เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์
ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย
ชัยชนะของพรรคฝ่ายขวาในหลายประเทศทำให้เห็นการกลับมาของแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบัน ด้านประเทศไทยเองถึงแม้กลุ่มที่นิยามตนเองว่า ‘หัวก้าวหน้า (Progressive)’ ซึ่งเป็นแนวคิดการเมืองแบบฝั่งซ้ายจะเริ่มมีพื้นที่และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทว่าหากพิจารณาตามจุดประสงค์ของการเกิดกลุ่มแนวคิดนี้ ก็อาจยังไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจและความต้องการต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะหากประเทศไทยเต็มไปด้วยกลุ่มคนหัวก้าวหน้าจริงเราคงไม่ได้เห็นคนในสื่อสังคมออนไลน์ตบตีแย่งชิงวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน
“รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย
จะเกิดภาคไหนก็ไทยด้วยกัน
เชื้อสายประเพณีไม่มีกัดกั้น
เกิดใต้ธงไทยนั้นปวงชนทุกคนคือไทย”
เรามักโตมากับการปลูกฝังให้รักชาติ รักความเป็นไทย ภูมิใจกับวัฒนธรรมอันงดงามของเรา ทว่าเมื่อกลับมาตั้งคำถามกับนิยามของคำว่า ‘ไทย’ มันกลับไม่มีคำตอบที่แน่ชัดให้กับคำถามนี้เลย หากบรรพบุรุษเราเป็นคนจีน คนลาวหรือคนกัมพูชา เราคือคนไทยไหม? แล้ววัฒนธรรมไทยคืออะไรกันแน่?
หลายคนอาจเคยพบเห็นหนังสือปกสีขาวแดงเล่มหนาสุดโด่งดังอย่าง ‘Sapiens: A Brief History of Humankind’ ที่กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้เผ่าพันธุ์โฮโมเซเปียนส์อย่างเราๆ อยู่มาได้จนถึงปัจจุบันนั้นก็เพราะว่าเรามี ‘จินตนาการ’ กล่าวคือเราคิดค้นสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม ศาสนา บาป บุญ กฎหมาย รวมไปถึง ‘รัฐชาติ’ และ ‘เส้นเขตแดน’
เนื่องจากคำว่าชาติและเขตแดนเกิดขึ้นภายหลังการรวมตัวกันเป็นสังคมของมนุษย์ โดยหนังสือเรื่อง ‘เขตแดนสยามประเทศไทย-มาเลเซีย-พม่า-ลาว-กัมพูชา’ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ในปี 2554 กล่าวไว้ว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคก่อนนจะมีการกำหนดและการปักปันหลักเขตแดนที่แน่นอนตายตัว ก็รับรู้แต่เพียงว่าอำนาจศูนย์กลางของอาณาจักรนั้นๆ ครอบคลุมไปถึงอาณาบริเวณใดบ้าง นอกจากนี้ในหนังสือยังระบุอีกว่า อิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีจุดประสงค์คือการแสวงหาทรัพยากร ทำให้ผู้ปกครองในยุคนั้นๆ จึงจำเป็นต้องกำหนดเขตแดนและอำนาจเหนือทรัพยากรในแต่ละพื้นที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้า
ทั้งนี้บางครั้งการคิดค้นสิ่งที่เป็นนามธรรมเหล่านี้ก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะถึงแม้การคิดค้นคำว่าชาติจะช่วยสร้างความเป็นปึกแผ่น ความร่วมมือกันของกลุ่มคน เพื่อป้องกันการครอบงำและการแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจภายนอก ทว่าในขณะเดียวกันคำว่าชาติก็สร้าง ‘ความเป็นอื่น’ ให้คนหลายกลุ่ม อย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีการแย่งชิงวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาไม่ว่าจะเป็นเรื่องโขน มวย หรือกรณีล่าสุดอย่างชุดประจำชาติในการประกวด Miss Universe 2024 โดยอยากให้ลองนึกตามกันเล่นๆ ว่าถ้าเราไม่รู้จักคำว่าไทยและกัมพูชาหรือถ้าจิตใต้สำนึกไม่บอกว่าเราเป็นคนชาติไหน หลายคนก็คงจะเป็นแค่คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้เหมือนกัน มีวัฒนธรรมเหมือนกัน และเป็นมนุษย์เหมือนกัน จนชวนสงสัยว่าในเมื่อทั้งสองประเทศก็มีหลายๆ อย่างเหมือนกัน แล้วเราจะแย่งกันไปทำไมในเมื่อวัฒนธรรมพวกนี้ก็เป็นของทุกคนที่อยู่ในภูมิภาคนี้
หากพิจารณาจากหนังสือ ‘ชุมชนในจินตนาการ (Imagined Community)’ ของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ที่กล่าวว่าสภาพสังคมในแต่ละยุคสมัยก่อให้เกิดเป็นรัฐชาติ จึงเห็นได้ว่าการสร้างรัฐชาติและเขตแดนนั้นมีจุดประสงค์คือสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของผู้คน รักษาทรัพยากร และป้องกันการครอบงำจากอำนาจภายนอก ซึ่งหากอยู่ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เป็นสิ่งที่ประเทศเล็กๆ หลายประเทศควรทำเพื่อป้องกันการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก
ทว่าในปัจจุบันซึ่งเป็นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ดูจะมีปัญหาที่ไม่ใช่แค่การรุกรานจากต่างชาติเหมือนยุคต้นรัตนโกสินทร์ อย่างปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายประเทศกำลังเผชิญ อีกทั้งปัญหาเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยตรงและดูไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร จนเป็นเหตุให้เกิดการตั้งคำถามว่า
“ในขณะที่โลกกำลังจะแตกนั้น การสร้างสำนึกความเป็นชาติยังจำเป็นอยู่ไหม?”
บรรณานุกรม
- Harari, Yuval Noah. (2015). Sapiens : a Brief History of Humankind . New York: Harper Perennial.
- Anderson, B. (2016). Imagined communities. Verso Books.
- อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ธนศักดิ์ สายจำปา, ดุลยภาพ ปรีชารัชช, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, อัครพงษ์ ค่ำคูณ(2554). เขตแดนสยามประเทศไทย-มาเลเซีย-พม่า-ลาว-กัมพูชา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.