนคอที่นั่น
หากยังจำได้ เหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เริ่มต้นจากการแสดงละครล้อเลียนกรณีฆ่าแขวนคออดีตพนักงานการไฟฟ้านครปฐม และถูกทางสำนักพิมพ์ดาวสยามรวมถึงวิทยุยานเกราะบิดเบือนข้อมูลและตัดแต่งภาพถ่ายให้นักแสดงชายที่ถูกแขวนคอ มีใบหน้าละม้ายคล้ายกับเจ้าฟ้าชาย (ในขณะนั้น) โดยอ้างว่านักศึกษาเหยียบย่ำหัวใจคนทั้งชาติ ก่อนเป็นเหตุให้เกิดการนองเลือดที่ธรรมศาสตร์ขึ้น
ก่อนจะเข้าสู่หอประชุม ตรงบริเวณทางขึ้นของงาน เราจะพบหมุดขนาดใหญ่พร้อมกับคำบรรยายที่ว่า
“ณ ที่แห่งนี้ กมล แก้วไทรไทย ถูกยิงเสียชีวิต กระสุนปืนทะลุช่องปอด ร่างของกมลถูกนำไปแขวนที่ต้นไม้บริเวณสนามหลวง ศพของกมลถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า” พร้อมกับภาพถ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากเหตุการณ์ในวันนั้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นว่าในงานเราจะพบกับอะไรบ้าง
ในตัวงานได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AR (Augmented reality) มาช่วยผสานโลกความจริงกับโลกเสมือนเข้าด้วยกัน เพื่อจำลองให้เห็นว่าสถานที่ที่เราเห็นเป็นปกติในทุกวันนี้ ที่ตรงนั้นเคยเกิดอะไรขึ้น
ประตูสีแดงเก่าแก่ที่วางอยู่ทางเข้าของนิทรรศการ และต้นมะขามที่สนามหลวงซึ่งปัจจุบันคอยให้ความร่มรื่นกับผู้คน เคยกลายเป็นอะไรในวันนั้น
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเล่าจากผู้คนหรือภาพถ่าย เทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งต่อความทรงจำในเหตุการณ์ 6 ตุลานั้นให้กับคนรุ่นหลังได้เข้าใจเรื่องราวในวันนั้นอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
นอกจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำเข้ามาช่วยให้เห็นภาพเปรียบเทียบระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ยังมีการจำลองหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่ในช่วงเวลานั้น โดยแสดงให้เห็นว่านักศึกษาถูกกระทำจากสังคมได้อย่างโหดร้ายเพียงใด ดังคำที่ติดไว้ว่าถูกทำให้ “สูญสิ้นความเป็นคน” ได้เพียงใด
โดยมีการเล่าลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ว่าเกิดจากอะไรและสิ้นสุดได้อย่างไร ให้แก่ผู้มารับชมที่อาจยังไม่รู้ว่าวันนั้นเกิดอะไร ผู้ที่รู้แต่ต้องการมาเห็นภาพจริง รวมถึงผู้ที่อาจจะลืมเหตุการณ์ไม่ได้ แต่ก็จำไม่ลงเช่นกัน
อีกจุดสำคัญก็คือ มุมมองจากหน้าต่างของหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าในวันนั้นเรามองเห็นอะไรบ้าง ทั้งจากมุมที่มองออกไปนอกสนามหลวง ที่มีการเอาศพนักศึกษาไปแขวนคอและรุมทำร้าย จุดไฟเผา และมุมจากหน้าต่างมองไปยังสนามฟุตบอลและอาคารที่ถูกกราดยิงในวันนั้น
อีกสิ่งที่เป็นจุดเด่นของงาน คือการรวมสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันนั้น
ทั้งไดอารี่จากพ่อถึงลูกที่จากไป กางเกงยีนส์ของผู้เสียชีวิต
เสื้อนักเรียนของคุณจารุพงศ์ ทองสิน จนไปถึงลำโพงที่ถูกใช้กระจายเสียงของนักศึกษาที่เต็มไปด้วยรอยกระสุนปืน จากการระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เปรียบกับว่าการส่งเสียงอันบริสุทธิ์ของนักศึกษาถึงผู้มีอำนาจ เพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมในวันนั้น
กลับกลายเป็นคมกระสุนที่คร่าชีวิตพวกเขาและผองเพื่อน
ภาพจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป ตามช่วงเวลาและความใกล้ชิด อาจมีทั้งคนที่ไม่อยากจำ และคนที่ไม่อยากให้เหตุการณ์ในวันนั้นถูกลืม
การมีงานรำลึกและนิทรรศการในทุกๆ ปีนี้เอง ที่ช่วยทำให้คนรุ่นหลังไม่ลืมว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุรุนแรงขนาดนี้ในสถานศึกษาโดยที่ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเพียงนักศึกษาเท่านั้น
#แขวน #44ปี6ตุลา #6ตุลา
วิธีการเดินทาง
จาก bts สถานีสะพานตากสิน และเดินทางต่อมาโดยเรือด่วนเจ้าพระยา หรือจากสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วต่อรถเมล์ 509
สำหรับผู้ที่สนใจนั้น สามารถรับชม “แขวน” นิทรรศการ 44 ปี 6 ตุลา หลักฐาน + ข้อเท็จจริง + พื้นที่ + เทคโนโลยี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ณ โถงหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
Writer : ปวรปรัชญ์ จันทร์สุภาเสน
Photographer : ปวรปรัชญ์ จันทร์สุภาเสน
Model : เจนจิรา พวงคำ