เรื่องและภาพประกอบ : พรวิภา หิรัญพฤกษ์
.
เวียนมาเป็นปีที่ 51 แล้วหลังเยาวชนคน 14 ตุลาและประชาชนทั่วไป ได้เดินหน้าเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นเงื้อมมือของเผด็จการ โดยหลังจากนั้น 30 ปี สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เป็น‘วันประชาธิปไตย’ เพื่อจารึกไว้ว่าเราได้อัญเชิญประชาธิปไตยมาสถิตยังแดนขวานทองเรียบร้อยแล้ว แต่มันมาสถิตแล้วจริงๆ หรือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กันแน่
หากลองมองย้อนอดีตอันใกล้ เมื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่พรรคผู้ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดต้องสลับข้างกลับไปเป็นฝ่ายค้าน แทนที่จะได้เริ่มงานในฐานะรัฐบาลหน้าใหม่ที่ประชาชนไว้วางใจ
เช่นนี้แล้ว ระบอบการปกครองแบบไทยๆ แบบตามใจนี้ จะสามารถเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่
“เราอาจจะมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในระดับ 30-40 เปอร์เซ็นต์ คนทั่วไปจะรู้สึกว่าตัวเองมีเสรีภาพที่จะทำอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเสรีภาพเพื่อความเพลิดเพลิน เมื่อไหร่ที่คนแสดงออกซึ่งการพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง เราก็จะเห็นการใช้กระบวนการทางด้านตำรวจ การศาล กฎหมาย เข้ามาเล่นงาน” ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าว
อาจารย์ธำรงศักดิ์เรียกระบบการปกครองเช่นนี้ว่า ‘ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ใส่เสื้อคลุมประชาธิปไตย’ ที่ซ่อนกลไกการปกครองไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนโดยฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายธุรกิจ และกลุ่มผู้ปกครองเก่าที่พยายามจะยึดกุมอำนาจไว้ในมือ ซึ่งกลไกสถาบันทางการเมืองและระบบราชการนี้เป็นเหมือนลูกระนาดบนถนนที่คอยชะลอไม่ให้ประเทศไทยได้เดินทางไปถึงจุดมุ่งหมายได้ เพราะมันไม่ใช่เครื่องมือที่เอาไว้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างเช่น การเขียนกฎหมายไว้ให้ส.ว.เข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วซ้อนด้วยการเขียนกฎให้พวกพ้องของตัวเองได้เป็นส.ว.อีกที
หลังจาก พ.ศ.2516 มีการทำรัฐประหารมากถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2519 พ.ศ.2520 พ.ศ.2534 พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2557 หรือโดยเฉลี่ยแล้วคือทุกสิบปีจะมีการยึดอำนาจหนึ่งครั้ง ซึ่งสิ่งนี้เองได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของคนบางกลุ่มที่ต้องการจะรวบอำนาจไว้กับตนเอง แต่ถึงแม้ว่าจะมีการทำรัฐประหารมาหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับไม่สามารถต้อนประชาชนให้กลับเข้าไปอยู่ในคอกล้อมแห่งเผด็จการได้อยู่ดี นั่นก็เป็นเพราะว่าหลักคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนได้เปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อ 51 ปีก่อนแล้ว สถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยของไทยในตอนนี้ จึงเป็นการยื้อยุดฉุดอำนาจกัน ระหว่างประชาชนและกลุ่มเผด็จการใต้ผ้าประชาธิปไตย
.
คูหา ปากกา การเลือกตั้ง อาวุธเดียวของประชาชน
ผู้อ่านเคยได้ยินคำว่า ‘หนามยอก เอาหนามบ่ง’ กันหรือไม่ สำนวนที่หมายความถึง การแก้ไขหรือตอบโต้อะไรบางอย่างด้วยสิ่งเดียวกัน
ก้าวต่อไปของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็คล้ายว่าจะไม่ต่างกัน
เพราะเราจะต้องสู้กับผู้ออกแบบกลไก ด้วยกลไกที่พวกเขาเขียนขึ้นมาเอง
ทางออกสู่โลกประชาธิไตยที่อาจารย์ว่าไว้นั่นก็คือ ‘การเลือกตั้ง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมที่กลุ่มเผด็จการเขียนไว้หล่อเลี้ยงหัวใจประชาชน ว่าพวกเขายังมีสิทธิ์มีเสียงอยู่บนระบอบคล้ายความเป็นประชาธิปไตยนี้ ทว่าช่องว่างตรงนี้เองก็เป็นทางออกของเหล่าปวงประชา ที่จะสู้กลับด้วยการเลือก ‘ผู้แทนราษฎร’ ที่เขาไว้ใจ เข้าไปตรวจสอบ ขุดคุ้ยเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ใต้พรมและนำมาเปิดโปงจี้ใจกลุ่มเผด็จการในเวทีสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงการพยายามแก้กลไกที่ถูกบัญญัติไว้ด้วยวิธีที่ชอบธรรมและสันติ
แม้ว่าวิธีการนี้จะเป็นหนทางที่ไม่สามารถพลิกโฉมประชาธิปไตยไทยจากหลังมือเป็นหน้ามือได้เพียงข้ามวัน แต่มันจะเป็นเหมือนการเทน้ำใสใส่แก้วน้ำสี ที่ต้องใช้เวลาและปริมาณที่มากพอที่จะทำให้แก้วน้ำสีทั้งแก้วกลายเป็นน้ำใส
“ยิ่งเลือกตั้ง อำนาจก็จะยิ่งเป็นของประชาชน ยิ่งเลือกตั้ง พละกำลังของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้อย่างสันติวิธีก็จะยิ่งเพิ่มขั้น นี่คือพลังอำนาจของการเลือกตั้ง” อาจารย์กล่าว
นอกจากการเลือกตั้งแล้ว อาจารย์ได้เล่าถึงอีกสิ่งหนึ่งที่จะปิดประตูไม่ให้เผด็จการเรืองอำนาจ นั่นก็คือความตระหนักรู้ของประชาชน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความเป็นประชาธิปไตย แต่ผู้คนในตอนนี้ต่างมีความตื่นรู้ด้าน ‘สิทธิมนุษยชน’ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความเป็นประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังมีความกระตือรือร้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ทางใด ก็ในทางหนึ่ง
สุดท้ายนี้ผู้เขียนเชื่อว่าความหวงแหนในสิทธิมนุษยชนและใจฝักใฝ่ในความเปลี่ยนแปลงนี้เอง ที่จะเป็นจุดเหนี่ยวรั้งไม่ให้ใครมาพรากประชาธิปไตยไปจากพวกเขาอีกแล้ว
พวกเขาไม่ใช่คลื่นลูกใหม่ แต่เป็นสายน้ำใสที่ไหลมาอย่างไม่หยุดยั้งต่างหาก
อ้างอิง
ศูนย์วิทยบริการศาลยุติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ห้องสมุดศาลยุติธรรม. (14 ตุลาคม 2567). วันประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2567 เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567. https://library.coj.go.th/th/importanttoday/importanttoday-915.html